ไทม์เอาต์/SearchSri /ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก โปรเจ็กต์เขย่าวงการลูกหนัง

ไทม์เอาต์/SearchSri

ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก

โปรเจ็กต์เขย่าวงการลูกหนัง

 

เหมือนจะจบ แต่ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ สำหรับประเด็นร้อน ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก (ESL) ซึ่งกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงการลูกหนังโลกตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา

ESL เป็นความร่วมมือของ 12 สโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรป ได้แก่ กลุ่ม “บิ๊ก 6” ของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เชลซี, อาร์เซนอล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กับ 3 สโมสรจากลาลีก้า สเปน รีล มาดริด, บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก้ มาดริด และ 3 ทีมใหญ่จากกัลโช่ เซเรียอา อิตาลี ยูเวนตุส, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน

แนวคิดของ ESL คือทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลรายการใหม่ มี 20 ทีมเข้าร่วมแข่งขัน ในจำนวนนี้ 15 ทีมเป็นโควต้าถาวรของ “สโมสรก่อตั้ง” ได้แก่ 12 ทีมข้างต้น บวกกับอีก 3 ทีมที่ยังไม่เปิดเผย กลุ่มนี้จะไม่โดนตัดออกจากการแข่งขันโดยเด็ดขาด

ขณะที่อีก 5 ทีมจะได้โควต้าผ่านการคัดเลือกจากลีกต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันไป โดยคาดว่าจะประเดิมเตะนัดแรกกันในเดือนสิงหาคม 2021 หรือตั้งแต่ฤดูกาลหน้าเป็นต้นไป

 

อันที่จริงข่าวเรื่องจัดตั้งทัวร์นาเมนต์แยกจากรายการหลักของ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) นั้น ลือกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลายเป็นประเด็นใหญ่โตเพราะคราวนี้มีการลงนามเซ็นสัญญาร่วมกัน

พอข่าวออกมา บรรดาทีมยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็พากันเปิดตัวสนับสนุนโปรเจ็กต์นี้ ขณะที่ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสรรีล มาดริด ในฐานะประธาน ESL ให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดนี้สร้างขึ้นมาเพื่อ “เซฟวงการฟุตบอล” เพราะทุกวันนี้บอลถ้วยยุโรปทั้งยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และยูโรป้าลีก เริ่มเสื่อมความนิยม ทีมใหญ่จึงหารือกันจัดตั้งทัวร์นาเมนต์ที่จะดึงความสนใจจากแฟนๆ และสปอนเซอร์

มองในมุมของทีมที่เข้าร่วม งานนี้มีแต่ได้กับได้ แฟนบอลบางส่วนก็เห็นด้วย เพราะมองว่าที่ผ่านมายูฟ่าเอาเปรียบทีมใหญ่ที่เป็นตัวทำเงินของทั้งแชมเปี้ยนส์ลีกและยูโรป้าลีก แต่พอเจอปัญหาวิกฤต โควิด กลับไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์นัก

ที่สำคัญ ยูฟ่าเพิ่งมีมติเตรียมปรับรูปแบบการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ลีก เพิ่มทีมเตะเป็น 36 ทีม ในปี 2024 ซึ่งหมายถึงโปรแกรมเตะที่เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

 

อย่างไรก็ตาม เสียงสนับสนุนเมื่อเทียบกับเสียงต่อต้านแล้วแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ใช่แค่ทีมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ESL อย่างเดียว

บรรดาแฟนบอล นักเตะ หรือกุนซือของทีมนั้นๆ ต่างก็ต่อต้านแนวคิดนี้อย่างหนัก เพราะมองว่า 12 ทีมคิดกันเอง ตกลงกันเอง มุ่งเน้นการกอบโกยผลประโยชน์เป็นหลัก โดยไม่คิดถามความเห็นของฝ่ายอื่นๆ เลย

อีกอย่างการกำหนดการแข่งขันที่มีโควต้าถาวรของ “ทีมก่อตั้ง” หมายความว่า 15 ทีมนี้ไม่ต้องเหนื่อยลุ้นโควต้าใดๆ ก็ได้สิทธิเตะทันที แม้ว่าฤดูกาลนั้นๆ อาจจะผลงานย่ำแย่ (เช่นกรณีอาร์เซนอลในขณะนี้) แล้วความศักดิ์สิทธิ์ของทัวร์นาเมนต์จะอยู่ตรงไหน?

พอโดนต่อต้านหนัก ทีมต่างๆ ก็ทยอยถอนตัว จนเหลือแค่รีล มาดริด บาร์เซโลน่า และยูเวนตุสเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เปเรซยืนยันว่าสัญญาที่เซ็นกันไว้ผูกมัดทั้ง 12 ทีม ไม่ใช่แค่คิดจะถอนตัวก็ทำได้ง่ายๆ

 

ขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พรีเมียร์ลีกและรัฐบาลอังกฤษกลับมาทบทวนเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทีมฟุตบอลอาชีพ ว่าอาจจะเอาหลักการเดียวกับบุนเดสลีก้ามาใช้ นั่นคือ ใช้กฎ 50+1 หมายถึง ไม่ว่ากลุ่มธุรกิจหรือมหาเศรษฐีคนใดจะเข้ามาถือหุ้นสโมสร จะต้องมีอัตราส่วนเพียง 49 เปอร์เซ็นต์ โดยต้องให้สิทธิแฟนบอลเป็นผู้ถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์เสมอ

เพื่อที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องถามความเห็นของผู้ถือหุ้นใหญ่หรือแฟนบอลก่อน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมโปรเจ็กต์ ESL จึงไม่มีทีมจากบุนเดสลีก้าเข้าร่วมเลย (มีข่าวว่า บาเยิร์น มิวนิก และ โบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์ ได้รับการทาบทาม แต่ปฏิเสธทันที)

นี่คือความเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้น อันเป็นผลจากแนวคิด ESL ที่เขย่าวงการลูกหนังโลกอยู่ในขณะนี้!