ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (8) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ปลายทศวรรษ 2490 เป็นช่วงเวลาที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีโครงการปฏิสังขรณ์อดีตของเมืองเก่าอยุธยาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ พระราชวังเก่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม เจดีย์วัดสามปลื้ม วัดไชยวัฒนาราม วิหารพระมงคลบพิตร ฯลฯ

หนึ่งในโครงการใหญ่อีกชิ้นในช่วงดังกล่าว คือ การขุดลอกและปรับสภาพบึงพระรามเพื่อให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจ ในปี พ.ศ.2499 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษของจอมพล ป.

“บึงพระราม” เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่กลางเกาะเมืองอยุธยา คนทั่วไปเชื่อว่าบึงน้ำแห่งนี้คือ “หนองโสน” ในตำนานว่าด้วยการสถาปนาอยุธยาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากแผนที่อยุธยา พ.ศ.2450 มีการระบุชื่อแอ่งน้ำตรงนี้เอาไว้ว่า “บึงชีขัน”

มีการอธิบายว่าแอ่งน้ำนี้เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายสายรอบเกาะเมือง บางส่วนก็อธิบายว่าเกิดจากการขุดดินเพื่อนำไปสร้างวัดและวังในยุคต้นอยุธยาจนบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นแอ่งน้ำ

กลางบึงพระรามมีเกาะแก่งอยู่หลายแห่ง บนเกาะมีโบราณสถานตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งวัดชุมแสง วัดหลังคาขาว วัดหลังคาดำ วัดโพง วัดสังขปัตถ์ วัดนก วัดจันทร์ ตึกดิน และพระที่นั่งเย็น ส่วนโดยรอบขอบบึงก็รายล้อมด้วยโบราณสถานมากมาย เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดไตรตรึงษ์ วัดธรรมิกราช วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ

ไม่ว่าบึงพระรามจะใช่หนองโสนตามตำนานหรือไม่ก็ตาม ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ พื้นที่บริเวณนี้คือพื้นที่ใจกลางเมืองที่สำคัญที่สุดพื้นที่หนึ่งนับเนื่องมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา (หรืออาจเก่าแก่ไปกว่านั้น)

ดังนั้น การเข้าไปปรับสภาพบึงพระรามในสมัยจอมพล ป. จึงมีความสำคัญยิ่ง มิใช่เพียงแค่ต่อสภาพภูมิทัศน์โดยรวม แต่ยังส่งผลต่อความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของอยุธยาด้วย

แผนที่บริเวณบึงพระราม พ.ศ.2499 ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

จากแผนที่บริเวณบึงพระราม พ.ศ.2499 ที่จัดทำขึ้นโดยกองสำรวจ กรมชลประทาน พบว่ามีการขุดแต่งสภาพบึงพระรามให้มีลักษณะสวยงามในแบบสวนสาธารณะสมัยใหม่ บางส่วนขุดให้ลึกขึ้น บางส่วนถมดิน ปรับขอบบึงให้โค้งเว้าไปตามสภาพภูมิประเทศเพื่อให้เกิดภูมิทัศน์สวยงามน่ารื่นรมย์

ในส่วนเกาะต่างๆ ที่มีโบราณสถานตั้งอยู่ ก็ทำการปรับแต่งขอบและสภาพบนเกาะให้ดูสวยงาม ส่งเสริมโบราณสถานให้ดูโดดเด่น ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการสร้างสะพานเชื่อมเกาะต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสะดวกสำหรับประชาชนในการเดินเข้าชมโบราณสถานต่างๆ

การปรับสภาพบึงพระรามในครั้งนั้น ได้เปลี่ยนสภาพบึงพระราจากแอ่งน้ำธรรมชาติมาสู่สวนสาธารณะในลักษณะการออกแบบที่คล้ายคลึงสวนป่าอันร่มรื่นน่าเดินพักผ่อนตามพระราชวังในยุโรป หรือแม้แต่สวนในพระราชวังของไทยเอง เช่น สวนสุนันทาในพื้นที่บริเวณพระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา หรือสวนสราญรมย์ เป็นต้น

ที่น่าสังเกตคือ เกาะแก่งกลางสระน้ำตามพระราชวังทั้งหลายส่วนใหญ่มักมีการสร้างเป็นศาลา น้ำพุ ประติมากรรม หรือตั้งโขดหินสวยงามขนาดใหญ่เพื่อเป็นจุดหมายตาสำคัญ

แต่ในกรณีบึงพระรามจะแตกต่างไป คือใช้วัดร้างและโบราณสถานต่างๆ เป็นจุดหมายตาแทน ในลักษณะที่ชวนให้นึกถึงการออกแบบภูมิทัศน์ตามแนวทางแบบโรแมนติกในสมัยศตวรรษที่ 18 ที่นิยมนำโบราณสถาน (ทั้งที่สร้างใหม่และเป็นของเดิมแท้) มาเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการออกแบบสวน

ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือบังเอิญ ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างการออกแบบภูมิทัศน์สมัยใหม่ที่เน้นธรรมชาติอันสวยงาม (ทั้งของต้นไม้และเส้นโค้งไปมาของขอบสระน้ำ) กับวัดร้างและโบราณสถานเก่าแก่ของอยุธยาตามเกาะต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นจุดหมายตาเป็นระยะๆ

ลักษณะดังกล่าวมุ่งหวังที่จะทำให้ผู้มาเยี่ยมชมเกิดความรู้สึกประทับใจในภูมิทัศน์อันงดงามของโบราณสถานที่มีธรรมชาติเป็นฉากหลัง และช่วยหนุนเสริมหรือแม้กระทั่งประกอบสร้างความทรงจำอันยิ่งใหญ่ให้แก่อยุธยาโดยอ้อม

หากสิ่งที่ผมอธิบายถูกต้อง โครงการปรับสภาพบึงพระรามในครั้งนั้น คือโครงการปฏิสังขรณ์อดีตให้แก่อยุธยาครั้งสำคัญไม่แพ้การปฏิสังขรณ์วัดร้างหรือพระราชวังเก่าแต่อย่างใด

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในยุคสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ภูมิทัศน์ที่ถูกออกแบบและวางแผนเอาไว้อย่างสวยงาม ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาต่อไปมากเท่าที่ควร ทำให้สภาพโดยรอบบึงพระรามหลายส่วนมีลักษณะรกร้างและเสื่อมโทรม

 

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2499 อีกครั้ง โครงการดังกล่าว ได้มีการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่หลังหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกกันต่อมาจนปัจจุบันว่า “พระที่นั่งเย็น” โดยเป็นการก่อสร้างทับลงบนซากฐานอาคารโบราณในสมัยอยุธยาหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมขอบบึงพระราม บริเวณด้านหน้าวัดพระราม

ตัวอาคารสร้างขึ้นด้วยรูปแบบ “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันในทศวรรษ 2490 ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริง อาคารนี้ไม่ได้มีความสวยงามอะไรนัก

แต่ภายใต้ความไม่สวยงามนี้ กลับมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่น่าสนใจ

ในปี พ.ศ.2504 รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา โดยทางราชการได้ทำการจัดสถานที่สำหรับพักผ่อนเอาไว้ ณ พระที่นั่งเย็น โดยในครั้งนั้นมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยเมื่อมองเห็นว่าพระที่นั่งเย็นสร้างขึ้นทับโบราณสถาน จนนำมาสู่พระราชดำรัส ตอนหนึ่งว่า

“…การก่อสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…” (อ้างถึงใน บวรเวท รุ่งรุจี, “พระมหากรุณาธิคุณต่องานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ใน พระบารมีปกเกล้าชาวอยุธยา, หน้า 70.)

ข้อความข้างต้นเป็นหนึ่งในประโยคคลาสสิคที่มักได้รับการอ้างอิงถึงอยู่เสมอแทบทุกครั้งที่มีการพูดถึงประเด็นว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานของสังคมไทย

แต่น้อยคนที่จะทราบว่าประโยคข้างต้นมีที่มาจาก “พระที่นั่งเย็น” ริมบึงพระราม

 

พระราชดำรัสนี้ มีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ใน 2 ด้าน

ในด้านหนึ่ง เป็นการแสดงทัศนะที่สอดคล้องไปกับแนวโน้มใหม่ในการบูรณะโบราณสถาน ณ ขณะนั้น ที่แนวคิดว่าด้วยการเก็บสภาพเดิมแท้ของโบราณสถานเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเข้าไปแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น กำลังเริ่มกลายมาเป็นแนวคิดหลักของการอนุรักษ์ ทั้งของสังคมโลก และของสังคมไทย

ดังจะเห็นว่า การปฏิสังขรณ์เสมือนสร้างใหม่หรือสร้างทับซากโบราณสถานเดิม เช่นกรณีวังจันทรเกษม ในสมัยรัชกาลที่ 4, สร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท (ชั่วคราว) ทับลงบนฐานปราสาทเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 5, การสร้างวิหารพระมงคลบพิตรบนซากอาคารเดิม และพระที่นั่งเย็น ในสมัยจอมพล ป. ฯลฯ หลังจากนั้นไม่นาน จะกลายเป็นแนวทางที่ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง พระราชดำรัสนี้ย่อมสื่อความหมายโดยนัย ในลักษณะทรงตำหนิจอมพล ป. โดยตรง (ไม่พบบ่อยนักที่จะมีพระราชดำรัสในลักษณะนี้ในทางสาธารณะ) ซึ่งตรงนี้อาจสะท้อนให้เราเห็นถึงบรรยากาศความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลจอมพล ป. ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ในระหว่างการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ในการจัดงานคราวนั้น มีข่าวปรากฏว่าได้เกิดความความขัดแย้งกันขึ้น ทั้งจากกรณีการที่มิได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานด้วยพระองค์เอง, การนำเรือสุพรรณหงส์มาใช้ใน “ขบวนแห่พุทธพยุหยาตราและพุทธประทีปบูชา” ซึ่งเป็นการใช้นอกบริบทแบบประเพณี, ไปจนถึงการนิรโทษกรรมนักโทษที่เปลี่ยนแปลงไปจากจารีตประเพณีเดิม ฯลฯ (ดูประเด็นนี้เพิ่มใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “ความตึงเครียดระหว่างราชสำนักและรัฐบาล กับความขัดแย้งช่วงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2555)

ซึ่งดังที่กล่าวไปแล้วว่า โครงการก่อสร้างพระที่นั่งเย็นก็เป็นหนึ่งในโครงการฉลอง 25 พุทธศตวรรษในครั้งนั้นด้วย

ดังนั้น ความไม่สบายพระทัยที่มีต่อการสร้างพระที่นั่งเย็นทับลงบนโบราณสถาน จึงอาจมีเหตุผลส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงมาจากความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อ พ.ศ.2500 และนำมาซึ่งประโยคประวัติศาสตร์ดังกล่าวที่เรามักได้ยินอยู่เสมอเมื่อมีการพูดถึงการอนุรักษ์โบราณสถานในสังคมไทย