อนุสาวรีย์หน้ารัฐสภาใหม่ : ขนาด ที่ตั้ง และความหมายที่ควรเป็น / พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

อนุสาวรีย์หน้ารัฐสภาใหม่

: ขนาด ที่ตั้ง และความหมายที่ควรเป็น

 

สําหรับผู้ที่สนใจโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่อมทราบเป็นอย่างดีว่าจะมีการย้ายอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่เคยตั้งอยู่หน้าอาคารรัฐสภาเดิมมาไว้หน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

แต่ที่หลายคนเพิ่งมาทราบไม่นาน (ราวปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา) จากการเปิดเผยของวุฒิสมาชิกก็คือ กรมศิลปากรเสนอแนวคิดว่าควรย้ายอนุสาวรีย์เดิมไปตั้งไว้ภายในอาคารรัฐสภาในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์

และให้จัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้นใหม่ขนาดประมาณ 4 เท่าพระองค์จริงขึ้นแทนที่เพื่อตั้งอยู่หน้าอาคารแทน

ด้วยเหตุผลที่ว่าขนาดของอนุสาวรีย์เดิมเล็กเกินไป ไม่สัมพันธ์กับขนาดของตัวอาคารที่เป็นฉากด้านหลัง และจะทำให้อนุสาวรีย์ไม่สง่างามเท่าที่ควร

เมื่อข่าวนี้ออกสู่สาธารณะ ความเห็นดูจะแยกออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายแรกเห็นด้วยกับข้อเสนอกรมศิลปากรที่ต้องการให้มีการขยายขนาดอนุสาวรีย์ขึ้น

ส่วนอีกฝ่ายมองว่าอนุสาวรีย์เดิมมีขนาดที่เหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ได้เล็กเกินไป

ที่สำคัญคือขนาดเดิมให้ความรู้สึกที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า

ความเห็นที่ขัดแย้งกันนำไปสู่การทำภาพจำลองสามมิติเทียบขนาดอนุสาวรีย์กับอาคารรัฐสภาใหม่ของทั้งสองฝ่ายความคิด เพื่อยืนยันความเห็นของตนเองว่าถูกต้องกว่า

 

ผมตามข่าวนี้ด้วยความสนใจ

อ่านไปก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความคิดทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่ายังมีบางประเด็นที่เราควรคำนึงถึงมากกว่าแค่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างขนาดอนุสาวรีย์กับอาคารรัฐสภาที่เป็นฉากหลัง

ประการแรก ผมเห็นด้วยอย่างมากว่าเราไม่ควรใช้ภาษีของประชาชนหลายสิบล้านบาทเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ชิ้นใหม่ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าขนาดมันไปไม่ได้กับฉากหลัง

มันเป็นเหตุผลที่ตื้นเขินเกินไป

เพราะปัญหาการออกแบบเพื่อให้วัตถุที่มีขนาดเล็กยังสามารถแสดงตัวอย่างโดดเด่นภายใต้ที่ว่างขนาดใหญ่ที่โอบล้อมอยู่นั้น เป็นปัญหาพื้นฐานที่ปกติมากๆ

ตลอดประวัติศาสตร์งานศิลปะและสถาปัตยกรรม ช่างไทยโบราณต่างเรียนรู้และแก้ไขปัญหาแบบนี้ได้โดยไม่ต้องไปสร้างวัตถุให้ใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด

ลองนึกภาพตามดูนะครับ พื้นที่ภายในพระอุโบสถวัดพระแก้วที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 นั้นมีขนาดใหญ่มากหากเทียบกับขนาดพระแก้วมรกต

ถ้าช่างสมัยนั้นบอกว่าพระแก้วมรกตมีขนาดเล็กไปไม่สัมพันธ์กับขนาดพระอุโบสถและขอสร้างองค์ใหม่ขึ้นเพื่อให้มีขนาดที่ใหญ่เหมาะสมมากกว่า จะเป็นอย่างไร

แน่นอน ช่างในอดีตไม่เสนออะไรแบบนั้น แต่เลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการออกแบบองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาเสริมให้องค์พระที่มีขนาดเล็กดูเด่นขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นฐานซ้อนชั้นและบุษบกประดิษฐานพระแก้ว

นี่คือตัวอย่างที่ใช้การออกแบบอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาขนาดของวัตถุประธานที่มีขนาดเล็กให้สามารถคุมพื้นที่ขนาดใหญ่เอาไว้ได้โดยที่ไม่ถูกกลืนหายไปกับฉากหลัง

แม้กรณีนี้อาจจะนำมาเทียบกันไม่ได้ทั้งหมดกับกรณีอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7

แต่ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่ายังมีวิธีการอีกมากมายที่จะแก้ปัญหานี้โดยไม่ต้องสร้างใหม่

แต่ทำไมผู้เกี่ยวข้องกับการออกแบบพื้นที่จัดวางอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 จึงไม่เลือกทางอื่น

ทำไมเราต้องมีอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่มีรูปแบบซ้ำกันถึง 2 ชิ้นตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน

ถ้าแก้ปัญหาด้วยวิธีการหนีปัญหาแบบนี้เราจะมีสถาปนิกและนักออกแบบไปเพื่ออะไร

 

ที่สำคัญประการต่อมาคือ การเสนอขยายขนาดมากถึง 4 เท่าคนจริงมันส่งผลในเชิงความหมายและความรู้สึกของผู้คนที่มองอนุสาวรีย์อย่างลึกซึ้งมากกว่าที่คิดนะครับ

ผมคงไม่มีเนื้อที่มากพอที่จะอธิบายในรายละเอียด

หากสนใจประเด็นนี้ หนังสือรวมบทความชื่อ Decoding Dictatorial Statues ซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการวิเคราะห์ภาพถ่ายอนุสาวรีย์รูปผู้นำต่างๆ ของกราฟฟิก ดีไซเนอร์ชาวเกาหลีชื่อ Ted Hyunhak Yoon เป็นตัวอย่างที่ดี

หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอการถอดรหัสความหมายทางการเมืองที่ซ่อนเร้นหลายมิติในอนุสาวรีย์รูปบุคคลที่ตั้งในที่สาธารณะทั่วโลก

ตั้งแต่การวางท่าทางของอนุสาวรีย์ (ยกมือ ผายมือ ชี้นิ้วไปข้างหน้า ก้มหน้า เงยหน้า กอดอก ฯลฯ) ไปจนถึงขนาด ป้ายคำอธิบาย สถานที่ตั้ง ไปจนวัสดุในการสร้าง ว่าล้วนมีความหมายบางอย่างเสมอ

แม้กระทั่งตำแหน่งในการมองของเราไปสู่อนุสาวรีย์ (ต้องเงยหน้ามอง ก้มลงมอง หรือระดับเดียวกันกับสายตาเรา) ก็ล้วนสร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

หากตระหนักถึงความละเอียดอ่อนดังกล่าวมากพอ ผมเชื่อว่ากรมศิลปากรคงไม่เสนอให้มีการขยายขนาดมากถึง 4 เท่า

เพราะการสร้างอนุสาวรีย์รูปบุคคลขนาดใหญ่มากๆ (ไม่นับรูปเคารพทางศาสนา) มักเกิดขึ้นในสังคมที่มีลักษณะอำนาจนิยมและเผด็จการมากกว่าสังคมประชาธิปไตย

เมื่อเรายืนอยู่ต่อหน้าอนุสาวรีย์ลักษณะนี้จะเกิดความรู้สึกที่ถูกกดและถูกข่มไม่มากก็น้อย

ยิ่งหากตั้งบนฐานสูง ความรู้สึกดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

แต่น่าเสียดาย ด้วยความหมกหมุ่นแต่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างขนาดอนุสาวรีย์กับฉากหลังที่มีขนาดมหึมา จึงส่งผลให้เกิดเป็นข้อเสนอที่ทั้งสิ้นเปลืองภาษีประชาชนและขัดแย้งกับหัวใจสำคัญของที่ตั้งที่เป็นอาคารรัฐสภาที่ควรจะเป็นพื้นที่ที่นำเสนออุดมการณ์ประชาธิปไตยในทุกตารางนิ้ว

ตัวอย่างใกล้ตัวที่ดีที่แสดงลักษณะตรงข้ามได้ชัดคือ อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเป็นรูปบุคคลที่ขนาดเท่าคนจริง อิริยาบถนั่งอยู่บนเก้าอี้ยาวด้วยท่วงท่าธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป

อนุสาวรีย์ติดตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่มีฐานรอง ยิ่งเมื่อเราเดินเข้าไปใกล้อนุสาวรีย์ก็จะพบว่าสายตาของเราสูงกว่าระดับศีรษะของรูปบุคคลทั้งสองอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือภาษาในการออกแบบอนุสาวรีย์ที่สร้างความใกล้ชิด เป็นกันเอง

และเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชมกับตัวบุคคลที่ถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์

 

อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่อยากให้สร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้นใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งผมก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรมศิลปากรนะครับที่เสนอให้นำอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 องค์เดิมไปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์ภายในอาคารรัฐสภา

ผมเห็นว่าลานขนาดใหญ่ด้านหน้าของรัฐสภาควรเปิดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนหรือแม้กระทั่งแสดงออกทางการเมืองของประชาชนอย่างเต็มที่ ให้สมกับการเป็นรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย

เพราะเราต้องยอมรับนะครับว่าหากลานด้านหน้ามีอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ พื้นที่ส่วนนี้จะมีลักษณะที่โน้มเอียงไปสู่การเป็นพื้นที่ที่เป็นทางการในการจัดรัฐพิธีและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่า

ซึ่งในทัศนะผม การแยกพื้นที่รัฐพิธีและพระราชพิธีออกจากพื้นที่สาธารณะทั่วไปคือสิ่งที่ควรทำและจำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย หากเราปล่อยให้พื้นที่ทั้งหมดซ้อนทับกัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จะกลายเป็นความหมายหลักที่คลุมพื้นที่นั้นทั้งหมดและทำให้หลายมิติ

และหลายกิจกรรมสาธารณะไม่สามารถทำได้อีกต่อไปในพื้นที่นั้น

 

ผมจึงอยากเสนอว่า ภายในอาคารอันเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ควรออกแบบให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมรัฐพิธีและพระราชพิธีต่างๆ

ส่วนพื้นที่ลานด้านหน้าอาคารรัฐสภาก็ออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนในการใช้สอยต่างๆ อย่างเต็มที่เช่นกัน

หากกังวลเรื่องความปลอดภัย ผมคิดว่ามีการออกแบบอาคารรัฐสภาสมัยใหม่หลายแห่งในโลกที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน รัฐสภาของประเทศออสเตรเลียเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดี ตัวอาคารออกแบบให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้สอยได้ทุกวันในเกือบทุกพื้นที่โดยรอบ

แม้กระทั่งหลังคาก็ออกแบบให้เป็นพื้นสนามหญ้าสำหรับเดินและชมวิวเมืองได้ ในขณะเดียวกันก็มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเยี่ยม

แม้รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยจะถูกออกแบบขึ้นด้วยแนวคิดและรูปทรงอาคารที่ขัดแย้งอย่างมากกับหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย (ผมอธิบายประเด็นนี้ไว้มากแล้วในหลายแห่ง จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้)

แต่หากข้อเสนอของผมในบทความชิ้นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง อย่างน้อยก็จะช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดของรัฐสภาแห่งนี้ให้ดีขึ้นบ้าง

เป็นการเดินกลับเข้าหาหลักการออกแบบพื้นที่ในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น