State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

State-Led Gentrification

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (2)

 

ย่านเก่าแห่งแรกที่ได้รับผลกระทบจาก State-Led Gentrification ที่ชัดเจนที่สุด และควรถูกพูดถึงเป็นกรณีแรกคือ “ย่านบางลำพู” ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิชาการไม่น้อยนะครับที่มองเห็นปรากฏการณ์ Gentrification ในพื้นที่ แต่การอธิบายส่วนใหญ่กลับละเลยบทบาทของรัฐที่เข้ามาเป็นตัวละครสำคัญต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว

จะเข้าใจประเด็นนี้ เราต้องย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ของย่านบางลำพูเมื่อ 40 ปีก่อน

ก่อน พ.ศ.2520 หรือพูดให้ชัดก็คือ ก่อนการเกิดขึ้นของ “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” บางลำพูคือย่านเศรษฐกิจสำคัญที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 เป็นย่านทันสมัยไม่แพ้วังบูรพา ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 2520 จนกลายเป็นแหล่งเสื้อผ้าและชุดนักเรียน ร้านอาหาร ตลอดจนห้างสรรพสินค้าทั้ง แก้วฟ้า ตั้งฮั่วเส็ง และตามมาด้วย New World เมื่อ พ.ศ.2526

เศรษฐกิจในย่านถูกเกื้อหนุนเป็นอย่างดีจากการที่ตัวย่านถูกรายล้อมด้วยศูนย์ราชการสำคัญและสถานศึกษามากมาย

ย่านบางลำพูคึกคัก หนาแน่นไปด้วยผู้คนร่วมถึงกิจกรรม และมีทิศทางการพัฒนาเมืองในแบบสมัยใหม่อย่างเต็มที่

ซึ่งแน่นอนย่อมนำมาซึ่งปัญหาการจารจร มลพิษ และสิ่งปลูกสร้างที่ทำลายภูมิทัศน์โบราณสถาน เพราะขาดการวางแผนที่เหมาะสม

ด้วยปัญหาดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในย่านบางลำพูแต่ในทุกพื้นที่เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทำให้ภาครัฐวิตกกังวล จนนำมาซึ่งการจัตตั้ง “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” ขึ้น โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนงานในการอนุรักษ์และพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้มูลเหตุในการจัดตั้งคณะกรรมการเป็นสิ่งดีที่น่ายกย่อง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แนวความคิดหลักของคณะกรรมการกลับตั้งอยู่บนทัศนะที่มองเห็นแต่ปัญหาทางกายภาพ โดยมองว่าเมืองเก่ารัตนโกสินทร์กำลังถูกคุกคามจากการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่จนเมืองเสื่อมโทรมและป่วยไข้ และต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

ซึ่งแนวทางการรักษาก็น่าผิดหวังมาก คือเลือกที่จะลดความแออัดของย่านเมืองเก่าลง โดยย้ายสถานที่ราชการออกจากพื้นที่, เปิดพื้นที่ทำสวน, บูรณะโบราณสถาน, ควบคุมภูมิทัศน์ทางสายตาที่ตามมาด้วยกฎหมายควบคุมความสูงอาคารใหม่ต้องไม่เกิน 16 เมตร ฯลฯ

ไอเดียทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานคิดที่ต้องการหยุดเวลาในอดีตของเมืองเก่าและกายภาพของตึกเก่าเอาไว้ มากกว่าการมองว่าเมืองเก่ามีพลวัตและมีชีวิต ดังนั้น นโยบายและแผนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงมุ่งแต่รักษาเมืองเก่าทางกายภาพมากกว่าจิตวิญญาณ

ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นการทำร้ายและทำลายชีวิตของย่านเก่ามากกว่าการอนุรักษ์ ซึ่งบางลำพูคือหนึ่งในพื้นที่ที่ตกเป็นเหยื่อของแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน

การย้ายออกของสถานที่ราชการต่างๆ ในย่าน การจำกัดความสูงของอาคาร และเงื่อนไขมากมายในการสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่ ทั้งหมดทำให้ปริมาณการไหลเวียนของผู้คนในย่านบางลำพูลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับฐานล่างของชุมชนมหาศาล

สิ่งที่เป็นตลกร้ายก็คือ ภายใต้นโยบายย้ายคนออกจากย่านเก่า รัฐกลับสนับสนุนการเข้ามาในพื้นที่ของนักท่องเที่ยว บางลำพูเริ่มเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินไปสู่รูปแบบใหม่ การเกิดขึ้นของย่านที่พักคนต่างชาติบนถนนข้าวสาร ร้านค้าขายของที่ระลึก ไปจนถึงการขยายตัวของผับบาร์ในพื้นที่

เราจะพบว่า เพียงราว 10 ปีแรกของคณะกรรมการกรุงฯ ที่เริ่มทยอยย้ายสถานที่ราชการ ทุบตึกทำสวน และไล่ชุมชนทำสวนนั้น ได้เกิดสโลแกนส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท.ครั้งแรกในชื่อ Visit Thailand ในราว พ.ศ.2530 ที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นคำที่เราคุ้นเคยกันคือ Amazing Thailand กิจกรรม “สงกรานต์ ถนนข้าวสาร” ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ในราว พ.ศ.2533

คนหน้าใหม่จากนอกพื้นที่ย้ายเข้ามาเปิดธุรกิจทั้งระดับกลางและระดับย่อยที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

และนับจากนั้น คำว่า “ถนนข้าวสาร” ในฐานะย่านที่พักและสถานบันเทิงสำหรับชาวต่างชาติ ก็ค่อยๆ ยกระดับตัวเองจนกลายเป็นแลนด์มารค์ระดับโลกที่เข้าแทนที่คำว่า “บางลำพู”

 

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2540 ทั้งหมดจะยิ่งเห็นชัด ผลจากแผนอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และการเน้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ที่แม้จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโต แต่ก็เป็นเพียงเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยวส่วนในแง่ของเศรษฐกิจระดับฐานรากที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนและหน่วยราชการที่ต้องย้ายออกไปกลับหดตัว

ในขณะที่ชุมชนและย่านเงียบลง แต่ถนนข้าวสารกลับคึกคักแทนจากการพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวซึ่งถูกเร่งปฏิกิริยาผ่านนโยบายของรัฐที่หนักหน่วงมากขึ้น พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวขยายตัวกระจายไปยังถนนรามบุตรี ข้างวัดชนะสงคราม ลามมาจนถึงถนนพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ และลึกเข้าไปถึงตอนในของย่านมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน (ก่อนที่โควิดจะเข้ามาพังทลายทุกอย่างลงอย่างสิ้นเชิง)

ปรากฏการณ์นี้ในย่านบางลำพูมีนักวิชาการอธิบายไว้มากแล้วว่ามันคือ Gentrification หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นก็คือ Tourism Gentrification

แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นไปมากกว่านั้นก็คือ เราไม่อาจมองมันในรูปแบบของ Tourism Gentrification ตามมาตรฐานได้ แต่ต้องมองมันให้ทะลุไปจนถึงกระบวนการที่แท้จริงที่ผลักให้สิ่งนี้เกิดขึ้น นั่นก็คือ State-Led Gentrification

 

หน่วยงานรัฐที่ต้องรับผิดชอบอย่างสำคัญต่อสิ่งนี้ ในทัศนะผม ไม่ใช่ ททท. (ที่มักตกเป็นจำเลยเสมอเมื่อพูดถึงการพัฒนาที่เน้นแต่การท่องเที่ยว) นะครับ แต่คือ คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ปัจจุบันคือ คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า

ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการกรุงฯ คือสารตั้งต้นของปรากฏการณ์นี้

ทั้งแนวคิด นโยบาย แผนแม่บท ตลอดจนแนวพิจารณาที่ปรากฏในโครงการต่างๆ ในพื้นที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ล้วนนำไปสู่ “การถูกบังคับย้ายออก” (displacement) ของผู้คนจากย่านบางลำพู และย่านเก่าอื่นๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ในระดับสเกลที่ใหญ่มากๆ

กรณีล่าสุดอันเป็นผลพวงโดยตรงจากนโยบายคณะกรรมการกรุงฯ ก็คือ การรื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อทำสวนสาธารณะเมื่อ พ.ศ.2561

ทั้งนี้ การย้ายออกจากย่านเก่า เราต้องไม่มองแคบๆ เพียงการย้ายออกของผู้พักอาศัยเท่านั้น แต่ต้องมองไปจนถึงการย้ายออกของสถานที่ราชการ ที่ก่อให้เกิดการย้ายออกอย่างมหาศาลของคนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในย่าน 8 ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกัน 5 วันต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ลองนึกภาพปริมาณคนดังกล่าวใช้ชีวิตและจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ดูสิครับว่าจะมีชีวิตชีวาและสร้างการไหลเวียนทางเศรษฐกิจมากมายขนาดไหน

ด้วยเหตุนี้ การบังคับย้ายออกผู้คนในย่านเก่าในระดับที่มากมายเช่นนี้คือต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

 

แน่นอน ปัญหาการจราจร มลพิษ และตึกสูงอันเกิดจากการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่อาจทำให้ย่านเก่ากรุงรัตนโกสินทร์เสื่อมโทรมจริง แต่ก็เป็นเพียงการเสื่อมโทรมทางกายภาพที่ยังเต็มไปด้วยชีวิติชีวา

ในขณะที่คณะกรรมการกรุงฯ คือหน่วยงานที่ทำให้ย่านเก่ากรุงรัตนโกสินทร์สวยงามขึ้นจริงทางกายภาพ

แต่ก็เป็นความสวยที่ไร้ชีวิต ย่านบางลำพูและย่านเก่ากรุงรัตนโกสินทร์อีกมากมายตายลงอย่างช้าๆ

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ผมไม่ได้ปฏิเสธการท่องเที่ยวหรือความเจริญรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตรอกข้าวสารแต่อย่างใด

รวมถึงไม่ได้มองการย้ายเข้ามาใหม่ของคนกลุ่มใหม่จากภายนอกที่เข้ามาในย่านเก่าว่าเป็นสิ่งไม่ดีนะครับ

จริงๆ ออกจะชอบและชื่นชมเสียด้วยซ้ำ หากว่าการย้ายเข้ามานั้นมิได้ทำให้เกิดกระบวนการ displacement ในระดับที่ทำลายความหลากหลายของผู้คน ชนชั้น เศรษฐกิจ และกิจกรรมในย่าน

แต่ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า ทำไมการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวนั้นจะต้องแลกมาด้วยการย้ายชุมชน ตลอดจนสถานที่ราชการออกจากพื้นที่จนทำให้เกิดการ displacement ขนาดนั้น

ทั้งสองอย่างสามารถอยู่ร่วมกันได้นะครับ หากคณะกรรมการกรุงฯ จะคิดอย่างรอบคอบให้มากกว่านี้ ไม่ปล่อยนโยบายที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดปรากฏการณ์ State-Led Gentrification อย่างยาวนานมากกว่า 40 ปีเช่นนี้

ย่านเก่าบางลำพูกำลังจะตายนะครับ (รวมถึงย่านเก่าอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ด้วย) แม้บางลำพูจะเป็นย่านที่มีความเข้มแข็งของชุมชนสูงมาก แต่ภายใต้โครงสร้างเชิงนโยบายของคณะกรรมการกรุงฯ เช่นที่เป็นอยู่นี้ ที่ถูกผสมโรงซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด

ผมออกจะสงสัยว่าความเข้มแข็งของชุมชนและความมีชิวิตชีวาที่แท้จริงของย่านเก่ากรุงเทพฯ แห่งนี้จะสามารถยืนหยัดต่อสู้ไปได้อีกนานแค่ไหน