SearchSri : 2020 ปีแห่งความสูญเสียในวงการกีฬา

ใกล้จะปิดฉากอย่างบริบูรณ์แล้วสำหรับปฏิทินกีฬาปี 2020 ซึ่งเรียกว่าเป็นปีที่แสนสาหัสสำหรับทุกคน ทุกวงการ ทั่วโลกอย่างไม่มีข้อยกเว้นเลยทีเดียว

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ที่กระทบกระเทือนการดำเนินชีวิตของประชากรโลก วงการกีฬาก็ต้องเผชิญกับปัญหาและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งนำมาสู่ความ “สูญเสีย” ในรูปแบบแตกต่างกันไป

การแข่งขันกีฬาทั่วโลกหยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม บางรายการต้องยกเลิกไป เช่น ศึกเทนนิสแกรนด์สแลม “วิมเบิลดัน” ที่ไม่มีการแข่งขันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

กว่าที่วงการกีฬาโลกจะกลับมาแข่งขันกันได้ก็ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และเกือบทั้งหมดใช้วิธีปิดสนามแข่งขัน

ส่งผลให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน หรือทีมต่างๆ ต้องสูญเสียรายได้มหาศาลเนื่องจากไม่สามารถขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันได้

 

ยกตัวอย่าง “พรีเมียร์ลีก” ลีกลูกหนังยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก นักวิเคราะห์ประเมินว่าพรีเมีย์ลีกสูญเสียรายได้จากการปิดสนามเตะเป็นตัวเลขรวมๆ ราว 126 ล้านปอนด์ (5,040 ล้านบาท)

ยิ่งเป็นทีมใหญ่ สนามใหญ่ ยิ่งเสียรายได้ในส่วนนี้เยอะ

นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ยังกระทบกับสัญญาการถ่ายทอดสด ซึ่งแม้จะสามารถกลับมาเตะฤดูกาล 2019-2020 จนครบได้ แต่เนื่องจากช่วงล็อกดาวน์ไม่สามารถเตะตามกำหนดเวลาในเงื่อนไขสัญญา พรีเมียร์จึงต้องจ่ายเงินบางส่วนชดเชยที่ผิดสัญญาไปด้วย

ช่วงล็อกดาวน์ แต่ละสโมสรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งค่าเหนื่อยนักเตะ และค่าจ้างเจ้าหน้าที่ แม้จะไม่ได้มีการแข่งขันเลย ทำให้นักเตะหลายทีมต้องยอมลดค่าเหนื่อยของตัวเองลงเพื่อช่วยพยุงสถานะการเงินของสโมสร

พอการแข่งขันฤดูกาลก่อนยืดเยื้อ ก็ส่งผลให้ต้องเร่งเปิดฤดูกาล 2020-2021 และอัดโปรแกรมแข่งทั้งบอลลีกบอลถ้วยถี่ขึ้น

เรียกว่าบางช่วงนั้น หลายทีมต้องสลับเตะทั้งช่วงกลางสัปดาห์และสุดสัปดาห์ ลงสนามสัปดาห์ละ 2 นัดติดต่อกันหลายสัปดาห์

นอกจากจะพักน้อยแล้วยังเตะถี่ขึ้น ร่างกายนักเตะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ก็ทำให้เสี่ยงประสบปัญหาบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น ดังปรากฏข้อมูลเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนว่า หลังผ่านการแข่งขันเกมลีก 9 นัดแรก มีนักเตะทีมต่างๆ ได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อรวมแล้วถึง 133 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว 23 เปอร์เซ็นต์

บางคนเจ็บหนัก อาจนำไปสู่การสูญเสียโอกาสในการติดทีมชาติไปลุยศึกฟุตบอลถ้วยใหญ่ “ยูโร 2020” ที่ย้ายไปแข่งในปีหน้าอีกด้วย

 

ปี2020 เดิมมีกำหนดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ถึง 2 รายการ หนึ่งคือฟุตบอลยูโร 2020 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของทัวร์นาเมนต์ ทาง “สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า)” กำหนดให้ตระเวนแข่งขันใน 12 เมืองทั่วยุโรป

แต่พอเจอโควิดเข้าไป ก็ต้องเลื่อนแข่งขันไป 1 ปี เป็นปี 2021 แทน

และยูฟ่ากำลังประเมินว่าอาจจะต้องลดจำนวนเมืองเจ้าภาพลง เพื่อเลี่ยงการเดินทางไปหลายประเทศซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิดได้ แน่นอนว่า 12 เมืองเดิมที่ทุ่มทุนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแล้ว ย่อมเสียโอกาสในส่วนนี้

นอกจากยูโรแล้ว มหกรรมกีฬา “โอลิมปิกเกมส์ 2020” เป็นอีกหนึ่งรายการใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนกรกฎาคมปีหน้า ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าอาจทำให้เจ้าภาพญี่ปุ่นต้องขาดทุนถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.8 แสนล้านบาท) ขณะที่กระแสสังคมของคนในประเทศอยากให้เลื่อนไปอีกหรือไม่ก็ยกเลิกไปเลย เพราะถึงปีหน้าก็ยังไม่แน่ว่าโควิดจะคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม ทั้งญี่ปุ่นและ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)” อยู่ในภาวะหลังชนฝา ไม่สามารถถอยได้อีก เพราะถ้าเลื่อนออกไปอีกก็หมายถึงภาวะขาดทุนอีกมหาศาล

ดังนั้น มีแค่ 2 ทางคือจัดตามกำหนดการใหม่เท่าที่จะทำได้ หรือไม่ก็ยกเลิกไปเลยเท่านั้น

 

เอ่ยถึงความ “สูญเสีย” อีกรูปแบบหนึ่ง ไม่พ้นการเสียชีวิตของคนดังในวงการกีฬาโลก อาทิ “ดอน ชูล่า” ตำนานโค้ชทีมอเมริกันฟุตบอล ไมอามี่ ดอลฟินส์, “เปาโล รอสซี่” อดีตแข้งทีมชาติอิตาลีชุดแชมป์โลก, “เชราร์ อุลลิเย่ร์” กุนซือทริปเปิลแชมป์ของลิเวอร์พูล

แต่ความสูญเสียชนิดช็อกโลกที่เกิดขึ้นในปีนี้คงไม่พ้นอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อปลายเดือนมกราคม ซึ่งคร่าชีวิต “โคบี้ ไบรอันต์” ตำนานบาสเกตบอลของทีมแอลเอ เลเกอร์ส ที่เสียชีวิตพร้อมลูกสาว และบุคคลอื่นๆ อีกรวม 9 คน

ขณะที่ช่วงปลายปี แฟนกีฬาต้องช็อกอีกครั้งเมื่อรู้ข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของ “ดิเอโก้ มาราโดน่า” ตำนานลูกหนังชาวอาร์เจนไตน์ ซึ่งมีอาการหัวใจวายหลังเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดอาการลิ่มเลือดอุดตันในสมองได้ไม่กี่วัน

เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่แฟนกีฬาหลายคนยังทำใจไม่ได้จนทุกวันนี้