ไทม์เอาต์/SearchSri/เอฟวัน 2021 ฤดูกาลที่น่าดู

Red Bull's Dutch driver Max Verstappen leads Mercedes' British driver Lewis Hamilton during the Bahrain Formula One Grand Prix at the Bahrain International Circuit in the city of Sakhir on March 28, 2021. (Photo by Giuseppe CACACE / AFP)

ไทม์เอาต์/SearchSri

เอฟวัน 2021

ฤดูกาลที่น่าดู

 

การแข่งขัน ฟอร์มูล่าวัน ฤดูกาล 2021 เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว กับรายการ บาห์เรน กรังด์ปรีซ์ เมื่อกลางเดือนมีนาคม เป็นการเริ่มต้นฤดูกาลประวัติศาสตร์ที่บรรจุโปรแกรมแข่งขันมากเป็นประวัติการณ์ถึง 23 สนาม

ช่วงแรกอาจจะทุลักทุเลไปบ้าง เมื่อต้องเปลี่ยนโปรแกมเปิดฤดูกาลจาก ออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์ ไปบาห์เรน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้รัฐบาลออกกฎให้คนที่เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ก่อนจะทำกิจกรรมใดๆ ได้

แต่เมื่อการแข่งขันสนามแรกเปิดฉาก ก็เริ่มมีสัญญาณน่าสนใจว่า วงการรถสูตรหนึ่งฤดูกาลนี้ น่าจะเป็นฤดูกาลที่น่าติดตามที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีหลังเลยทีเดียว

 

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเอฟวันเป็นเรื่องของการผูกขาดความสำเร็จของทีมที่ปรับตัวกับกฎเกี่ยวกับเครื่องยนต์ได้ดีกว่าและเร็วกว่า

ดังปรากฏว่าช่วงปี 2010-2013 เรดบูล ครองแชมป์โลกประเภทผู้ผลิตอย่างต่อเนื่องด้วยสมรรถนะรถที่เหนือกว่าคู่แข่ง โดยมี เซบาสเตียน เวทเทล นักซิ่งชาวเยอรมัน ครองแชมป์ในช่วงเวลาดังกล่าว

ต่อมา เมอร์เซเดส ซึ่งพัฒนาเครื่องยนต์รอรับการเปลี่ยนแปลงกฎครั้งใหญ่ของเอฟวันในปี 2014 ก็ก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ชนิด “ไร้เทียมทาน” นานถึง 7 ปีจนถึงปัจจุบัน ส่งให้ ลูอิส แฮมิลตัน กลายเป็นเจ้าของแชมป์โลก 7 สมัย เทียบเท่าสถิติสูงสุดของ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ตำนานนักขับชาวเยอรมัน โดยมี นิโก้ รอสเบิร์ก เพื่อนร่วมทีมสอดแทรกขึ้นมาแย่งแชมป์ได้ในปี 2016 แต่แชมป์ก็ยังอยู่กับเมอร์เซเดสอยู่ดี

กระทั่งฤดูกาลนี้ เอฟวันและสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) ได้ปรับเปลี่ยนกฎครั้งสำคัญอีกครั้งโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความ “แฟร์” ในการต่อสู้แย่งแชมป์มากขึ้น

 

แรกสุดคือการปรับเปลี่ยนดีไซน์รถให้ทันสมัย ถูกใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ช่วยลดความได้เปรียบเสียเปรียบของการขับตามกัน จากเดิมที่อากาศปั่นป่วนของรถคันหน้าจะส่งผลต่ออากาศพลศาสตร์ของรถคันหลัง จนเสียดาวน์ฟอร์ซ 40-50 เปอร์เซ็นต์

ดีไซน์ใหม่จะลดค่าดังกล่าวเหลือ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีกฎควบคุมงบประมาณในการทำทีมตลอดฤดูกาล เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยกำหนดเพดานทำทีมไว้ไม่เกิน 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,425 ล้านบาท) ต่อทีม ตลอดฤดูกาล

ว่าไปก็คล้ายๆ กฎควบคุมการเงิน ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ของกีฬาฟุตบอล แต่ต่างกันในรายละเอียด

นั่นคือความเปลี่ยนแปลง 2 ข้อหลักๆ ไม่นับรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีกไม่น้อย ซึ่งแค่การแข่งขันสนามแรกก็เริ่มเห็นข้อแตกต่างจากฤดูกาลที่ผ่านๆ มาอย่างน่าสนใจ

 

ในรอบคัดเลือกบาห์เรน กรังด์ปรีซ์ กลายเป็น มักซ์ เวอร์สตัปเปน นักซิ่งหนุ่มเรดบูลที่ทำเวลาดีที่สุด แต่สุดท้ายเป็นแฮมิลตันที่คว้าแชมป์ เพราะจุดเปลี่ยนช่วงเดียวระหว่างแข่ง เมื่อเวอร์สตัปเปนแซงแฮมิลตันขึ้นนำ แต่ทำผิดกฎเพราะรถวิ่งออกนอกแทร็กในจังหวะแซง ต้องยอมให้แฮมิลตันแซงคืน

หลังจบเรซนี้ ทั้งตัวแฮมิลตันและเมอร์เซเดสยอมรับว่า นี่น่าจะเป็นเอฟวันที่สูสีที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีหลัง ขณะที่เรดบูลเอง เมื่อได้ เซร์คิโอ เปเรซ นักขับมือเก๋ามาเป็นมือสองของทีมแทน อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ นักซิ่งหนุ่มลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ในฤดูกาลนี้ ก็คาดหวังว่าเปเรซจะผลักดันให้เวอร์สตัปเปนต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น ทั้งในแง่การเป็นคู่แข่งและผู้สนับสนุนในสนาม

ยิ่งปีนี้กำหนดปฏิทินแข่งขันมากกว่าทุกปี แถมมีเพดานงบประมาณกำกับไว้ ยิ่งเป็นโจทย์ยากที่แต่ละทีมต้องวางแผนระยะยาว และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

เรียกว่าเป็นด่านทดสอบครั้งใหญ่ของฝ่ายนักแข่งและทีมงาน แต่ในแง่คนดูแล้วถือว่าเป็นความสนุกที่น่าติดตามในรอบหลายปีเลยทีเดียว!