เงาปีศาจ : มวยไทย “New Normal” วิถีใหม่เพื่อความอยู่รอด วิถีกอบกู้ศักดิ์ศรีคนกีฬา

การเขย่าโลกของเจ้าเชื้อไวรัส” “โควิด-19” สร้างความเสียหายแก่มนุษย์โลก อย่างที่ประเมินค่าแทบไม่ได้…

เวลาเพียงครึ่งปีที่” “โควิด-19” แพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้หลายๆ วงการทั้งเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม ฯลฯ รวมไปถึงกีฬา ต้องชะงักตัว ทุกอย่างนิ่งสงบ รอเวลาที่เชื้อไวรัสร้ายจะสิ้นฤทธิ์ หรือจนกว่าชาวโลกจะมียารักษาโรคโควิด-19 เมื่อนั้นทุกอย่างจะกลับมาสู่ภาวะปกติอย่างเต็มรูปแบบ

ช่วงขาลงของ” “โควิด-19” หลายๆ ประเทศเริ่มปลดล็อก คลายล็อกให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตแบบปกติ รวมไปถึงประเทศไทยหลายๆ วงการเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ

แต่เป็นการกลับสู่ภาวะปกติแบบฉบับ” “New Normal”

วงการกีฬาของเมืองไทยก็เช่นกัน รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาอนุมัติตามที่ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อนุญาตให้ 14 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย ฟุตบอล, จักรยาน, เทนนิส, เจ๊ตสกี, รถจักรยานยนต์, กอล์ฟ, มวย, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, ตะกร้อ, บาสเกตบอล, รถยนต์, โบว์ลิ่ง และสนุ้กเกอร์

แน่นอนว่าที่สังคมไทยจับจ้องมากเป็นที่สุดกลับไม่ใช่กีฬามหาชนอย่างฟุตบอล เพราะฟุตบอลวางแผนไว้ชัดเจนว่าจะกลับมาลงสนามแข่งขันอีกครั้งเดือนกันยายน 2563 แต่กลับกลายเป็นกีฬา” “มวยไทย” ที่สังคมจับจ้องมากเป็นที่สุด

สาเหตุเพราะ” “มวยไทย” ถูกสังคมไทยตราหน้าว่าเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อ” “โควิด-19” ในเมืองไทยจากเหตุการณ์การแข่งขันมวยที่เวทีลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

ดังนั้น ทุกย่างก้าวของ “มวยไทย” จำเป็นต้องรอบคอบที่สุด ปลอดภัยที่สุด เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีคนมวยไทยกลับคืนมา

 

ข้อกำหนดที่ ศบค.กำหนดสำหรับการกลับมาแข่งขันแบบปิด ไม่อนุญาตให้แฟนมวยเข้าชมในส่วนของกีฬา” “มวยไทย” ได้แก่

จัดให้มีกล้องวงจรปิดเพื่อใช้ในการบันทึกภาพการให้และเข้าร่วมกิจกรรมบริเวณต่างๆ รอบสถานที่ เพื่อติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือมีระบบแจ้งเตือนกรณีพบผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ สามารถจัดให้มีเจ้าหน้าที่แจ้งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทันที

ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่แข่งขัน ให้มีจำนวนไม่เกิน 50 คน โดยกำหนดจำนวนกลุ่มผู้เข้าร่วม แบ่งเป็น นักมวย, พี่เลี้ยง, หัวหน้าค่าย ฝั่งละไม่เกิน 4 คน รวมเป็น 8 คน / ผู้ตัดสินให้คะแนน, ผู้ตัดสินห้ามบนเวที, ประธานผู้ตัดสิน คู่ละ 5 คน / วงปี่พาทย์ ไม่เกิน 5 คน / แพทย์และพยาบาลสนาม จำนวน 2 คน / ผู้สนับสนุน จำนวนไม่เกิน 10 คน / ผู้บรรยายแข่งขันมวย, พิธีกร จำนวนไม่เกิน 2 คน / ผู้รักษาเวลา 1 คน / เจ้าหน้าที่สนามมวย ไม่เกิน 7 คน / เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสดไม่เกิน 10 คน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 50 คน

โดยต้องเตรียมนวมชกมวยให้เพียงพอตามจำนวนนักกีฬา (1 คน / นวม 1 คู่) ห้ามใช้นวมซ้ำกันในการแข่งขันวันเดียวกัน

จัดให้มีฉากกั้นอะคริลิก 4 ด้าน สำหรับกรรมการให้คะแนนทุกท่าน เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งจากตัวนักกีฬา และผู้ติดตามนักมวย

ประเด็นสำคัญคือ นักมวยที่เข้าแข่งขันต้องผ่านการตรวจโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการแบบบุคคลหรือแบบรวมตัวอย่าง (pooled sample testing) นักมวยต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ก่อนและหลังการแข่งขัน และล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล 70% บ่อยครั้ง ทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน

ลดการพูดคุยที่ไม่จำเป็นระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม หากจำเป็นควรพูดโดยใช้ระดับเสียงปกติ ไม่ตะโกน งดเว้นการจับมือ โอบกอดแสดงความดีใจ และเลี่ยงไอ หรือจามใกล้ผู้อื่น

รวมถึงให้นักมวยหลีกเลี่ยงการเข้าปล้ำวงใน ทั้งในการซ้อม และในการแข่งขัน ส่วนผู้ตัดสินห้ามมวยบนเวทีให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวนักมวย และให้ใช้สัญญาณเสียง หรือสัญญาณมือแทน

หลังแข่งขันเสร็จ นักมวยและผู้ติดตามนักมวย (ผู้ฝึกสอน/หัวหน้าค่าย) กรรมการ และบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันต้องรายงานตัวเป็นระยะเวลา 14 วันต่อแพทย์สนามมวย เพื่อติดตามสุขภาพร่างกายผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือการโทร.แบบวิดีโอผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์

มวยไทยเริ่มกลับมาต่อยรายการแรกกันไปแล้วกับศึก” “จ้าวมวยไทย” ของเวทีมวยสยามอ้อมน้อย ยุคใหม่ของมวยไทย “New Normal” มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่หน้าเวทีจะมีจุดคัดกรอง ด้านในมีการฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ อุปกรณ์นวม ชุดนักมวย ในห้องพักมีการแบ่งเตียงนักมวย โดยมีที่กั้น รวมถึงจำกัดควบคุมคนบริเวณข้างสนามมีแค่พี่เลี้ยงไม่กี่คนเท่านั้น

ภาพการใส่เฟซชิลด์ เป็นภาพที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในวงการมวยไทย เมื่อกรรมการบนเวทีต้องสวมเฟซชิลด์ ใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือยาง ทำหน้าที่ห้ามบนเวที ขณะที่นักมวยก่อนขึ้นสังเวียนไปจนถึงขั้นตอนไหว้ครูก็ต้องสวมเฟซชิลด์ ส่วนพี่เลี้ยงที่อยู่ข้างมุมก็ต้องใส่ตลอดเวลา กรรมการผู้ให้คะแนนนก็ใส่เฟซชิลด์ จึงถือเป็นภาพใหม่ที่แปลกตา

ส่วนการชกมีสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ พอไม่มีคนดู ไม่มีเซียนมวย ทำให้นักมวยเลือกเดินเข้าหาออกอาวุธตั้งแต่ยกแรก เปิดแลกชิงจังหวะกันสนุก ออกอาวุธครบ 3 ยก ทำให้อรรถรสการรับชมมวยไทยเข้มข้นยิ่งขึ้น

แต่มวยเข่าลำบาก เพราะได้ปรับกติกาเล็กน้อย โดยจังหวะคลุกวงใน ถ้ากอดปล้ำไม่ออกอาวุธ หรือออกอาวุธแล้วไม่ชัดเจน กรรมการรีบจับแยกทันที

ดังนั้น นักมวยประเภทขุนเข่าจึงเสียเปรียบ จะมากอดรัดฟัดเหวี่ยงตัวกลมแบบเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว มวยเข่าจึงต้องปรับตัว มาแลกแข้งแลกหมัดวงนอกและฝึกปรืออาวุธวงนอกมากขึ้น อีกหนึ่งบรรยากาศคือ ไร้เสียงเชียร์ ไม่มีเซียนมวยกดดัน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินด้วย

ทำให้นักมวยต้องปรับตัวกันพอสมควร ทั้งการชกกับคู่ต่อสู้ และการชกแบบไร้เสียงเชียร์

 

“สมิงดำ ฉ.อจลบุญ” ซึ่งเป็นมวยคู่เอกที่ชนะคะแนน “เพชรสุนทรี จิตรเมืองนนท์” ในไฟต์ปฐมฤกษ์ บอกว่า ไม่มีคนดูก็รู้สึกแปลกๆ เพราะปกติจะมีคนดูคอยเชียร์ ส่วนกรณีที่กรรมการจะเข้าห้ามเร็วในจังหวะคลุกวงในตีเข่าต้องเห็นใจกรรมการ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ทางสนามมวย โปรโมเตอร์ก็จะโดนต่อว่าได้ คิดว่าตอนนี้วงการมวยกลับมานับหนึ่ง แล้วก็คิดว่าน่าจะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ แต่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

“วิบูณ จำปาเงิน” ผอ.สำนักคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) บอกว่า ตอนนี้ 6 สนามมวยดังอย่างราชดำเนิน, ลุมพินี, เวทีช่อง 7, อ้อมน้อย, รังสิต และธนกร สเตเดี้ยม สามารถจัดการแข่งขันแบบปิดได้ตามปกติ แต่ต้องเฝ้าระวัง และทำตามคู่มือมวยไทยแบบ New Normal ขณะเดียวกัน กกท.ได้เตรียมมาตรการระยะ 2 ให้มวยไทยแข่งขันโดยมีผู้ชมในสนาม แต่ให้เว้นระยะห่างทางสังคม 2 เมตร จำกัดแฟนมวยเข้าสนามไม่เกิน 1 ใน 3 ของความจุเพื่อให้สนามมีรายได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ “โควิด-19″ ในเมืองไทยว่าจะลดระดับลงไปถึงจุดใดอีกด้วย ซึ่ง กกท., กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. จะต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวร่วมกันอย่างรอบคอบต่อไป

นี่เป็นวิถีมวยไทยเวอร์ชั่น” “New Normal” ที่คนวงการมวยไทยทุกองคาพยพจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ฝั่งผู้ชมการแข่งขันอาจต้องแปลกตากับวิถีแบบใหม่ของการแข่งขันมวยไทยไปบ้าง

แต่เราต้องอดทนเพื่อร่วมกันต่อสู้กับไวรัส “โควิด-19” ที่กำลังรุกรานชาวไทย และชาวโลกในเวลานี้…