แด่ระบอบใหม่ : งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2481 ที่ในหลวงอานันท์เสด็จฯ/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

แด่ระบอบใหม่

: งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2481 ที่ในหลวงอานันท์เสด็จฯ

 

ด้วยเหตุที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายหลังการปฏิวัติ 2475 มีรัฐธรรมนูญเป็นองค์ประธานของระบอบอันเป็นบ่อเกิดสถาบันการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่แตกต่างไปจากการปกครองแบบเดิมที่ยึดถือตัวบุคคลเป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครอง

งานฉลองรัฐธรรมนูญที่เกิดหลังการปฏิวัติจึงเปลี่ยนขนบงานเฉลิมฉลองสมัยใหม่ ที่เริ่มจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เริ่มเกิดสำนึกทางเวลาอย่างใหม่ที่มิใช่การเวียนว่ายตายเกิดตามแบบโบราณ เช่น งานฉลองกรุงเทพฯ 100 ปี (2425) ในสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ และงานฉลองกรุงเทพฯ 150 ปี (2475) ในสมัยพระปกเกล้าฯ หรือการฉลองให้กับมหาบุรุษที่เป็นองค์ประธานของการปกครองตามคติในระบอบเก่าที่เชิดชูมหาบุรุษชนชั้นปกครองเป็นสำคัญ

แต่งานฉลองรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 นั้น หาได้เฉลิมฉลองมหาบุรุษตามแบบเดิม แต่เป็นการเฉลิมฉลองให้กับระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญหรือการมีกฎหมายเป็นใหญ่ในการปกครองแทนบุคคล

ด้วยเหตุนี้ รูปพานรัฐธรรมนูญจึงเป็นสัญลักษณ์ใหม่ทางการเมืองและกลายเป็นองค์ประธานของงานฉลองของระบอบประชาธิปไตยในครั้งนั้น

งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงเป็นมหกรรมความรื่นเริงของพลเมืองที่รัฐบาลถือโอกาสรายงานความคืบหน้าในการบริหารราชการแผ่นดินต่อเจ้าของประเทศผ่านหน่วยราชการต่างๆ ที่ออกร้านแสดงผลงาน

รวมทั้งบรรยากาศของงาน อาคารร้านค้าที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ที่เป็นบรรยากาศของความเท่าเทียมและเปี่ยมเสรีภาพที่พลเมืองทุกคนมาเที่ยวงานอย่างเสรีและสามารถยืนตัวตรงได้อย่างมั่นใจ แตกต่างไปจากงานพระราชพิธีในระบอบเก่า

ในหลวงอานันท์ เสด็จฯ เปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2481 ที่สโมสรคณะราษฎร สวนสราญรมย์ และสมุดกำหนดการ

ในปี 2481 รัฐบาลกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนคร พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จพระราชดำเนินกลับไทยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นับเป็นการเสด็จนิวัตครั้งแรก ทรงใช้เวลาอยู่ในไทยราว 2 เดือนจึงเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์

ด้วยโอกาสนี้ รัฐบาลจึงกราบบังคมทูลเชิญในหลวงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญวันแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่สวนสราญรมย์

หากท่านได้มาเที่ยวงานในวันนั้น ท่านจะพบในหลวงเสด็จเปิดงานที่หน้าอาคารสโมสรคณะราษฎร และทรงถีบรถสามล้อด้วยพระองค์เอง พร้อมพระพี่นางและพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงรถสามล้ออีกคันหนึ่งร่วมกันเสด็จทอดพระเนตรงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างเรียบง่าย ท่ามกลางการเฝ้าฯ ของประชาชนและร้านค้าในงานอย่างเนืองแน่น

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระราชกรณียกิจเสด็จร่วมงานรัฐพิธีดังปรากฏในสมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้นว่า วันที่ 11 ธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประเคนผ้าไตร จุดเครื่องเทียนนมัสการ และวันที่ 12 ทรงจุดเทียนนมัสการ ทรงโปรดให้พรามหณ์เบิกแว่นเทียนสมโภชพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ และรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ในหลวงอานันท์ เสด็จฯ ร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2481 ที่สวนสราญรมย์

การค้นหาความเป็นที่สุดของระบอบใหม่

ด้วยเหตุงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรื่นเริงของพลเมือง บรรยากาศและผู้คนที่มาเที่ยวงานที่ผ่านมาอย่างล้นหลาม ดังกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2481 บันทึกว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรำลึกอันสำคัญสำหรับชาติ จึ่งเป็นงานที่ประชาชนสนใจกันมาก และพากันไปชมงานกันอย่างล้นหลามทั้งกลางวันและกลางคืน” (กำหนดการ, 2481,15)

ซึ่งไม่แตกต่างไปจากบรรยากาศของงานในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ที่ปรีชา อินทรปาลิต บันทึกไว้ในพลนิกรกิมหงวน ว่า “ผู้เข้าร่วมล้วนแต่งกายสมสมัย มองไปทางไหนล้วนแล้วเพลินตาเจริญใจไปหมด” (ป.อินทรปาลิต, 2483)

ทั้งนี้ นับแต่รัฐบาลจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นมา มีกิจกรรมประกวดในด้านต่างๆ เพื่อค้นหาความเป็นที่สุดจากสามัญชนอันเป็นจุดกำเนิดแห่งความอารยะ จากเดิมกิจกรรมประกวดประขัน “การเล่น” ของชนชั้นสูงมีลักษณะเป็นคลับหรือสโมสรชั้นสูงมีลักษณะปิดหรือเข้าถึงได้ยาก การประกวดจึงอยู่ในวงแคบๆ แห่งชนชั้น เช่น การเล่นหนังสือของวรรณคดีสโมสร จิตรลดาสโมสร หรือการรวมกลุ่มความสนใจของโบราณคดีสโมสร ซึ่งเป็นการแสดงความสามารถทางปัญญาหรือการศึกษาที่เหนือกว่าให้ประจักษ์

แต่ในทางกลับกัน การประกวดในระบอบใหม่มีลักษณะเปิดรับความเป็นเลิศจากเบื้องล่าง หรือแสวงหาความเชี่ยวชาญความนิยมหรือทักษะจากสามัญชน ที่มีความเปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิเข้าประกวด ไม่สงวนเพียงเฉพาะชนชั้นเท่านั้น แต่มีลักษณะส่งเสริมการอาชีพของพลเมืองทั่วไปพร้อมร่วมกันพิทักษ์ระบอบการปกครองนี้ให้เจริญก้าวหน้า

บรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญ และห้างขายผ้ามัสกราติ มาออกร้าน ปี 2481 เครดิตภาพ : สวนป๋วย, Theodbooks

ทั้งนี้ การประกวดในช่วงต้นๆ ของงาน เช่น การประกวดเด็ก (2476) ประกวดเครื่องแต่งกาย (2476) ประกวดเสื้อผ้า (2476) ประกวดแต่งรถขบวนแห่รัฐธรรมนูญ (2476) ประกวดนางสาวสยาม (2477) ประกวดเต้นรำ (2477) ประกวดแต่งร้าน (2477) งานแสดงประณีตศิลปกรรม (2479) ประกวดหนังสือ (2479) ประกวดสมุด ในด้านพิมพ์ การเข้าเล่มสวยงาม ประกวดต้นฉบับที่เก่าแก่ สวยงามและมีความตั้งใจ

การประกวดใหม่ที่ท่านสามารถเข้าร่วมเพิ่มในปีนี้ (2841) คือ 1) ประกวดละคร รัฐบาลต้องการชักชวนให้โรงเรียนรัฐบาลราษฎร์ ประชาบาล คณะละครทั้งอาชีพ-สมัครเล่น มาเล่นละครให้ประชาชนเห็นความสำคัญของระบอบการปกครอง รวมทั้งแนะนำการพลเมืองการปฏิวัติตนของพลเมือง 2) การประกวดดอกไม้และผลไม้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพผลผลิตและฝีมือของเกษตรกร 3) ประกวดแบบผม 4) ประกวดแบบเสื้อ ทั้งชุดชุดราตรี ชุดเสื้อหายหาด ชุดกลางวัน ชุดเย็น รัฐบาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมตัดเสื้อกำลังแพร่หลาย รัฐบาลต้องการส่งเสริมอาชีพนี้ให้ขยายตัว 5) ประกวดตลาดนัด 6) ประกวดเทพีเกษตรกรรมและพันธุ์พืช

ที่ท้องสนามหลวง มีงานมหรสพให้ชมในช่วง 13.00-17.00 น. เช่น มีละครรำ หุ่นกระบอก ลิเก เพลง เสภารำ จำอวด งิ้ว ส่วนในยามค่ำระหว่าง 19.00-24.00 น. นั้น มีมหรสพเพิ่มคือ ละครร้อง ภาพยนตร์ 2 จอ และฟ้อนแบบเชียงใหม่ งานฉลองรัฐธรรมนูญมีกิจกรรมทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างสวยงาม ดังที่มีผู้เล่าไว้ว่า “เราได้เห็นสิ่งที่แปลกตาต่อสายตาปกติในเวลากลางวัน เราจะแลเห็นแสงไฟที่ถูกประดับประดาขึ้นอย่างสวยงามเป็นที่เจริญตา” (สงวน โภโต, 2480)

สตรีแต่งกายสมัยใหม่มาเที่ยวงานและร้านเช่าชมภาพยนตร์แบบถ้ำมอง ความสุขของเด็กสมัยนั้น เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร

นอกจากนี้ งานฉลองปีนี้ มีตลาดนัดที่ถนนมหาชัยหน้าสวนสราญรมย์ระหว่างวันที่ 9, 11, 13 ธันวาคม ระหว่าง 05.00-10.00 น. เพื่อส่งเสริมสินค้าไทย และมีกิจกรรมการประกวดสินค้าคุณภาพ การจัดร้านค้าได้ถูกหลักสุขาภิบาล และร้านสวยงาม ในตลาดมีพ่อค้าแม่ค้าขายผัก ผลไม้ ดอกไม้ ไม้ใบ พวงมาลัย ขนม เนื้อเป็ด ไก่ หมู โคแบบดิบและแบบปรุงสุกแล้ว รวมทั้งของใช้ต่างๆ ในครัว นอกจากนี้ มีการประกวดเทพีเกษตรกรรมและพันธุ์พืชในงานด้วย

การประกวดพันธุ์ข้าว พันธุ์สัตว์ต่างๆ เช่น หมู ปลา เป็ด ไก่ เพื่อส่งเสริมการเกษตร นักเรียนมัธยมที่เข้าชมงานในครั้งนั้น เขาเห็นว่าการส่งเสริมการเกษตรย่อมช่วยให้กิจการด้านอุตสาหกรรมของประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยย่อมส่งผลดีแก่การส่งเสริมเศรษฐกิจ (สงวน โภโต, 2480)

นอกจากนี้ รัฐบาลมีกุศโลบายสร้างพลเมืองให้แข็งแรงด้วยการจัดประกวดนางงาม เขาเห็นว่า เป็นการฝึกฝนให้พลเมืองรู้จักการดูแลสุขภาพร่างกายให้ถูกต้องตามหลักอนามัย โน้มน้าวให้สตรีสนใจการดูแลสุขภาพตนเอง เป็นพลเมืองของชาติที่สวยงามและมีความแข็งแรงประกอบกันด้วย (สงวน โภโต, 2480)

กล่าวโดยสรุป งานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2481 นั้นมีกิจกรรมที่ครึกครื้นมากขึ้น และที่สำคัญคือ ในหลวงอานันท์ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่และพระองค์แรกที่ทรงเถลิงราชย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ได้เสด็จร่วมงาน สะท้อนให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงยอมรับพระราชสถานะใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามครรลองประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

เหรียญประกวดตลาดนัด 2481
การประกวดเทพีเกษตรกรรมและพันธุ์พืช เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร