เงาปีศาจ : Smart National Sports Park โปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซ กกท.

“ศูนย์กีฬาหัวหมาก” ถ.รามคำแหง เป็นศูนย์กีฬาหลักของการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์กีฬาแห่งนี้มีวิวัฒนาการ และประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน จากอดีตหลายทศวรรษจนก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักให้กับวงการกีฬาประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้…

จุดเริ่มต้นของ กกท.ก่อตั้งขึ้นโดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เมื่อปี พ.ศ.2507 โดยมีชื่อเดิมเริ่มแรกว่า “องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย” หรือ “อ.ส.ก.ท.” ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงเป็นองค์กรเล็กๆ และมีที่ตั้งอยู่ที่อาคารสระว่ายน้ำโอลิมปิก (สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์ในปัจจุบัน) ภายในกรมพลศึกษา สนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน ซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2507

ก่อนจะย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่ย่านหัวหมาก กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 195 ไร่ ซึ่งสภาพก่อนใช้เป็นเพียงพื้นที่โล่ง แวดล้อมด้วยป่าหญ้าคา มีถนนลาดยาง 1 ช่องทางเท่านั้น ก่อนที่เวลาต่อมาได้รับการพัฒนา โดยมีการก่อสร้างอินดอร์สเตเดี้ยม, เวโลโดรม, สระว่ายน้ำ, สนามยิงปืน และสนามยิงเป้าบิน เพื่อรองรับกับการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2509 ทำให้ความเจริญด้านผังเมืองมุ่งหน้ามาสู่สนามกีฬาย่านหัวหมาก จากนั้นเพื่อนบ้านข้างเคียงอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มอบที่ดินให้อีกราว 70 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่

รวมแล้วทำให้ กกท.มีพื้นที่ทั้งหมดราว 270 ไร่

 

ศูนย์กีฬาหัวหมากได้พัฒนาให้กลายเป็นศูนย์หลักของวงการการกีฬาไทย โดยภายในประกอบด้วย สนามกีฬาหลัก 2 สนาม คือ ราชมังคลากีฬาสถาน และอินดอร์สเตเดี้ยม ที่ผ่านการจัดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติมาแล้วนับไม่ถ้วน รวมถึงยังมีสนามกีฬาอื่นๆ ทั้งเวโลโดรม, สนามยิงปืน, สระว่ายน้ำ, สระกระโดดน้ำ, อาคารบริการสนามเทนนิส, ศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อการแข่งขัน, ศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม, ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ฯลฯ รวมถึงยังเป็นสถานที่ทำการของ กกท. และอาคารอีกหลายหลัง

ปี พ.ศ.2528 “นายไพบูลย์ วัชรพรรณ” ผู้ว่าการ กกท.คนแรก เสนอของบประมาณ 500 ล้านบาทสำหรับก่อสร้างสนามกีฬากลางที่มีความจุ 80,000-100,000 ที่นั่ง ภายในสนามกีฬาหัวหมาก เพื่อแบ่งเบาภาระการจัดกีฬาระดับนานาชาติของสนามศุภชลาศัย ก่อนเริ่มก่อสร้างราชมังคลากีฬาสถานขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2531 และสร้างเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 รวมเวลาก่อสร้าง 2,443 วัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 630 ล้านบาท

ปลายปี พ.ศ.2561 “บิ๊กก้อง” “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” เข้ามาดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย” คนที่ 13 พร้อมกับผุดไอเดียในการยกระดับวงการกีฬาเมืองไทยหลายๆ โครงการ หนึ่งในนั้นคือ การปรับปรุงศูนย์กีฬาหัวหมากที่ใช้งานมาอย่างยาวนานสู่การเป็น “Smart National Sports Park” หรือ “ศูนย์กลางทางการกีฬาอย่างครบวงจรของประเทศไทย”

กระทั่งปี 2563 คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการ Smart National Sports Park ภายใต้กรอบงบประมาณวงเงิน 12,373,593,733 บาทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาและออกแบบโมเดล Smart National Sports Park

 

กกท.วางโครงสร้างสัดส่วนของหัวหมาก สปอร์ตส ปาร์ค ที่มีเนื้อที่ 265 ไร่ ไว้ดังนี้ พื้นที่สนามกีฬา 74% พื้นที่นันทนาการ 8% พื้นที่พาณิชยกรรม 1% และพื้นที่อื่นๆ 17%

หลักการพัฒนา “Smart National Sports Park” เรื่องของพื้นที่ในการพัฒนากีฬา จะแบ่งออกเป็น พื้นที่สําหรับการพัฒนาความเป็นเลิศด้านกีฬาทั้งในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การกีฬา และการแพทย์ด้านกีฬา เพื่อสนับสนุนนักกีฬา และบุคลากรทางด้านการกีฬา การพัฒนาพื้นที่ให้บริการและสนับสนุนทางการกีฬา เพื่อสามารถสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ และส่งเสริมกิจกรรมกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยการรวมงานระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานพื้นที่แบบครบวงจรจัดการแข่งขัน จัดงานขนาดใหญ่ พื้นที่พาณิชยกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา อาทิ ห้องประชุม ห้องฝึกอบรม ศูนย์กลางการค้าด้านกีฬา รวมถึงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและนันทนาการส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชน

การก่อสร้าง และปรับปรุง จะแบ่งออกเป็น 3 เฟส

โดยเฟสแรก ปี 2563-2565 เฟสที่สอง ระหว่างปี 2566-2569 เฟสที่สาม ระหว่างปี 2570-2575 กรอบงบประมาณที่ตั้งไว้ในการดำเนินโครงการ Smart National Sports รวมทั้งสิ้น 12,373,593,733 บาท

จำแนกเป็นดังนี้ “สนามกีฬาในร่ม (อินดอร์สเตเดี้ยม)” 1,283,193,500 บาท / “ราชมังคลากีฬาสถาน” 4,860,000,000 บาท / “ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา (Sports Industry Center)” 908,881,875 บาท / “ศูนย์พัฒนาบุคลากรกีฬา (Sports Personnel Develpoment Center)” 342,219,000 บาท / “อาคารที่พักนักกีฬา 800 เตียง” โดยแบ่งเป็นโซนโรงแรม 400 ห้อง (800 Beds Athlete Dormitory) 555,207,000 บาท / “ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ (National Training Center)” 1,985,142,000 บาท / “ศูนย์กีฬาทางน้ำ (Aquatic Center)” 1,060,530,358 บาท / “ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports Science Center)” 98,000,000 บาท / “ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านกีฬา” 300,000,000 บาท / “อาคารที่พักนักกีฬา 1,200 เตียง (1,200 Beds Athlete Dormitory)” 584,228,000 บาท / “อาคารที่พักสำหรับประชาชน (Minisport)” 326,050,400 บาท / “ที่พักบุคลากรสูง 4 ชั้น” 43,974,400 บาท

พื้นที่สีเขียว 24,180,000 บาท / ถนนใหม่ 1,987,200 บาท

 

ด”ร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า มั่นใจมากกว่าถ้า Smart National Sports Park ก่อสร้างเสร็จในอีก 6 ปีข้างหน้า จะมีความทันสมัยกว่าสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ เพราะเขามีพื้นที่จำกัด แต่เรามีพื้นที่มากกว่า หรือฮ่องกงที่มีปรับสนามบินไคตั๊ก มาเป็นสนามกีฬา เราได้ศึกษาแนวทางจากสิงคโปร์มาอย่างละเอียด โดยสิงคโปร์เปิดใจเต็มที่ว่าเคยผิดพลาดอะไร จัดระบบสัมปทานแล้วพิจารณาไม่ดี ทำให้เมื่อภาครัฐต้องจะใช้ประโยชน์กลับต้องจ่ายค่าใช้ให้เอกชนที่สูงมาก ซึ่งก็เอาประสบการณ์เหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะกับไทย

Smart National Sports Park อยู่ในเมืองและมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ทำให้การเดินทางสะดวก สามารถตอบสนองความต้องการด้านกีฬาได้อย่างสะดวกมากขึ้น Smart National Sports Park จะมีศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ (National Training Center) เป็นหัวใจหลักของพื้นที่

หลังจากที่มีการสร้างที่ศูนย์หัวหมากเสร็จแล้ว กกท.ก็จะขยายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด ทั้งสนามพรุค้างคาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่, สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา, ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก กิตติพุทโธ ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันในอนาคต

 

ด”ร.ก้องศักด ยอดมณี” กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่สันทนาการเกี่ยวกับการกีฬา ที่จะมาในรูปแบบศูนย์การค้า หรือสวนสนุกนั้น จากการปรึกษากับกรมธนารักษ์ คงไม่สามารถใช้เรื่องของการค้ามาเป็นวัตถุประสงค์หลักได้ แต่ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมกีฬา คือ ร้านค้ากีฬา สถานสุขภาพ จึงต้องนำไปรวมกับศูนย์อุตสาหกรรมกีฬา ที่เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้กับเรื่องธุรกิจกีฬา นวัตกรรมกีฬาอยู่แล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีร้านขายของ ร้านอาหารดีๆ ที่ได้มาตรฐาน มารองรับให้บริการกับประชาชนที่เข้ามาเล่นกีฬา และพักผ่อนหย่อนใจ

เราไม่เน้นว่าจะต้องหากำไรจากการตั้งศูนย์อุตสาหกรรมกีฬา แต่จะเป็นสถานที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศเป็นหลัก และใครอยากจะได้อุปกรณ์กีฬาอะไรต้องนึกถึงที่นี่ และต้องมาที่นี่

สำหรับเรื่องการก่อสร้างจากแผนที่วางไว้ 6 ปี ถึงแม้จะไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของศูนย์กีฬาหัวหมากไปในทางที่ทันสมัยมากขึ้น พร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาต่างๆ ในอนาคต เชื่อมั่นว่า Smart National Sports Park จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ด้านกีฬาและการใช้ชีวิตในวิถีคนกีฬาและคนรักสุขภาพของเมืองไทย

โครงการ Smart National Sports Park ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ถือเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซเพื่อยกระดับวงการกีฬาเมืองไทยอย่างแท้จริง…