โบสถ์วัดโพธิ์รัชกาลที่ 1 ในบันทึกจอห์น ครอว์เฟิร์ด (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โบสถ์วัดโพธิ์รัชกาลที่ 1

ในบันทึกจอห์น ครอว์เฟิร์ด (1)

 

เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า โบสถ์วัดโพธิ์หลังปัจจุบันคือ งานสร้างใหม่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่เมื่อ พ.ศ.2377 โดยในครั้งนั้นได้มีการรื้อโบสถ์เดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ลง และสร้างใหม่โดยขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น

คำถามหนึ่งในวงวิชาการที่ผ่านมาคือ โบสถ์วัดโพธิ์เมื่อแรกสร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อราว พ.ศ.2331 นั้นมีรูปแบบหน้าตาอย่างไร

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยสันนิษฐานรูปแบบเอาไว้ในหนังสือ “ตำนานวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา” ว่า น่าจะเป็นรูปทรงแบบเดียวกับโบสถ์ที่วัดสระเกศ

ข้อสันนิษฐานนี้ เป็นที่ยอมรับและอ้างอิงเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามความเป็นจริงก็จะเห็นว่าข้อสันนิษฐานของพระองค์ มิได้แสดงหลักฐานประกอบแต่อย่างใด

ซึ่งทำให้คำถามดังกล่าว ในทัศนะผม ยังคงเป็นประเด็นที่สืบค้นต่อไปว่า แท้จริงแล้วโบสถ์หลังนี้ควรจะมีหน้าตาอย่างไร

ภาพโบสถ์ในบันทึก จอห์น ครอว์เฟิร์ด ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบสถ์วัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 1

ในเวลาต่อมา ผมได้มีโอกาสเขียนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และทำให้มีโอกาสอ่านทบทวนหลักฐานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง (ดูบทความชิ้นนี้ในหนังสือ “พระอุโบสถวัดโพธิ์” ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2562)

จากการอ่านสำรวจพบว่า หลักฐานร่วมสมัยตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างวัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ให้รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบโบสถ์เอาไว้ไม่มากนัก ชิ้นที่ให้รายละเอียดมากที่สุดก็คือ “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชชกาลที่ 1” ที่ติดตั้งอยู่ภายในพระวิหารทิศพระโลกนาถ มุขหลัง ความว่า

“…ให้จับการปัติสังขะระณะส้างโบสถ์ มีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุะล้อมรอบพื้นในกำแพงแก้ว…บันดาหลังคาโบสถ์พระวิหารพระระเบียงนั้นมุงกระเบื้องเคลือบศรีเขียวเหลืองทั้งสิ้น…พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้า น่าตักห้าศอกคืบสี่นิ้ว เชิญมาบุณะปติสังขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปนพระประธานในโบสถ์ บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวะปติมากร แลผนังอุโบสถเขียนเรื่องทศชาติ์ ทระมานท้าวมหาชมพู แลเทพชุมนุม…”

แม้จารึกจะมิได้บอกเลยว่าหน้าตาโบสถ์ภายนอกเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็ทำให้ทราบว่า ภายในโบสถ์เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทรมานท้าวมหาชมพู ทศชาติ และเทพชุมนุม โดยหลังคามุงกระเบื้องสีเขียวเหลือง และมีการทำกำแพงแก้วกรุกระเบื้องปรุล้อมรอบโบสถ์

หลักฐานอีกชิ้นที่ให้ภาพมากขึ้น ปรากฏในเอกสารสมัยหลังคือ “สำเนาจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 3” แต่งขึ้นในคราวทำการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2374 ที่ระบุว่า

“…กระทำปฏิสังขรณพระอารามรื้อพระอุโบศถเดิมขุดรากใหม่ใหญ่กว้างกว่าเก่า เพื่อจะให้จุภอพระสงฆอันมากขึ้น เอาที่ผนังเดิมเปนเสาชั้นในขยายผนังออกไปใหม่ถึงที่ซุ้มสิมาเดิม แลขุดรากเสารายพายนอกอีกชั้นหนึ่งถึงที่แนวกำแพงแก้วอันล้อมรอบนอกซุ้มสีมาเก่านั้น…”

ข้อความนี้ทำให้ทราบว่า แนวเสาร่วมในของโบสถ์ปัจจุบันคือ แนวผนังเดิมของโบสถ์สมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนแนวผนังโบสถ์ปัจจุบันคือ แนวตำแหน่งที่ตั้งของซุ้มเสมาในสมัยรัชกาลที่ 1 สุดท้ายคือ แนวเสาเฉลียงรอบโบสถ์ในปัจจุบันคือ แนวกำแพงแก้วเดิมที่ล้อมรอบโบสถ์สมัยรัชกาลที่ 1

แม้เอกสารฉบับนี้จะช่วยให้ระบุขนาดกว้างยาวได้ใกล้เคียงความเป็นจริง แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำให้ทราบถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้

ด้วยข้อจำกัดนี้เองที่ทำให้ประเด็นความสนใจที่จะศึกษารูปแบบโบสถ์วัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 1 ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาหยุดลงที่ตรงความเห็นของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ

หน้าปกบันทึก จอห์น ครอว์เฟิร์ด

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ผมได้มีโอกาสอ่านบันทึกของจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ข้าราชการอาณานิคมอังกฤษที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2365 ซึ่งทำให้พบว่า บันทึกชิ้นนี้ คือหลักฐานร่วมสมัยที่เป็นเสมือนกุญแจไขไปสู่การสันนิษฐานรูปแบบโบสถ์วัดโพธิ์เมื่อแรกสร้างได้เป็นอย่างดี

แม้ภารกิจหลักของครอว์เฟิร์ดกับราชสำนักสยามจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ช่วงเวลาราว 4 เดือนที่พำนักอยู่ในสยาม ครอว์เฟิร์ดได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับประเทศสยามเอาไว้มากมาย ซึ่งต่อมา (พ.ศ.2373) เขาได้นำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China

หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหลักฐานชั้นต้นสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญต่างๆ

บันทึกฉบับนี้เขียนขึ้นในลักษณะบันทึกประจำวัน ดังนั้น จึงมิได้มีการแบ่งหัวเรื่องหรือประเด็นต่างๆ ชัดเจนเหมือนหนังสือประเภทอื่น

เนื้อหาภายในเล่าสิ่งที่ครอว์เฟิร์ดทำแต่ละวันผสมปนเปกันไปทั้งที่เป็นงานราชการทางการทูต การเดินทางไปพบปะเจ้านายและข้าราชการฝ่ายสยาม การพบปะกับเจ้าหน้าที่กงสุลต่างๆ ที่ประจำอยู่ในสยาม รวมถึงการเดินทางไปเยี่ยมชมสภาพบ้านเมืองกรุงเทพฯ ในวันที่มิได้มีกิจธุระราชการ

สิ่งที่น่าสนใจคือ หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์แผนที่และภาพประกอบหลายภาพซึ่งให้รายละเอียดบ้านเมืองกรุงเทพฯ ยุคต้นรัตนโกสินทร์อย่างชัดเจน

ที่รู้จักกันดีในวงวิชาการก็คือ ภาพแผนที่กรุงเทพฯ ที่แม้ว่าจะมิได้เกิดจาการรังวัดสำรวจอย่างเป็นระบบก็ตาม แต่ก็แสดงลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 2 ที่ดีที่สุดที่หลักฐานจากแหล่งอื่นให้ไม่ได้

 

จากการอ่านบันทึกดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ครอว์ฟอร์ดเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทำให้พบว่า ครอว์เฟิร์ดได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดสำคัญๆ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์หลายวัด เช่น วัดโพธิ์, วัดสุทัศน์เทพวราราม, โบสถ์พรามณ์, วัดราชโอรส (ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง), วัดนาค (วัดพระยาทำ) และวัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทาราม) เป็นต้น

ในส่วนที่อธิบายถึงวัดโพธิ์ มีการบันทึกไว้เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2365 ซึ่งครอว์เฟิร์ดได้เล่าว่า ในวันนั้นมีโอกาสหลายชั่วโมงในช่วงเช้าเพื่อไปสำรวจวัดของชาวสยาม

โดยวัดที่ใหญ่ที่สุดที่ไปชมคือ “พระเชตุพน” (Prah-chet-tap-pon) โดยอธิบายชื่อวัดว่าหมายถึง “วัดของประชาชน” เพราะคนทุกคนไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาภายในวัดนี้ได้

ครอว์เฟิร์ดกล่าวต่อไปว่า การอธิบายรายละเอียดของวัดนี้เพียงแห่งเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะถ่ายทอดแนวคิดในการสร้างวัดของชาวสยามทั้งหมด

ดังนั้น เขาจึงสละหน้ากระดาษเป็นจำนวนมากในการบรรยายรายละเอียดของวัดโพธิ์ ซึ่งได้กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญต่อมา ในการทำความเข้าใจลักษณะทางกายภาพวัดโพธิ์ที่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1

 

เฉพาะส่วนที่พูดถึงโบสถ์ ครอว์เฟิร์ดอธิบายว่า

“…อาคารตรงกลาง (โบสถ์-ผู้เขียน) มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมด้านขนาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่ ผนังโบสถ์มีภาพวาดปิดทองที่แสดงเรื่องเล่าและตำนานต่างๆ แขวนอยู่ นอกจากนี้ ยังมีงานแกะสลักและงานประดับตกแต่งที่ทำได้ยากอีกมากมายอยู่ภายใน…”

ย่อหน้าต่อมา บันทึกว่า

“…รอบๆ โบสถ์ตรงกลาง บนลานระเบียง (พื้นที่ภายในกำแพงแก้ว-ผู้เขียน) คือชุดของเจดีย์ทรงปิรามิดขนาดเล็กตั้งเรียงรายกัน (ซุ้มเสมา-ผู้เขียน) โดยส่วนยอดของอาคารทำเป็นยอดแหลม (ทรงเจดีย์-ผู้เขียน) แต่ละอาคารมีแผ่นหินตั้งอยู่ภายใน (ใบเสมา-ผู้เขียน)…แผ่นหินเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวัดทุกวัด แต่กลับไม่มีใครสามารถบอกได้ถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของแผ่นหินเหล่านี้…”

ที่สำคัญที่สุดคือ ในบันทึกได้มีการตีพิมพ์ภาพลายเส้น (ภาพพิมพ์แกะไม้) งานสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในสมัยนั้นเอาไว้หลายภาพ

ภาพชุดนี้มีความพิเศษตรงที่การเก็บรายละเอียดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยรวมถึงสัดส่วนรูปทรงเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับภาพเขียนสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกเขียนขึ้นโดยชาวต่างชาติในยุคก่อนหน้านั้นซึ่งทั้งหมดมักถูกเขียนขึ้นอย่างผิดเพี้ยนทั้งในเชิงรูปแบบ สัดส่วน และองค์ประกอบ จนยากจะนำมาเป็นหลักฐานในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมได้

แต่ภาพพิมพ์แกะไม้ชุดนี้ในบันทึกของครอว์เฟิร์ดกลับตรงกันข้าม เพราะมีความแม่นยำในขั้นดีมาก (แม้ว่าจะมีความผิดพลาดในเชิงรายละเอียดอยู่บ้างก็ตาม) จนสามารถระบุได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมของวัดไหนและมีรูปแบบทางศิลปะอย่างไรบ้าง

ในจำนวนภาพพิมพ์แกะไม้ 7 ภาพ ที่บันทึกภาพสถาปัตยกรรมเอาไว้นั้น มี 2 ภาพที่น่าสนใจที่ผมวิเคราะห์ดูแล้วและอยากนำเสนอในที่นี้ว่า คือภาพของพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณในวัดโพธิ์ และโบสถ์วัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 1