State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

State-Led Gentrification

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (จบ)

 

Gentrification ในทัศนะของคนเป็นจำนวนมาก คือกระบวนการที่ทำให้เมืองดีขึ้น ทั้งในด้านกายภาพและเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้ที่พื้นที่ทำเลทองกลางเมืองเก่าเหล่านี้จะต้องถูกเปลี่ยนไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การที่รัฐเข้ามาหยอดสารตั้งต้นเพื่อเร่งปฏิกิริยา ในลักษณะ State-Led Gentrification จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แม้กระทั่งในกลุ่มคนที่มีความเห็นอกเห็นใจคนจนที่ต้องถูกบังคับให้ย้ายออกไปจากเมืองเก่า ก็มีไม่น้อยเลยที่มองว่าปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

มันคือธรรมชาติอันเป็นสัจธรรมของการพัฒนาย่านเมืองเก่าในโลกยุคปัจจุบัน

แต่ในความเป็นจริง เราไร้ทางเลือกจริงหรือ และเป็นไปไม่ได้เลยหรือ ที่เราจะเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นโดยปราศจากการ displacement

 

มีงานศึกษามากมายตั้งคำถามในลักษณะนี้และพยายามเสนอทางออก ซึ่งจากที่ตามอ่านข้อเสนอทั้งหลายมาพอสมควร ผมคิดว่ามีแนวทางบางอย่างที่น่าสนใจที่สามารถนำมาใช้กับย่านเมืองเก่าของบ้านเราได้

ประการแรก คือ การรณรงค์และผลักดันให้เกิดการกำหนดโซนนิ่งที่มีการควบคุมระดับราคาที่ดินและที่พักอาศัยในย่านเมืองเก่าไม่ให้สูงจนเกินไปในบางพื้นที่ เพื่อให้ชนชั้นแรงงานและคนจนเมืองสามารถที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายในการเช่าได้ พร้อมทั้งการห้ามการก่อสร้างที่พักอาศัยหรือโครงการขนาดใหญ่ที่ตอบสนองต่อ “ชนชั้นสร้างสรรค์” ในบางพื้นที่ของย่านเก่า

ขอย้ำว่า มิใช่การห้ามในทุกพื้นที่ของย่านนะครับ เพราะชนชั้นสร้างสรรค์ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาย่านเก่าเช่นกัน

แต่การปล่อยให้แทบทุกซอกมุมของย่านเก่าเปลี่ยนไปเพื่อรองรับแต่ชนชั้นสร้างสรรค์ตามที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นหายนะเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การกำหนดย่านเก่าให้มีความหลากหลายของผู้คน ชนชั้น ไลฟ์สไตล์ และวัฒนธรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมาตรการในเชิงการกำหนดโซนนิ่งจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

 

ประการที่สอง สำหรับเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม (ตามข้อแรก) ย่อมเกิดความไม่พอใจอย่างมากแน่นอน

ดังนั้น รัฐจำเป็นที่จะต้องสร้างมาตรการชดเชยการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากนโยบายดังกล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลไกทางภาษีมาเป็นตัวแลกเปลี่ยน

หรือให้สิทธิประโยชน์บางอย่าง ซึ่งจะเป็นอะไรบ้างนั้น ในแต่ละย่านมีบริบทและเงื่อนไขที่ต่างกัน ต้องดูเฉพาะเป็นกรณีไป

 

ประการที่สาม กระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชนชั้นแรงงานและคนจนเมืองให้สามารถเกิดขึ้นได้

ซึ่งในกรณีนี้ หากนำมาใช้ในย่านเมืองเก่าของไทย ผมคิดว่าสิ่งที่จะกระตุ้นได้ดีที่สุดคือ การตัดสินใจย้ายสถานที่ราชการขนาดใหญ่บางแห่งกลับเข้ามาในย่านเมืองเก่าอีกครั้ง

เพื่อให้คนทำงานในหน่วยงานเหล่านั้นเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้เกิดขึ้น ผ่านการใช้สอยต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

 

ประการที่สี่ ปรับโครงสร้าง “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า” ที่มีหน้าที่ดูแลเมืองเก่าเกือบทั่วประเทศ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การลดขนาดคณะกรรมการฯ ลงให้กระชับและทำงานเชิงรุกมากขึ้น

ปัจจุบันโครงสร้างคณะกรรมการฯ มีแต่ข้าราชการ (ที่ถูกมอบหมายมาตามตำแหน่งโดยที่ไม่ได้สนใจในประเด็นนี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด) และผู้เชี่ยวชาญในลักษณะ technocrat ทางด้านผังเมืองและการอนุรักษ์ที่แม้จะมีความรู้ทางด้านนี้มาก แต่ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในพื้นที่

ที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สังกัดอยู่ในชนชั้นสร้างสรรค์ทั้งสิ้น ดังนั้นในหลายกรณี ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จึงขาดมุมมองของประชนชนและชุมชน จนทำให้การออกนโยบายตอบสนองรสนิยมของชนชั้นตนเองโดยไม่รู้ตัว ขาดความหลากหลาย และรอบคอบสำหรับคนทุกคน

การเพิ่มตัวแทนจากประชาชนหลากหลายชนชั้นและวิถีชีวิต รวมถึงตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา (ซึ่งปัจจุบันไม่มีเลย) เข้าไปในโครงสร้างคณะกรรมการฯ คือหัวใจสำคัญที่ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การออกนโยบายใดๆ ต่อจากนี้มีการยึดโยงกับประชาชนให้มากขึ้น

ที่สำคัญคือ ควรเปลี่ยนประธานคณะกรรมการฯ จากรองนายกรัฐมนตรี (ซึ่งที่ผ่านมาแทบจะเป็นบุคคลที่ไม่มีความรู้และมิได้สนใจในประเด็นเรื่องเมืองเก่าเลย) มาเป็นคนที่สนใจและเข้าใจในการอนุรักษ์และพัฒนาย่านเก่าอย่างแท้จริงแทน

 

ประการที่ห้า “ชนชั้นสร้างสรรค์” ในฐานะเครื่องมือที่สำคัญของรัฐ (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ในการสร้างโครงการที่มีลักษณะ State-Led Gentrification จำเป็นต้องทบทวนตัวเองครั้งใหญ่ และตระหนักถึงพลังอำนาจและความอันตรายของวิถีชีวิตของตนเองที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผลักไสชนชั้นแรงงานและคนจนเมืองออกจากย่านเก่า

ชนชั้นสร้างสรรค์ไทยต้องตื่นจากมายาคติที่ครอบงำตัวเองมาอย่างยาวนานเสียทีว่า สวนสาธารณะ เลนจักรยาน ห้างสรรพสินค้าหรูหรา ร้านกาแฟฮิปๆ ทางเดินริมแม่น้ำที่เต็มไปด้วยต้นไม้สวยงาม ฯลฯ คือคำตอบสากลของการพัฒนาเมือง

ต้องมองว่า ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นรสนิยมในการใช้ชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความต้องการอันเป็นสัจธรรมของมนุษย์ทุกคน

ผมขอยกตัวอย่างเพียงอันเดียว คือ สวนสาธารณะ

จากสถิติที่มีการศึกษาไว้ สังคมไทยมีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชาชากรน้อยกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นความจริงนะครับ ไม่ปฏิเสธ

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ด้วยข้อมูลดังกล่าวทำให้แทบทุกโครงการของการพัฒนาเมืองจะต้องมีสวนสาธารณะมากบ้างน้อยบ้างเป็นคำตอบหนึ่งเสมอ

จนสวนสาธารณะในสังคมไทยมีสถานะเป็นดั่งยาสามัญประจำบ้านของการพัฒนาเมืองไปเสียแล้ว

ซึ่งผมอยากจะบอกว่ามันไม่ถูกต้องเสมอไปนะครับ เพราะสวนสาธารณะในหลายกรณี คือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิด Gentrification ที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ displacement ตามมา

Dr. Jeremy N?meth ศาสตราจารย์ด้านการวางแผนภาคและเมืองของ the University of Colorado Denver และ Dr. Alessandro Rigolon แห่ง University of Illinois Urbana-Champaign ได้ทำการศึกษาในประเด็นนี้ โดยทำการเก็บข้อมูลสวนสาธารณะต่างๆ ที่สร้างขึ้นระหว่างปี 2000-2015 ในเมืองต่างๆ 10 เมืองของสหรัฐอเมริกา

ผลการวิจัยพบว่า สวนสาธารณะในบางเงื่อนไข โดยเฉพาะสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นเป็นแนวยาว ใกล้กับย่านกลางเมือง และล้อมรอบไปด้วยโครงข่ายการคมนาคมหลากหลายรูปแบบนั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมือง กลับทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา Gentrification และ displacement ให้เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญแทน (ดูใน Alessandro Rigolon and Jeremy N?meth, “Green gentrification or ‘just green enough’ : Do park location, size and function affect whether a place gentrifies or not?,” Urban Studies 57, 2 (2020): 402-420.)

ข้อมูลนี้ แม้จะเกิดในสังคมอเมริกันที่ต่างมากจากไทย แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เรามองเห็นความจริงว่า สวนสาธารณะไม่ใช่ทุกอย่างของการพัฒนาเมือง และตัวมันก็ไม่ได้ให้ประโยชน์กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

หากชนชั้นสร้างสรรค์ไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสถาปนิกและนักผังเมือง สามารถตระหนักถึงความจริงข้อนี้ได้บ้าง และเริ่มมองหารูปแบบของพื้นที่ชนิดอื่นที่เป็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มอื่นดู เริ่มเป็นกระบอกเสียงให้กับชนชั้นอื่นดูบ้าง การพัฒนาย่านเก่าก็จะเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและเป็นธรรมมากขึ้นไม่มากก็น้อย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้สำเร็จนะครับ

โดย 4 ข้อแรกจะเกิดขึ้นได้ หน่วยงานภาครัฐต้องตระหนักถึงปัญหาของ Gentrification และ displacement ว่าเป็นสิ่งที่ทำลายความเป็นเมืองที่แท้จริง และต้องเปลี่ยนตัวเองจากพวกที่ชอบสร้างเงื่อนไขให้เกิด Gentrification มาเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น buffer ป้องกันการเกิด Gentrification แทน

ในขณะที่ข้อ 5 ก็ยากเช่นกันที่จะทำให้ชนชั้นสร้างสรรค์ไทยมองเห็นว่าไลฟ์สไตล์ของตนเองนั้น หากปล่อยให้ครอบครองพื้นที่เนื้อเมืองมากจนเกินไปอย่างปราศจากการควบคุมก็จะกลายเป็นตัวการสำคัญในการทำลายความเป็นเมืองเสียเอง

จุดเริ่มต้นที่อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจต้องคาดหวังให้ชนชั้นแรงงานและคนจนเมืองทั้งหลายที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำจากการพัฒนาเมืองอันโหดร้ายและไร้ความเป็นธรรมเช่นนี้ รวมตัวกันออกมาส่งเสียงของตนเองในพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ออกมาพูดถึงวิถีชีวิตของตนเอง ไลฟ์สไตล์ในแบบของตนเอง พื้นที่พักผ่อนในแบบที่ตนเองชอบ กิจกรรมยามว่างในแบบที่ตัวเองเป็น ฯลฯ

ทั้งหมด เพื่อยืนยันให้รัฐและชนชั้นสร้างสรรค์มองเห็นถึงวิถีชีวิตที่แตกต่าง และความต้องการสร้างเมืองในรูปแบบอื่นเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มตน ซึ่งไม่ต่างกันเลยกับเวลาที่ชนชั้นสร้างสรรค์ต้องการสร้างสวนสาธารณะ เลนจักรยาน และทางเดินริมน้ำ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

หาก “เสียง” เหล่านั้นสามารถถูกทำให้ดังขึ้นอย่างมีพลังได้จริง ผมเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหาปรากฏการณ์ State-Led Gentrification