ความภาคภูมิใจของสมศักดิ์ เด่นชัย ถึงนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อสามัญชนพิทักษ์ประชาธิปไตย/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ความภาคภูมิใจของสมศักดิ์ เด่นชัย

ถึงนวมทอง ไพรวัลย์

เมื่อสามัญชนพิทักษ์ประชาธิปไตย

 

สมศักดิ์ เด่นชัย ตัวละครเอกของศรีบูรพากล่าวก่อนเสียชีวิตจากการพิทักษ์ประชาธิปไตยในการปรากบฏบวรเดช 2476 ว่า “ฉันไม่มีทรัพย์สมบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรที่จะเหลือไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกของเรา ฉันมีแต่เกียรติคุณความดีที่ฉันได้ทำในครั้งนี้ทิ้งไว้เป็นมรดก”

(ศรีบูรพา 2476)

 

ไม่แต่เพียงบทบาทของพลเมืองสามัญทั้งกรรมกรและประชาชนทั่วไปที่ทุกวันนี้เรียกพวกเขาว่า “รากหญ้า” เมื่อ 88 ปีที่แล้วนั้น พวกเขายอมพลีชีวิตเพื่อปกป้องประชาธิปไตยจากการคุกคามของกบฏบวรเดชเท่านั้น

แต่ยังปรากฏความกล้าหาญของสามัญชนจนถึงปัจจุบันดังกรณี นายนวมทอง ไพรวัลย์ ขับรถแท็กซี่ชนรถถังเพื่อประท้วงการทำรัฐประหาร 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่เขาจะผูกคอกับราวสะพานลอยบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ในที่สุด

ความยากลำบากในการรักษาประชาธิปไตยมิให้แปรเป็นอื่นนั้นจำต้องมีพลเมืองที่แข็งขัน ดังเห็นได้จากเมื่อครั้งนั้น ชาวพระนครหลากหลายอาชีพตื่นตัวมาชุมนุมกันช่วยเหลือรัฐบาล พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยจากกบฏบวรเดช

ผู้คนหลากหลายอาชีพต่างช่วยกันพิทักษ์ประชาธิปไตย เช่น กลุ่มกรรมกรในโรงช่างแสง กรรมกรโรงงานอากาศยาน กรรมกรโรงงานมักกะสัน กรรมกรเรือจ้าง กรรมกรของบริษัทปูนซีเมนต์สยาม กรรมกรรถยนต์รับจ้าง ล้วนแสดงความจำนงเข้าช่วยปราบกบฏด้วย

ดังเช่นบทบาทของสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามในช่วงนั้น พวกเขาต้องการอาสาสมัครไปประจำแนวหน้าเพื่อเข้าประจัญบานกับฝ่ายกบฏถึง 2 ครั้ง แต่รัฐบาลได้กล่าวตอบขอบใจในความกล้าหาญ และแจ้งว่า รัฐบาลยังคงมีกำลังทหารเพียงพอในการรับมือกับกบฏแล้ว แต่สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม อันมีนายถวัติ ฤทธิเดช เป็นนายกสมาคม ยังมอบหมายแบ่งภารกิจให้เหล่ากรรมกรอาสาสมัครปราบกบฏทำหน้าที่หาข่าวและดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนครแทนการไปรบที่แนวหน้า

ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ บันทึกความทรงจำถึงวีรกรรมของกรรมกรในครั้งนั้นว่า “เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดี หรือกรณีกบฏบวรเดชก็ดี กรรมกรรถรางก็ได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี…”

ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถราง ช่วยรัฐบาลปรากบฏบวรเดช

สําหรับพลเมืองสามัญ เช่น นายบุญเรือง จุลรักษา ชาวชัยภูมิ ส่งจดหมายขนาดยาวถึงพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี รายงานพฤติกรรมของข้าราชการ และพวกหัวเก่าที่ไม่น่าไว้วางใจในชัยภูมิว่า พระยากำธรพายัพทิศ เจ้าเมืองชัยภูมิ ผู้เป็นคนใกล้ชิดของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมถึงข้าราชการบางส่วนที่จังหวัดชัยภูมิได้เคยร่วมมือผลิตใบปลิวสนับสนุนพวกกบฏ และเขารายงานความรู้สึกของชาวโคราชมาว่า ชาวโคราชยังเชื่อมั่นในพระองค์เจ้าบวรเดชอยู่ ชาวบ้านยังเชื่อข่าวจากพวกบวรเดชว่า รัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์จริง เขาเล่าต่อไปว่า หลังเหตุการณ์สงบลง เขาเคยกลัดเข็มกลัดรัฐธรรมนูญเข้าในเมืองโคราชและเขาโดนคนโคราชแสดงความรังเกียจเขา

บุญเรืองแสดงความห่วงใยรัฐบาลว่า “คณะรัฐบาลควรระมัดระวังให้จงหนักในคณะเจ้าซึ่งรวมถึงคนของเจ้าด้วย” ความเด็ดเดี่ยวและอุทิศตนเองให้กับระบอบการปกครองที่หยิบยื่นสิทธิและเสรีภาพให้เขาเห็นได้จากเขาลงท้ายในจดหมายว่า

“เกล้าฯ เป็นเด็กหนุ่ม เป็นโสด และมีความจงรักภักดีต่อประเทศ จึงมิได้สะทกสะท้านและห่วงใยชีวิตตนเอง ตายเกิด ถ้าได้ตายเพื่อล้างเสี้ยนหนามของรัฐธรรมนูญและศัตรูของบ้านเมือง”

นวมทอง ไพรวัลย์ กับการต่อต้านการรัฐประหาร 2549 เครดิตภาพ – brighttv

นอกจากความตื่นตัวของพลเมืองในพระนครภายหลังทราบข่าวการก่อกบฏต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแล้ว ชาวสมุทรสาครชุมนุมพลเมืองอาสาสมัครขึ้น หรือแม้แต่พลเมืองบางคนขอลางานเพื่อเข้าร่วมการปราบกบฏ เช่น นายพร้อม ทัพประพนท์ เสมียนอำเภอพานทอง ชลบุรี ขอลาหยุดงาน 7 วัน เพื่อเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏ หรือนายเทียบ เวชปาณ ชาวชุมพร ผู้ขอสมัครเป็นทหารอาสาปราบกบฏ เป็นต้น

นอกจากให้การสนับสนุนการปกป้องระบอบประชาธิปไตยของพลเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครปราบกบฏแล้ว พวกเขายังบริจาคสิ่งของเครื่องใช้และเงินทุนให้แก่รัฐบาลเพื่ออำนวยการปราบกบฏด้วย เช่น เงิน อาหาร ผลไม้ ข้าวห่อ บุหรี่ นมข้นหวาน ขนมปัง เครื่องกระป๋อง ปลาเค็ม กล้วยหอม หนังสือรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งบริจาคกระดาษเพื่อห่อข้าวลำเลียงอาหารขึ้นไปแนวหน้าของสมรภูมิ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีคนมีชื่อเสียงและคนเล็กคนน้อยในการบริจาคสิ่งของต่างๆ ในพระนคร เช่น นายสะอาด กิจนิยม นายทองคำ ช้างบุญชู นางริ้ว แซ่ล้อ นางสัมฤทธิ์ เวชศาสตร์ นางถนอม นิติเวชช์ หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ประชาชนตำบล บ้านทวาย พระนคร ตันอี้หลง เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน นางลิ้นจี่ ชยากร นางสาวลออ ไชยสุต

คณะข้าราชการ นักเรียน และนางพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูและนักเรียนโรงเรียนลีนะสมิต ตำบลวัดช่างแสง พระนคร โรงพิมพ์ศรีกรุง คณะหนังสือพิมพ์หลักเมือง หนังสือพิมพ์อิสระของนาย ต. บุญเทียม สมาคมกรรมกรเดินรถแห่งสยาม สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม แม้กระทั่งนักโทษในแดน 2 เป็นต้น

สำหรับในต่างจังหวัด มีบุคคลและคณะบุคคล เช่น นายต่วน เป้าเพ็ชร และประชาชนตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง นครสวรรค์ ผู้แทนตำบลและประชาชนตำบลบางเมือง สมุทรปราการ นายเลี้ยง ทองไฮ้ ชาวบางบัวทอง นนทบุรี คณะกุลสตรีราชบุรีล่าง เด็กหญิงเจริญ จิตต์สุมัศ ครูและนักเรียนตำบลตะนาวศรี นนทบุรี สโมสรคณะราษฎรกาญจนบุรี

นอกจากนี้ รัฐบาลได้รับความช่วยเหลือจากโรงพิมพ์ศรีกรุง ไทยใหม่ ประชาชาติ หลักเมือง จัดพิมพ์ใบปลิว แถลงการณ์ ประกาศของรัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย

ประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมต้อนรับทหารหาญกลับจากปราบกบฏที่หัวลำโพง

จากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้ทำอิสริยาภรณ์พิเศษขึ้น คือ เข็มกลัดรัฐธรรมนูญและเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (2476) แจกจ่ายแก่พลเมือง ลูกเสือและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและพลเรือนเพื่อเป็นเกียรติแด่พลเมืองทุกคนที่ช่วยกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

ในสายตาของยาสุกิจิ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่นที่เห็นบทบาทพลเมืองที่แข็งขันในการพิทักษ์ประชาธิปไตยเมื่อ 88 ปีที่แล้วว่า “เมื่อเกิดการปฏิวัติเมื่อปีที่แล้ว (2475) จิตใจของประชาได้เปลี่ยนไปมากแล้ว”

ความตื่นตัวของพลเมืองในการต่อสู้ครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ “ศรีบูรพา” เขียนเรื่อง ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (2476) ซึ่งมีสมศักดิ์ ตัวละครเอกที่พลีชีพในการปราบกบฏบวรเดช เขากล่าวในวาระสุดท้ายของชีวิตกับภริยาว่า

“ฉันคงไม่ได้มีชีวิตเห็นหน้าลูกเสียแล้ว ยอดรัก แต่-ฤดีจ๋า ลูกของเราจะเปนหญิงหรือชายก็ตาม ขอเธอจงพร่ำสอนให้เขาเข้าใจซึมซาบว่า พ่อของเขาได้ตายไปในโอกาสที่ทำการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และถ้าเขาได้ประสบโอกาสเช่นพ่อของเขาแล้ว ฉันขอฝากคำขอร้องไว้ว่า ให้เขารีบฉวยโอกาสนั้นในทันที” (ศรีบูรพา 2476)

ความรู้สึกภูมิใจของสมศักดิ์ เด่นชัย ตัวละคร ผู้เป็นบุคลาธิษฐานอันเป็นตัวแทนพลเมืองทั้งหลายในครั้งนั้นคงไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของนวมทอง ไพรวัลย์ ก่อนที่เขาจะอัตวินิบาตกรรมเพื่อประท้วงการรัฐประหาร 2549 ที่พรากประชาธิปไตยไปจากสังคมไทยว่า

“สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก ลาก่อน พบกันชาติหน้า 29 ตุลาคม 2549”

ผู้แทนตำบล ติดเหรียญปราบกบฏและเข็มผู้แทนตำบลอย่างภูมิใจ และนายบุญเรือง จุลรักษา
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และประติมากรรมนูนต่ำรูปครอบครัวสามัญชนที่ฐานอนุสาวรีย์ปราบกบฏฯ