หนังสือ ‘วิชาการเมือง’ : ตำรากายวิภาคแห่งรัฐของหยุด แสงอุทัย/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

หนังสือ ‘วิชาการเมือง’

: ตำรากายวิภาคแห่งรัฐของหยุด แสงอุทัย

 

“ลัทธิประชาธิปไตยย่อมไม่อาจตั้งอยู่ยั่งยืนได้ หากพลเมืองไร้การศึกษาเป็นส่วนมาก”

(หยุด แสงอุทัย,2482)

 

การปฏิวัติ 2475 เปิดประตูแห่งโอกาสและการปลดปล่อยให้ราษฎรจำนวนมากที่เคยถูกพันธการจากสังคมที่ไม่เสมอภาคไปสู่สถานะใหม่ คือ พลเมืองเป็นเจ้าของประเทศ อันเป็นส่วนสำคัญของการเกิดขึ้นของรัฐประชาชาติ(Nation State)

ดังนั้น รูปกายแห่งรัฐประชาชาติตามระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่พลเมืองมีสิทธิเรียนรู้ในฐานะที่พวกเขาเป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการปกครอง สถาบันการเมืองใหม่ๆ จึงเปรียบประหนึ่งอวัยวะต่างๆ ที่ทำหน้าที่เพื่อประชาชนทั้งมวลที่เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของระบอบ

ดังเห็นได้จากสภาผู้แทนราษฎรตรากฎหมายและยกเลิกกฎหมายเก่าจำนวนมากให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย มีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับพลเมือง การจัดตั้งเทศบาล การยกเลิกความไม่เสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ตกค้างให้หมดไป เช่น การยกเลิกภาษีสมพัตรสร เลิกอากรนาเกลือ อากรสวน การจัดตั้งสำนักงานจัดหางานให้กรรมกร เป็นต้น

ภายหลังการปฏิวัติ รัฐบาลและสังคมส่งเสริมให้พลเมืองเรียนรู้การเมืองการปกครองแบบใหม่อย่างกว้างขวาง ดังหนังสือคู่มือพลเมือง (2479) บรรยายว่า

“ทุกวันนี้ ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญได้แสดงรับรู้สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวสยามไว้แจ้งชัด รัฐธรรมนูญทำลายเครื่องกีดขวางที่แบ่งชั้นระหว่างบุคคลเสียสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญให้ความเสมอภาค ให้เสรีภาพแก่บุคคลทุกคนโดยทั่วหน้ากัน รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้มีไพร่ มีข้า และมีบ่าว แต่ต้องการให้ทุกๆ คนเป็นพลเมืองโดยแท้จริง”

สําหรับ หยุด แสงอุทัย (2451-2522) ผู้เขียน “วิชาการเมือง” (2482) ออกจำหน่ายนั้น เขาจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยมโฆษิตสโมสร (2458) สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทย (2466) เมื่อได้เนติบัณฑิตแล้ว ไปเรียนต่อมัธยมจนจบที่อัสสัมชัญ (2469) เพื่อเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ต่อมาเขาศึกษาต่อที่เยอรมนี จบปริญญาเอกกฎหมายเยอรมัน (2479) จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน (Humboldt-Universit?t zu Berlin)

ในช่วงที่เขาใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ในเยอรมนีเป็นช่วงที่เรียกว่า สมัยไวมาร์ อันเป็นช่วงที่เยอรมนีปกครองแบบประชาธิปไตยกับช่วงรอยต่อที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กำลังเถลิงอำนาจเผด็จการ โดยช่วงเวลานั้น การศึกษานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยตกอยู่ภายใต้กระแสความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง (legal positivism) ย่อมมีผลต่อความคิดทางกฎหมายของเขาด้วยเช่นกัน

เมื่อหยุดกลับมาไทยแล้ว ในปี 2480 เขาเข้ารับราชการในคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี จนถึงได้รับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการร่างกฎหมายหลายชุด และเริ่มเป็นผู้บรรยายให้กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในรายวิชากฎหมายระหว่างประเทศคดีบุคคล ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2480

Humboldt-Universit?t zu Berlin ในช่วงทศวรรษ 1930

เขาเขียนหนังสือวิชาการเมือง 2 เล่มนี้ขึ้นตามแนวทางการศึกษากฎหมายตามแบบมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ในสาขากฎหมายมหาชน เขาเล่าว่านักศึกษากฎหมายในเยอรมนีทุกคนก่อนจะเรียนวิชารัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง จะต้องเรียนเรื่องสภาพและความคิดทั่วไปเกี่ยวกับรัฐ หรือเรียกกันว่าวิชาการเมืองเสียก่อน

สำหรับเนื้อหาในหนังสือนี้ หยุดบันทึกว่า เป็นตำราที่เขาเขียนตามระบอบประชาธิปไตยของเยอรมนีก่อนการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ และต่อมามีการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับการปกครองที่เกิดใหม่ในเยอรมนีช่วงเวลานั้น

ทั้งนี้ หนังสือวิชาการเมืองเล่มที่ 1 แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคความเบื้องต้น กับภาคว่าด้วยรัฐทั่วไปทางสังคม ในภาคความเบื้องต้นนั้นประกอบด้วย 3 บท คือ การวิเคราะห์ศัพท์ว่าด้วยรัฐทั่วไป การแบ่งแยกวิชาว่าด้วยรัฐทั่วไป และวิชาว่าด้วยรัฐทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

ส่วนในภาคว่าด้วยรัฐทั่วไปทางสังคมนั้น แบ่งเป็น 11 บท คือ วิเคราะห์ศัพท์คำว่ารัฐ อิทธิพลส่วนประกอบแห่งรัฐเหนือชีวิตแห่งรัฐ การเกิดและการดับสูญแห่งรัฐ สภาพแห่งรัฐ รัฐและชุมชน เหตุที่ทำให้รัฐเป็นสิ่งชอบธรรม จุดประสงค์ของรัฐ การที่รัฐดำรงชีวิตอยู่เรื่อยไป ประวัติศาสตร์แห่งทฤษฎีว่าด้วยรัฐ ความแปรผันแห่งความคิดเรื่องรัฐ ผู้ครองรัฐ และรัฐบาล สรุปความ

สำหรับวิชาการเมืองเล่มที่ 2 นั้น มี 18 บท ประกอบด้วย รัฐและกฎหมาย ส่วนประกอบของรัฐในแง่กฎหมาย การกระทำต่างๆ ของรัฐ รัฐธรรมนูญแห่งรัฐ รูปแห่งรัฐ การปกครองระบอบมีพระราชา การปกครองระบอบมหาชนรัฐ การเปรียบเทียบการปกครองระบอบต่างๆ แห่งรัฐสามัญ การปกครองระบอบเผด็จการ การปกครองของโซเวียตรัสเซีย การปกครองระบอบฟาสซิสต์ การปกครองระบอบเนชั่นแนลโซเชียลลิสต์ การปกครองระหว่างโซเวียตและเนชั่นแนลโซเชียลลิสต์ สภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง พรรคการเมือง สัมพันธรัฐ

และบทส่งท้าย

หากพิจารณาการวางเนื้อหาการเขียนของหยุดตามสำนักกฎหมายเยอรมนีนั้น เขาวางเนื้อหาในเล่มแรกเป็นการศึกษาข้อความคิดว่าด้วยรัฐในเชิงนามธรรม เป็นสังคมวิทยา เป็นเรื่องความคิดเกี่ยวกับรัฐที่ไม่ใช่กฎหมาย

ส่วนในเล่มสอง เป็นรัฐในเชิงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเป็นเรื่องรูปธรรม ที่เกี่ยวกับระบอบการปกครอง และสถาบันการเมือง

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาพรรณนาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรัฐหรือการบรรยายกายวิภาคทั่วไปของรัฐออกเป็นสองส่วนอันมีเนื้อหากว้างขวาง คือ ส่วนความคิดว่าด้วยรัฐ และส่วนรูปธรรมของรัฐทางกฎหมาย ดังเช่น เขาบรรยาย อภิปรายถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อุปนิสัยของพลเมืองมีผลต่อรัฐและรูปการปกครอง มีการอภิปรายกำเนิดรัฐจากหลายหลายมุมมอง รวมทั้งการอภิปรายอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจพระราชากับระบอบการปกครองไว้อย่างกว้างขวางมากในครั้งนั้น

ตลอดจนมีการนำเข้าความรู้ใหม่ๆ เข้าสู่สังคมไทย เช่น อำนาจก่อตั้งของประชาชน (pourvoir constituant) และอำนาจก่อตั้งสถาบันการเมือง (pouvoir constitue)

ถือได้ว่าหนังสือของเขามีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างยิ่ง

กล่าวได้ว่า หยุดแต่งตำราวิชาการเมืองที่มีคุณภาพสูงมาก มีการนำเสนอและอภิปรายความรู้อย่างกว้างขวาง ผู้เขียนสอดแทรกความคิดเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านได้คิดตลอดเวลา เขาย้ำว่า “หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายถึงหลักเกณฑ์และทฤษฎีให้ผู้อ่านเข้าใจเพื่อจะทำให้ผู้อ่านปลีกตัวออกจากหลักเกณฑ์และทฤษฎีซึ่งผู้อ่านได้ทราบแล้วและหวนกลับมามองในแง่ปฏิบัติบ้าง เราจะไม่รู้ทฤษฎีเสียเลยทีเดียวนั้นไม่ได้ เพราะอาจถูกเขาหลอกได้ง่าย แต่ถ้ารู้ทฤษฎีแล้วยังฝังติดอยู่กับทฤษฎีนั้นๆ อีก ก็ยังใช้ไม่ได้” (หยุด, 2482)

ในฐานะที่หยุดปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกฤษฎีกามายาวนาน ในสมัยรัฐบาลสมัยประชาธิปไตยยุคคณะราษฎรหลายชุด และเขาจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะนักกฎหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัฐบาลจอมพล ป. เขาเป็นผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็นทางวิชาการของตนและเป็นผู้ที่สนับสนุนให้นักศึกษากฎหมายมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง

ภายหลังจอมพล ป.ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2500 แล้ว เขาใช้ชีวิตในฐานะนักวิชาการในฐานะอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยมากกว่าการเป็นนักกฎหมายฝ่ายรัฐบาล

สำหรับในฐานะนักวิชาการนั้น เขาเขียนตำรากฎหมายไว้มากมาย เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป การศึกษาวิชากฎหมาย หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป คำอธิบายกฎหมายอาญา คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง เป็นต้น

เขาเป็นนักกฎหมายที่มีความคิดคล้อยไปทางชาตินิยม ดังที่สะท้อนจากข้อความที่เขาเคยบรรยายไว้ว่า “การที่ประเทศไทยพ้นจากการรุกรานจากคนต่างด้าวมาเป็นเวลานานทำให้เรารู้สึกสบายกันมาก ดูเหมือนเราจะไม่รักเพื่อนร่วมชาติเหมือนแต่ก่อน เพราะเป็นธรรมดาที่คนเราจะเห็นใจกันและกันเฉพาะในยามยาก… เราไม่ควรมารักกันใหม่ในเมื่อประเทศชาติของเราได้รับความคับขัน ซึ่งเป็นความรักที่เกิดจากอำนาจภายนอกบังคับ แต่เราควรรักกันเสียตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ความสามัคคีปรองดองก็คงจะเกิดขึ้นเอง จากชนหมู่น้อยไปสู่ชนหมู่ใหญ่”

สุดท้ายแล้ว หยุดคาดหวังถึงประโยชน์จากหนังสือวิชาการเมืองไว้ว่า “ถ้าหนังสือเล่มนี้ช่วยให้การเล่นการเมืองในประเทศของเราเป็นไปถูกต้องตามศีลธรรมและเพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติ แม้แต่เพียงเล็กน้อย ผู้เขียนก็จะรู้สึกยินดีเป็นอันมาก”

กล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้ของหยุดเป็นตำราที่บุกเบิกความรู้ว่าด้วยรัฐ อันมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางเปรียบเสมือนเขากำลังกำลังเผยและอภิปรายถึงกายวิภาคแห่งรัฐทั้งนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเคยเป็นวิชาการปกครองที่สงวนไว้สำหรับกลุ่มชนชั้นนำมาสู่การรับรู้สำหรับพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแจ่มแจ้งและกว้างขวางนั่นเอง