จริงตนาการ : กีฬาไทย-กีฬาโลก ปีหน้า เข้าข่าย “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง”

วงการกีฬาโลกกำลังรอดูสถานการณ์ของ “ไวรัสโควิด-19” ว่าจะเดินไปทิศทางไหนในปีหน้า เนื่องจากมีการแข่งขันหลายรายการใหญ่รออยู่

“โอลิมปิกเกมส์ 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม ต่อด้วย “พาราลิมปิกเกมส์ 2020” ที่กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม-5 กันยายน รวมทั้ง “ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป “ยูโร 2021”” ที่จัดใน 12 เมืองทั่วทวีปยุโรป ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน-11 กรกฎาคม “ฟุตบอลโคปา อเมริกา” ที่ประเทศอาร์เจนตินา และโคลอมเบีย ซึ่งแข่งวันและเวลาเดียวกันกับยูโร 2021 พอดีเป๊ะ

ในส่วนของประเทศไทย กำลังต้องเตรียมนักกีฬาในการแข่งขันหลายรายการตลอดปีหน้า รายการใหญ่คงหนีไม่พ้นโอลิมปิกและพาราลิมปิก รวมทั้ง “กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31” ที่ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม แต่ยังมีอีก 2 รายการที่ไทยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพและต้องไปอัดรวมกันในปีหน้า

“กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ 2021” ระหว่างวันที่ 21-30 พฤษภาคม ที่เพิ่งได้รับสิทธิไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน และมีเวลาเตรียมงานไม่ถึงปี รวมทั้ง “กีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน ครั้งที่ 19” ที่ จ.อุบลราชธานี รับหน้าเสื่อมีกำหนดจัดในกลางปีนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไประหว่างวันที่ 17-26 พฤศจิกายน ปีหน้าแทน

เรียกได้ว่านักกีฬาไทยมี 5 มหกรรมให้บู๊กันในปีหน้า ยังไม่นับรวมมหกรรมกีฬาในประเทศที่ขยับจากปีนี้ไปแข่งในปีหน้า ทั้ง “กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์”” เลื่อนจากระหว่างวันที่ 5-15 ธันวาคม เป็น 5-15 มิถุนายนปีหน้า และ “การแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 37” เลื่อนไปแข่งระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2564

ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าวัคซีนรักษาและป้องกันไวรัสโควิด-19 จะผลิตออกมาได้เมื่อไร และการแข่งขันจะต้องเลื่อนหรือยกเลิกออกไปหรือไม่

ดังนั้น การเตรียมการแข่งขันรายการที่ว่ามาทั้งนั้น ยังคงดำเนินการต่อไป

 

สําหรับโอลิมปิกและพาราลิมปิก ญี่ปุ่นยืนยันว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะจัดตามกำหนดอย่างแน่นอน และมีมาตรการรองรับอยู่แล้ว หลังจากนี้จะมีการประกาศความชัดเจนด้านต่างๆ ออกมามากขึ้น

แต่มหกรรมที่น่าห่วง คือ กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 คณะกรรมการจัดการแข่งขันยังคงมั่นใจว่าจะจัดการแข่งขันได้ และเดินหน้าเตรียมการเป็นเจ้าภาพไปแล้วพอสมควร

“”บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) บอกว่า ยังคงเดินหน้าตามแผนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะยังไม่มีคำสั่งอะไรจาก คณะกรรมการบริหารสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ให้เลื่อน หรือยกเลิก ซึ่งตอนนี้ กกท.ได้อนุมัติเงินจำนวน 250 ล้านบาท มาปรับปรุงซ่อมแซมสนามกีฬาต่างๆ ที่จะใช้เป็นสังเวียนในศึกนี้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องของงบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ตอนนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณ ในส่วนของนักกีฬา และเจ้าหน้าที่จากต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาในประเทศไทยช่วงนั้นราว 9 พันกว่าคน เราจะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมอีกราว 60-70 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับคัดกรอง และหาสถานที่กักตัวให้เพียงพอกับทุกคน

ความน่าเป็นห่วงคือ ถ้าสถานการณ์ของโควิด-19 ในทวีปเอเชียยังไม่ดีขึ้น แล้วต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปอีก สถานการณ์ของไทยก็คงไม่ต่างจากญี่ปุ่น ที่ต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเลื่อนการแข่งขันออกไป เพราะต้องมีค่าบำรุงรักษาสนามแข่งขัน และภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าเบี้ยเลี้ยงเก็บตัวนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมต่อเนื่องไปจนกว่าจะแข่งขันได้

เรื่องนี้ ดร.ก้องศักดแสดงความคิดเห็นว่า ต่อให้เกิดกรณีเลวร้ายที่สุด สถานการณ์โควิด-19 คุมไม่อยู่ ทำให้ต้องยกเลิกการแข่งขัน ก็เชื่อว่าการเตรียมการครั้งนี้ของเราจะไม่ศูนย์เปล่า เพราะสนามกีฬาก็ชำรุดทรุดโทรมจำเป็นต้องซ่อมแซมอยู่แล้ว ในส่วนของนักกีฬาเองก็ถือเป็นการเก็บตัวต่อเนื่องไป เพราะนอกจากเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ แล้วยังมีโอลิมปิกเกมส์และซีเกมส์รออยู่

 

น่าคิดมากว่า ถ้าโควิด-19 ยังป่วนไปทั่วโลก และทุกประเทศยังคงจำกัดการเดินทางเข้า-ออกแบบนี้ การแข่งขันกีฬาจะออกมาในรูปแบบไหน แน่นอนว่าต้องมีบางชาติที่ขอถอนตัวไปเพราะความไม่อยากเสี่ยง และมองว่าความปลอดภัยของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคนสำคัญกว่าเหรียญรางวัล

“โธมัส บาค” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ออกมาบอกว่า ไม่อยากให้สมาชิกแม้แต่ชาติเดียว ไม่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ เพราะหลายครั้งที่ผ่านมา 206 ชาติทั่วโลกต่างเข้าร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา นักกีฬาทุกคนที่ได้โควต้าเพียงแค่รักษาสุขภาพร่างกายไม่ให้มีเชื้อโควิด-19 และฝึกซ้อมเตรียมตัวให้ดี ก็เพียงพอที่จะได้ไปแข่งขันแล้ว

สำหรับกองเชียร์เอง ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้เข้าสนามในจำนวนเท่าไร แต่ถ้ายังมีการแพร่ระบาดอยู่ โอกาสที่จะได้เห็นความคึกคักแบบแน่นขนัดอย่างในอดีตคงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ถึงแม้ว่าเจ้าภาพจะเตรียมเทคโนโลยีและแผนการรองรับผู้ชมให้เข้าสนามแบบเต็มความจุเอาไว้แล้วก็ตาม

ในส่วนของไทย การจัดกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ถูกมองว่าจะเป็นการแสดงศักยภาพในการรับมือโควิด-19 ในอีกขั้นหนึ่ง หลังจากป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศมาได้หลายเดือนแล้ว ถ้าจัดการแข่งขันเสร็จสิ้นไปโดยที่ทุกคนปลอดจากเชื้อ จะยิ่งได้รับเครดิตที่สูงขึ้นไปอีก แต่บอกเลยว่างานนี้ยากเอามากๆ และอาจจะโดนคนในประเทศจำนวนมากไม่พอใจที่เอาคนต่างชาติกว่าหมื่นคนเข้ามาเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้ออีก

ต้องยอมรับว่าถึงนาทีนี้ การถอยหลังก็เสียหาย เดินหน้าก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง เหมือนเพลงที่บอกว่า “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง”

ถือว่างานของคนกีฬาในปีหน้า หนักหนาสาหัสจริงๆ