โควิด-19 กับ ซูเปอร์หนองใน ที่กำลังมีคนป่วยเพิ่มขึ้น เพราะคนกินยาปฏิชีวนะ ?

พิศณุ นิลกลัด

โควิด-19 กับ ซูเปอร์หนองใน

สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ก่อให้เกิดการระบาดของอีกโรคที่มีความรุนแรงเช่นกัน นั่นคือโรคซูเปอร์โกโนเรีย (Super Gonorrhea) หรือซูเปอร์หนองใน ซึ่งเป็นหนองในชนิดรุนแรง อันตรายและดื้อยามากกว่าเดิม แข็งแรงมากราวกับซูเปอร์แมน

ซูเปอร์หนองในที่กำลังมีคนป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้ดื้อยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศเตือนว่า สาเหตุที่มีคนเป็นซูเปอร์หนองในเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19 เพราะคนกินยาปฏิชีวนะกันเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ทำให้แบคทีเรียหนองในดื้อยา และกลายเป็นซูเปอร์หนองใน

ยาปฏิชีวนะ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ได้รับการนำมาใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 โดยยาตัวนี้ใช้รักษาผู้ติดเชื้อจากแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ รวมถึงหนองใน

ประกอบกับช่วงโควิด-19 คนหลีกเลี่ยงที่จะเข้าโรงพยาบาลหากไม่ป่วยหนักจริงๆ จึงทำให้คนที่ติดหนองในเลือกที่จะไม่เข้ารับการตรวจอย่างทันท่วงที พยายามรักษาด้วยตัวเอง ส่งผลให้อาการแย่ลง หรืออาจติดเชื้อหนองในแล้วแต่ไม่รู้ตัว

ทำให้แพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ

ซูเปอร์หนองในถูกพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2561 หลังจากมีชายอังกฤษติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวคนหนึ่งขณะเดินทางไปเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนจะเป็นประเทศไหนนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษขอไม่เปิดเผย

ประมาณตัวเลขว่า หากไม่มีการป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี ซูเปอร์หนองในอาจจะฆ่าคนทั่วโลกปีละถึง 700,000 คน

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อซูเปอร์หนองใน ทำได้โดยการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์

ในวงการกีฬา ถุงยางอนามัยกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทัวร์นาเมนต์กีฬาใหญ่ๆ อย่างโอลิมปิก เพราะนักกีฬาทั้งชายและหญิงจากหลากหลายประเทศซึ่งอยู่ในวัยกำลังฟิตพร้อมลุย

เมื่อมารวมตัวกันในหมู่บ้านนักกีฬา เกิดส่งสายตาถูกใจและพูดคุยกันอย่างถูกคอ ฮอร์โมนเพศหลั่งอย่างเต็มที่ ย่อมเกิดความรู้สึกอยากชวนกันไปทำกิจกรรมสันทนาการอย่างใกล้ชิดในที่เงียบๆ

ทางเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกจึงมีถุงยางอนามัยบริการฟรีในหมู่บ้านนักกีฬาไว้พร้อมและเพียงพอต่อความต้องการของนักกีฬา

แต่ในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่เลื่อนมาจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคมปีนี้ (ซึ่งหวังว่าจะไม่มีการเลื่อนการแข่งขันอีก) จะไม่มีการแจกถุงยางมากมายหลายแสนชิ้นเหมือนโอลิมปิกที่ผ่านๆ มา เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคมอันเนื่องมาจากโควิด-19

โดยในโตเกียว โอลิมปิก 2020 นักกีฬาจะได้รับการขอร้องให้ออกจากหมู่บ้านนักกีฬาและออกจากประเทศญี่ปุ่นหลังแข่งขันเสร็จ 1 ถึง 2 วัน

ไม่ใช่อยู่จนกระทั่งวันสุดท้ายของการแข่งขันโอลิมปิก นอกจากนั้น ทุกๆ คืนจะไม่มีปาร์ตี้สังสรรค์ในหมู่บ้านนักกีฬาเหมือนทุกคราว

ก็เป็นที่น่าเสียดายของบรรดานักกีฬาโอลิมปิกที่ไม่ได้เป็นตัวเต็งชิงเหรียญรางวัล ซึ่งไปแข่งขันเพื่อประสบการณ์ชีวิต โดยหนึ่งในประสบการณ์นั้นก็คือการปาร์ตี้และ “มีอะไร” กับนักกีฬาจากทั่วโลกในหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันในหมู่นักกีฬา

ในโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ มีการแจกจ่ายถุงยางให้กับนักกีฬาในหมู่บ้านนักกีฬาจำนวน 450,000 ชิ้น โดยเป็นถุงยางสำหรับผู้ชาย 350,000 ชิ้น และถุงยางสำหรับผู้หญิง 100,000 ชิ้น สารหล่อลื่นอีก 175,000 ชิ้น

โดยติดตั้งตู้กดถุงยางตามจุดต่างๆ ทั่วหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อป้องกันไม่ให้นักกีฬานำโรคกลับบ้านเป็นของที่ระลึกจากการแข่งขันโอลิมปิก

ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้ผลิตถุงยางอนามัยของญี่ปุ่นของสองบริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตถุงยางซึ่งมีความบางเฉียบที่สุดในโลก ได้แก่ ซากามิ (Sakami) และโอกาโมโตะ (Okamoto) ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้รับเลือกให้เป็นถุงยางที่ใช้ในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว

ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองบริษัทจะได้แสดงให้คนทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงคุณภาพถุงยางของประเทศญี่ปุ่น และก้าวขึ้นเป็นถุงยางยี่ห้อยอดนิยมในตลาดนานาชาติเพื่อแข่งขันกับดูเร็กซ์ (Durex) ของสหราชอาณาจักร, โทรจัน (Trojan) ของสหรัฐอเมริกา และแอนเซลล์ (Ansell) ของออสเตรเลีย ซึ่งตอนนี้ถุงยางของซากามิกำลังได้รับความนิยมมากในประเทศจีน

ฮิโรชิ ยามาชิตะ (Hiroshi Yamashita) ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสของบริษัทซากามิ โฆษณาถึงสรรพคุณของถุงยางยี่ห้อซากามิว่าแม้จะบางเฉียบ แต่เหนียว อึด ทนทานมาก

จากการทดสอบ ถุงยางบางเฉียบนี้สามารถทนทานการเสียดสี “เข้า-ออก” ได้ถึง 100,000 ครั้ง ซึ่งมากกว่าความสามารถโดยเฉลี่ยของผู้ชายที่อยู่ที่ 100-500 ครั้ง

นี่เป็นงานวิจัยของคณะผู้ศึกษาจาก Boston University ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science เมื่อปี 2018