ขัตติยะผู้มีหัวใจให้ผู้ถูกกดขี่ : หม่อมเจ้าสกลวรรณากร /ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ขัตติยะผู้มีหัวใจให้ผู้ถูกกดขี่

: หม่อมเจ้าสกลวรรณากร

 

“ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของรัฐค่อนข้างสกปรกนั้น คือ รัฐนั้นแทนที่จะวางตัวเป็นกลาง เป็นผู้ให้ความคุ้มครองและเห็นอกเห็นใจราษฎรทั้งมวล รัฐกลับกลายเป็นมีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเครื่องมือของคนฝ่ายข้างน้อยและใช้ประโยชน์จากคนฝ่ายข้างมากเป็นเครื่องมือปอกลอกคนฝ่ายข้างมาก…”

(สกลวรรณากร, ปาฐกถาเรื่อง นักศึกษากับสังคม, 25-26)

 

เจ้าชายนักวิชาการ

หม่อมเจ้าสกลวรรณากร เจ้านายผู้มีหัวก้าวหน้า ทรงมีความรอบรู้และมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาปกครองและเศรษฐกิจ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาการคลัง (Public Finance) ให้แก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2465

นอกจากนี้ ไม่แต่เพียงท่านเคยแสดงปาฐกถาให้ความรู้ อาทิ การสาธารณสุข งานปกครอง ในสถานที่ต่างๆ อาทิ ที่ประชุมสมุหเทศาภิบาล สามัคยาจารย์สมาคม โรตารีคลับในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว ท่านยังได้รับเชิญให้ปาฐากถาในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนทางวิทยุกระจายเสียงอีกด้วย

ต่อมา รัฐบาลจึงได้มีมติแต่งตั้งท่านเป็นราชบัณฑิตสาขาปรัชญาอีกด้วย

ภายหลังการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) (2477) แล้ว มหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้ท่านเป็นศาสตราจารย์วิสามัญประจำมหาวิทยาลัย และทรงได้รับเชิญให้สอนในระดับชั้นปริญญาตรีและโทตั้งแต่แรกสถาปนา อาทิ กฎหมายการคลัง อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา เศรษฐศาสตร์พิสดาร กฎหมายอุตสาหกรรมและกฎหมายกรรมกร วิทยาการคลัง กฎหมายปกครองพิสดาร เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ ท่านยังแต่งตำรา เช่น กฎหมายการคลัง (2477) สากลเทศบาล (2478) วิทยาศาสตร์การคลัง (2491) และเทศบาลและสาธารณูปโภค (2496)

หม่อมเจ้าสกลฯ ในปัจฉิมวัย

ในช่วงทศวรรษ 2490 ในขณะที่ท่านทรงทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายให้ มธก.นั้น ท่านทรงเสนอแนวคิดที่สำคัญหลายประการที่สะท้อนถึงความเป็นนักปฏิรูปผ่านการสอน

เช่น ทรงเสนอให้เทศบาลจัดตั้งองค์การให้บริการสาธารณูปโภคด้วยการผสมผสาน “คติทางเศรษฐกิจแบบเก่า” ที่ยึดถือหลักเสรีนิยม และ “คติใหม่” ที่เน้นการวางแผนเข้าหากัน

บทบาทของรัฐบาลในการสร้างความเป็นธรรมให้สังคมด้วยการลงทุนในการพัฒนาพลเมืองผ่านการใช้จ่ายในการสาธารณสุขและการศึกษา

อีกทั้งทรงเสนอให้รัฐบาลเน้นรายจ่ายสาธารณะเพื่อบริการสังคม และให้รัฐบาลเพิ่มรายได้ด้วย “การเก็บภาษีจากคนชั้นหนึ่งและใช้จ่ายกับคนอีกชั้นหนึ่ง”

เช่น ภาษีมรดก มาเป็นเงินสำหรับจัดบริการสังคม การศึกษา การประกันสุขภาพและการประกันการว่างงาน ซึ่งความคิดของท่านมีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ท่านทรงสนอว่า ในอนาคตนโยบายทางการคลังของรัฐบาลจะ “ไม่แต่เพื่อบูรณะและคลี่คลายเศรษฐกิจของประเทศแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากต้องบูรณะและคลี่คลายความเป็นธรรมในสังคมด้วย มิฉะนั้นจะหวังให้มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างถาวรได้ยากในภาวะโลกสมัยปัจจุบัน” อีกด้วย

หนังสือปาฐกถาที่ตีพิมพ์ปาฐกถาเรื่อง นักศึกษากับสังคม

ปาฐกถา “นักศึกษากับสังคม”

เมื่อ มธก.เข้าสู่ช่วงเวลาผันผวนในช่วงทศวรรษ 2490 เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการรัฐประหาร 2490 ส่งผลให้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ

รวมถึงมีความพยายามของคณะรัฐประหาร 2490 ในการควบคุมมหาวิทยาลัยภายหลังการเกิดกบฏวังหลวง 2492

ท่ามกลางบรรยากาศความวุ่นวายข้างต้น ส่งผลให้บรรดานักศึกษาเริ่มมีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับแรงกดดันจากภายนอกและภายใน

ดังจะเห็นได้จากการตั้งสโมสรนักศึกษาหรือการรวมกลุ่มประท้วงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลต่อนักศึกษา

นอกจากนี้ นักศึกษาหัวก้าวหน้ายังจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490

อาทิ การจัดทำวารสารธรรมจักร (2493) ซึ่งเป็นวารสารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง การจัดปาฐกถาแนวสังคมนิยม (2493-2495) และการรณรงค์สันติภาพ (2495) เป็นต้น

ในปี 2493 นักศึกษาหัวก้าวหน้าจัดปาฐกถาในฤดูร้อนขึ้น โดยนายผิน บัวอ่อน หัวหน้าแผนกปาฐกถาและโต้วาทีของคณะกรรมการนักศึกษาเชิญปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงมาเป็นองค์ปาฐกหลายคน

หนึ่งในนั้นคือ หม่อมเจ้าสกลฯ

เมื่อต้นปี 2494 ท่านทรงรับเชิญและแสดงปาฐกถาเรื่อง

“นักศึกษากับสังคม”

ความตื่นตัวของนักศึกษา มธก.ช่วงกลางทศวรรษ 2490

ในช่วงเริ่มต้นปาฐกถา ท่านทรงกล่าวว่า ทรงพอใจในชื่อหัวข้อที่นักศึกษาตั้งมาเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนทรงกล่าวเผยความคิดทางการเมืองของท่านที่ทรงอำพรางมาตลอดพระชนม์ชีพต่อที่ประชุมว่า “ข้าพเจ้าขอประกาศโดยเปิดเผยว่า ข้าพเจ้าเป็นโซเชียลลิสต์ ซึ่งถ้าพูดเป็นภาษาไทยในสมัยนี้ก็เห็นจะเรียกว่า นักสังคมนิยม และข้าพเจ้าได้เป็นมาแล้วกว่า 40 ปี ตั้งแต่ได้สมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกของสมาคมเฟเบียน”

จากนั้น ท่านอธิบายแนวคิดและกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมเฟเบียนให้ที่ประชุมทราบ ต่อมาจึงได้ทรงกล่าวถึงวิวัฒนาการของสังคมตามแนวคิดสังคมนิยมและแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคมในประเทศต่างๆ ตลอดจนทรงวิเคราะห์ปัญหาของสังคมไทยว่า

“เรามีบางอย่างคล้ายกับฟิวดะลิสต์ เรามีเลก เรามีไพร่ มีนา เรามีศักดินา มีประเพณีต่างๆ …ประเพณีนิยม หลักอันนี้ยังครอบงำเราอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะเรียกว่า หลักชายกระเบน คือ การอ้างเอาประเพณีมาเที่ยวข่มคนอื่น… การที่พวกเลก พวกไพร่ถูกผูกติดอยู่กับที่ดินนั้น ไม่ใช่ล่ามโซ่ไว้จริงๆ หรอก เขาเอาประเพณีนี่แหละข่มไว้ ตัวประเพณีนี่แหละที่อาจฆ่าคนได้ถึงเจ็ดชั่วโครต…” (ปาฐกถาเรื่อง นักศึกษากับสังคม, 17-18)

ในการปาฐกถาครั้งนี้ ไม่แต่เพียงเท่านั้น ประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงแล้ว ยังมีเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ปรัชญา และวัฒนธรรมอีกด้วย ท่านทรงชี้ว่า อีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างสำคัญคือ ปัญหาเรื่องรัฐ ดังความว่า

“ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษาควรใคร่ครวญลักษณะของรัฐเท่าที่เป็นมาแล้วในประวัติศาสตร์ว่า ประวัติของรัฐงดงามตลอดมา หรือมีสกปรกอยู่บ้าง ข้าพเจ้าขอเสนอว่า รัฐได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมนุษย์เป็นอันมาก… คือ ทำหน้าที่เป็นตำรวจมาอย่างดี แต่มาสมัยนี้ มีปัญหานอกจากการคุ้มครองป้องกัน คือปัญหาเรื่องก่อสร้างความเจริญ ก่อสร้างความก้าวหน้าแห่งสังคม ปัญหานี้ เราอย่ามัวหลงเข้าใจว่า การคุ้มครองเพื่อความปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องเดียวกับการบำรุง ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของรัฐค่อนข้างสกปรกนั้น คือมีตัวอย่างอยู่บ่อยๆ ว่า รัฐนั้นแทนที่จะวางตัวเป็นกลาง เป็นผู้ให้ความคุ้มครองและเห็นอกเห็นใจราษฎรทั้งมวล รัฐกลับกลายเป็นมีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเครื่องมือของคนฝ่ายข้างน้อยและใช้ประโยชน์จากคนฝ่ายข้างมาก เป็นเครื่องมือปอกลอกคนฝ่ายข้างมาก…”

(ปาฐกถาเรื่อง นักศึกษากับสังคม, 25-26)

 

ช่วงท้ายของปาฐกถา ท่านอธิบายเกี่ยวกับ “สามัคคีธรรม” (Principle of Association) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวคิดสหชีพว่า สามัคคีธรรมเป็นหัวใจของระบบสังคมนิยม ซึ่งจากหลักของสมาคมเฟเบียนแล้ว หลักสามัคคีธรรมมีลักษณะใกล้เคียงกับการผลิตของของสังคม โดยการรวมทุนซึ่งประกอบด้วยทุนธรรมชาติและแรงงานในสังคม ตัวอย่างของการใช้หลักสามัคคีธรรม เช่น การจัดตั้งองค์การสาธารณะ (Public Corporation) โดยอาศัยทุนของรัฐหรือสังคมทำหน้าที่จัดสาธารณูปโภคให้กับสังคม

ท่านทรงกล่าวปิดท้ายการปาฐกถาครั้งนั้นว่า “ในการปาฐกถาวันนี้ ท่านผู้ใดจะเข้าใจว่า ข้าพเจ้ามีสีกระเดียดไปทางชมพูๆ หรือจะแดงหน่อยๆ ข้าพเจ้าก็ไม่น้อยใจเลย…” (ปาฐกถาเรื่อง นักศึกษากับสังคม, 32)

ในช่วงท้ายของพระชนม์ชีพ ภายหลังการรัฐประหาร 2490 แล้ว ท่านปลีกตัวไปเป็นเกษตรกรอยู่ที่จังหวัดชลบุรีอย่างเงียบๆ กระนั้นก็ดี พระองค์หาได้ทรงทิ้งความเป็นนักวิชาการ และผู้รอบรู้ไม่ แต่ท่านยังคงทรงอุทิศตนเป็นผู้บรรยายให้กับนักศึกษาปริญญาตรีและโทที่ มธก.เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้ไปร่วมรังสรรค์สังคมไทยที่พึงประสงค์ต่อไป

จวบกระทั่งทรงสิ้นชีพิตักษัยในปี 2496 ในหนังสือที่ระลึกงานพระศพของท่านบันทึกถึงลักษณะพระอุปนิสัยอุตสาหะและความมุ่งมั่นทางวิชาการของท่านอย่างน่าประทับใจว่า

“เมื่อท่านสิ้นพระชนม์ไปแล้ว กระดาษสอบไล่ชั้นปริญญาโทของนักศึกษา ยังใส่ซองกองพะเนินอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของท่าน ยังหาทันได้ตรวจเสร็จไม่”