จริงตนาการ : โค้งสุดท้ายของ “สนฉัตร-สรรค์ชัย” และตัวแทนคู่ใหม่ที่วันนี้ยังหาไม่เจอ

วงการเทนนิสไทยพยายามเดินหน้าปั้น “ภราดร 2” (ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิสมือ 9 ของโลก) และ “แทมมี่ 2” (แทมมารีน ธนสุกาญจน์ อดีตนักเทนนิสหญิง มือ 15 ของโลก) มาโดยตลอด เพราะโหยหาความสำเร็จอย่างในช่วงที่ทั้งคู่ยังโลดแล่นในการเล่นเทนนิสอาชีพ

จนแล้วจนรอดตอนนี้ยังไม่เห็นแววว่าใครจะมาเทียบเคียงกับทั้งคู่ได้

อาจจะมี “ลัก” *ลักษิกา คำขำ* นักหวดสาววัย 24 ปี ที่ปัจจุบันเป็นมืออันดับ 94 ของโลก สามารถกรุยทางเข้าสู่รอบ 3 แกรนด์สแลม “ออสเตรเลียน โอเพ่น” เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ เป็นความหวังใกล้เคียงที่สุด

สำหรับนักเทนนิสชายนั้น ถ้าจะมองให้ถึง “ซูเปอร์บอล” *ภราดร ศรีชาพันธุ์* หรือ “ปิ๊ก” *ดนัย อุดมโชค* อีกหนึ่งนักหวดความหวังของไทยในอดีต ต้องบอกว่าไม่มีนักเทนนิสระดับนี้มาหลายปีแล้ว

 

ว่ากันถึงเทนนิสไทยในระดับทีมชาติ เมื่อไม่กี่วันก่อน นักเทนนิสชายทีมชาติไทยเพิ่งบุกไปเอาชนะฟิลิปปินส์ 4-1 คู่ ในการแข่งขันเทนนิสชิงแชมป์โลกประเภททีมชาย “เดวิสคัพ 2018” กลุ่ม 2 โซนเอเชีย/โอเชียเนีย รอบ 2 ทำให้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศของกลุ่มนี้ รอพบกับเลบานอน

ซึ่งจะแข่งขันที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน ถ้าสามารถชนะได้ ก็จะกลับไปอยู่ในกลุ่ม 1 ของโซนเอเชีย/โอเชียเนีย

และในอนาคตก็มีลุ้นขยับเลื่อนชั้นไปสู่เวิลด์กรุ๊ป เพลย์ออฟ และเวิลด์กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มสูงสุดที่เต็มไปด้วยนักหวดระดับโลกมากมาย

นักเทนนิสชายไทยชุดเดวิสคัพ 2018 ประกอบไปด้วย “จูเนียร์” *วิชยา ตรงเจริญชัยกุล* มือ 433 ของโลก “เมฆ” *จิรัฏฐ์ นวสิริสมบูรณ์* มือ 1,411 ของโลก “เน็ต” *พลภูมิ โควาพิทักษ์เทศ* มือ 1,378 ของโลก “ต้น-ต้อง” *สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์*

3 มือเดี่ยวถือว่ายังเป็นนักเทนนิสอายุน้อย ยังมีโอกาสโลดแล่นในสังเวียนลูกสักหลาดไปอีกพักใหญ่ แต่สำหรับแฝดต้น-ต้องแล้ว ตอนนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของทั้งคู่

 

ที่ผ่านมา เทนนิสไทยมีสนฉัตร-สรรค์ชัยเป็นคู่ความหวังในการต่อกรกับนักเทนนิสระดับท็อปของเอเชียมานักต่อนัก ในยุคที่มีภราดรเป็นเดี่ยวมือ 1 ดนัยเป็นเดี่ยวมือ 2 และมีคู่แฝดเล่นในประเภทคู่ สามารถเข้าไปอยู่ในเวิลด์กรุ๊ป เพลย์ออฟได้ในปี 2002, 2003, 2004, 2006 ถือว่าเป็นการอยู่กลุ่มที่สูงที่สุดของนักหวดหนุ่มไทยในประวัติศาสตร์แล้ว

สนฉัตรบอกว่า หลังจากจบศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะขอดูว่าอันดับโลกของตัวเองอยู่ตรงจุดไหน

ถ้ายังได้เล่นเพียงเอทีพี ชาลเลนเจอร์ ทัวร์ ก็อาจจะเริ่มๆ ถอยออกมา อาจจะไม่เลิกเสียทีเดียว แต่ขยับออกมาทีละนิด แล้วค่อยๆ หยุดแข่งขัน แต่ยืนยันได้ว่าปีหน้าคงจะเป็นปีสุดท้ายที่จะเล่นอาชีพแล้ว

สรรค์ชัยยอมรับว่าตอนนี้เป็นโค้งสุดท้ายของตัวเองที่จะเล่นเทนนิส เพราะอายุตอนนี้ 36 ปีแล้ว แต่คงบอกไม่ได้ว่าจะเลิกเมื่อไร ต้องอยู่ที่สภาพร่างกายและสปอนเซอร์ที่ให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม การเล่นอาชีพในตอนนี้ อันดับยังทรงตัวที่ 100 กว่าๆ ของโลก ทำให้ยังได้เล่นในระดับเอทีพี ชาลเลนเจอร์ ทัวร์ เป็นหลัก ซึ่งก็เป็นการเล่นให้ทรงตัวไป ไม่น่าจะขยับอันดับไปได้ไกลกว่านี้

ปีหน้าอาจจะเป็นปีสุดท้ายที่จะเล่นอาชีพในต่างประเทศ หรืออาจจะยังเล่นอยู่ ก็ต้องดูสถานการณ์ ณ เวลานั้น ถึงแม้สนฉัตรจะเลิกไปแล้ว แต่ตัวเองก็สามารถไปเล่นคู่กับคนอื่นได้

 

สนฉัตร-สรรค์ชัยรับใช้ชาติมาพร้อมกันรวม 15 ปี แข่งขันซีเกมส์ 7 ครั้ง ได้ 6 เหรียญทองชายคู่ เอเชี่ยนเกมส์ 3 ครั้ง ได้ 1 เหรียญเงิน ที่กาตาร์ เมื่อปี 2006 กับ 1 เหรียญทองแดง ที่เกาหลีใต้ เมื่อปี 2014 และโอลิมปิกเกมส์ 1 ครั้ง เมื่อปี 2016

ขณะที่เดวิสคัพ ต้นมีสถิติเล่น 20 ชนะ 10 แมตช์ ส่วนต้องเล่น 21 แมตช์ ชนะ 12 แมตช์ ถ้าฝ่ายหลังเก็บชัยชนะในการรับใช้ชาติได้อีก ก็จะทำสถิติเทียบเท่ากับที่ *วิทยา สำเร็จ* อดีตนักหวดมือดีทีมชาติไทยเคยทำไว้ แต่ต้องจะเหนือกว่าตรงที่เป็นนักเทนนิสทีมชาติไทยที่เล่นเดวิสคัพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 22 แมตช์

ถามถึงตัวแทนที่จะขยับมาเป็นกำลังสำคัญให้กับเทนนิสชายไทยในประเภทคู่ หลังจากที่ทั้งคู่เลิกไปแล้ว ทั้งคู่ตอบตรงกันว่าจนถึงตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่าใครจะมาแทน แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องปั้นนักหวดชายคู่มาเพื่อเป็นตัวแทน เพียงแค่สร้างนักเทนนิสเดี่ยวมาเยอะๆ แล้วจับคนที่เล่นคู่ได้ดีที่สุด 2 คนมาเล่นด้วยกันในรายการระดับชาติก็เพียงพอแล้ว

“เทนนิสปัจจุบันไม่ค่อยเหมาะที่จะสร้างนักเทนนิสมาเล่นคู่ เพราะเงินรางวัลในการเล่นอาชีพน้อยกว่าเดี่ยวมาก เกินเท่าตัว ทุกคนก็อยากจะประสบความสำเร็จในการเล่นประเภทเดี่ยวทั้งนั้น และไม่จำเป็นต้องหาแฝดคู่ต่อไป หรือคู่โดยเฉพาะ อยากให้สร้างมือเดี่ยวมาเยอะๆ จะดีที่สุด เพราะมันต้องมีบางคนที่เล่นได้ดีทั้งเดี่ยวและคู่”

แฝดต้นบอก

 

สําหรับนักเทนนิสรุ่นน้องในยุคปัจจุบัน สรรค์ชัยยอมรับว่า ยังห่างจากการจะเป็นภราดร เพราะเรื่องของสรีระที่คนไทยจะรูปร่างไม่สูงใหญ่ บางคนเทคนิคดีแต่เสียเปรียบรูปร่างนักหวดต่างชาติ หรือบางคนที่มีทุกอย่างครบกลับขาดเรื่องเงินทุนในการออกทัวร์ เนื่องจากเทนนิสอาชีพเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญมากในการจะก้าวไปสู่ระดับท็อปได้

“นักเทนนิสจะพัฒนาได้ต้องออกแข่งขันต่างประเทศให้บ่อย เพราะจะได้รู้จังหวะและเจอกับงานหนักจากคู่แข่งเก่งๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งจะมีคะแนนสะสมขยับอันดับโลกได้ถ้าฟอร์มดี เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่ออกไปแข่งต่างประเทศเลยหรือไปนานๆ ที ก็จะเหมือนย่ำอยู่กับที่ เก่งในประเทศ พอติดทีมชาติไปแข่งรายการนานาชาติก็ประสบความสำเร็จยาก” แฝดต้องกล่าว

ส่วนแฝดต้นเสนอความเห็นว่า การสร้างภราดรคนใหม่นั้นเป็นไปได้ยาก

เพราะภราดรเป็นนักเทนนิสที่รูปร่างสูงใหญ่ หาไม่ง่ายนักในคนไทยทั่วไป

ดังนั้น การสร้างดนัยคนต่อไปมีโอกาสเกิดขึ้นง่ายกว่า เพราะดนัยเป็นนักเทนนิสที่รูปร่างมาตรฐานชายไทย

ถ้ามีดนัยหลายๆ คน เทนนิสทีมชายไทยจะได้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะในรายการอย่างเดวิสคัพ

ทั้งคู่ทิ้งท้ายว่า เทนนิสหญิงไทยถือว่าพัฒนาอย่างมีความหวัง

เพราะมีนักหวดเล่นอาชีพและรุ่นเยาวชนที่ฝีมือดีพร้อมจะก้าวไปเป็นกำลังสำคัญอยู่มากมาย

แต่ในส่วนของฝ่ายชาย พอจะมองเห็นกลุ่มนักกีฬาดีๆ อยู่พอสมควร อยู่ที่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่จะเจียระไนให้พวกเขาแข็งแกร่งพอจะทดแทนรุ่นพี่ได้หรือไม่ก็เท่านั้น

ฝากเป็นโจทย์ให้คีย์แมนวงการเทนนิสไทยเร่งมือสร้างกันอีกหน่อย เพราะบุญเก่าที่เคยทำไว้ใกล้จะหมดเต็มทีแล้ว

ด้วยความเคารพ