เมอร์คิวรี่ : ผ่าแผนจัด “กีฬาวิถีใหม่” มาตรการสู้ “วิกฤตโควิด”

ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่แน่นอนการใช้ชีวิตของคนทุกประเภทจะต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยายในรูปแบบของ* “ชีวิตวิถีใหม่”* หรือ* “นิวนอร์มอล”* รวมทั้งวงการกีฬาเองด้วยที่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป…

แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. ประกาศปลดล็อกเฟส 4 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่อนุญาตให้สนามกีฬา หรือสถานที่ออกกำลังกาย เพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา สามารถจัดการแข่งขัน และจัดให้มีการถ่ายทอดโทรทัศน์ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมในสนามแข่งขัน!

การจัดการแข่งขันกีฬาทุกประเภทจะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยการวางมาตรการเข้มข้นในการจัดการแข่งขัน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และป้องกันการแพร่ระบาดรอบสองของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสนุกตื่นเต้นของเกมกีฬาที่จะลดลงตามไปด้วย

แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด…

 

สําหรับมาตรการและขั้นตอนการดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬารูปแบบใหม่นั้น *กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)* ได้เชิญตัวแทนสมาคมกีฬาต่างๆ รวมทั้งผู้จัดการแข่งขันมาร่วมประชุมร่วมกัน เพื่อวางมาตรการเข้มข้นในการจัดกีฬา โดยไม่มีผู้ชม ซึ่งมีทั้งหมด 16 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย

กอล์ฟ, ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, ตะกร้อ, บาสเกตบอล, เทนนิส, จักรยาน, รถยนต์, รถจักรยานยนต์, สนุ้กเกอร์, โบว์ลิ่ง, เจ็ตสกี, แบดมินตัน, มวยไทย, วิ่งมาราธอน และกลุ่มมหกรรมกีฬาในประเทศต่างๆ เพื่อวางแนวทางการจัดการกีฬาแบบนิวนอร์มอลร่วมกัน

สิ่งสำคัญที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการจัดกีฬานิวนอร์มอลคือ คู่มือในการจัดการแข่งขันของทุกชนิดกีฬา ซึ่งภายในคู่มือจะมีทั้งมาตรการหลัก มาตรการเสริม และมาตรการการป้องกันโรค

รวมทั้งการติดตามผลที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถจัดการแข่งขันได้ และป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ในเวลาเดียวกัน

 

ยกตัวอย่างในส่วนของกีฬายอดนิยมอย่าง *ฟุตบอล* และ *มวยไทย* ก็ได้มีการวางมาตรการเข้มจากการระดมผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมหารือประชุมร่วมกันก่อนที่จะได้มีการสรุปมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นระเบียบข้อบังคับใหม่ที่เตรียมนำไปใช้ในการจัดการแข่งขันจริง

สำหรับการจัดการแข่งขัน* “ฟุตบอลวิถีใหม่”* ในศึกไทยลีก ฤดูกาล 2020 เตรียมจะกลับมาฟาดแข้งกันอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน แต่จะไม่มีแฟนบอลเข้าชมในสนาม และได้มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าสนามได้ไม่เกิน 200-250 คน รวมนักกีฬา และไม่มีแฟนบอล รวมทั้งไม่มีการสัมผัสมือก่อนการแข่งขัน

แต่ก่อนเริ่มการแข่งขันจะปรับให้นักกีฬาไหว้แทน และไม่มีการใช้เด็กจูงนักเตะลงสนาม หรือการตั้งแถวในอุโมงค์ก่อนเริ่มการแข่งขัน เพื่อจะไม่ให้มีความแออัดในอุโมงค์, การจัดพื้นที่ในม้านั่งสำรอง หรือเขตเทคนิค อาจจะต้องขยายเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักกีฬาสามารถนั่งแยกกันได้

ขณะที่ลูกฟุตบอลเองจะต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้ง หลังจากที่บอลออกนอกสนาม รวมทั้งการดีใจหลังทำประตูแบบเว้นระยะห่าง ให้นักฟุตบอลสัมผัสตัวกันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้, ทุกคนในสนามต้องใส่หน้ากากอนามัยทั้งหมด ยกเว้นผู้ตัดสิน กับนักกีฬาที่แข่ง และกำลังวอร์ม, ห้ามบ้วนน้ำลาย และวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสนาม

 

ทางด้านของการจัดการแข่งขัน* “มวยไทยวิถีใหม่”* ได้มีการตกลงมาตรการร่วมกันไว้ โดยมาตรการหลักคือ ค่ายมวยกับสนามแข่งขันจะมีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ไทยชนะ รวมทั้งก่อนเข้าสนามจะต้องมีจุดคัดกรองเข้าออกทางเดียว มีการวัดไข้, หมั่นทำความสะอาดพื้นที่, จัดให้มีระบบระบายอากาศที่เพียงพอ, มีกล้องวงจรปิดเพื่อใช้บันทึกภาพ

นอกจากนี้ นักมวยจะต้องกักตัวที่ค่ายของตัวเองก่อนขึ้นชก 14 วัน พร้อมกับงดเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง โดยในสนามมวยจะจำกัดจำนวนคนในสนามไม่เกิน 50 คน โดยทั้งหมดจะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม, ตรวจวัดไข้, ลงทะเบียนทางไทยชนะ, หลีกเลี่ยงการปล้ำวงในตอนฝึกซ้อมด้วย

ขณะที่ในช่วงแข่งขัน พี่เลี้ยง-ผู้ฝึกสอน ต้องสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือตลอดการแข่งขัน, ผู้ตัดสินบนเวทีหลีกเลี่ยงการสัมผัส ในลักษณะกอดนักมวย ให้ใช้สัญญาณมือหรือเสียงแทน ส่วนนักมวยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลายกเว้นตอนแข่งขัน รวมทั้งนวมชกมวยและอุปกรณ์ ต้องมีเฉพาะนักมวยแต่ละคน และทำความสะอาดสนามแข่งหลังจบการแข่งขันแต่ละคู่

ในส่วนกติกาการชกจะไม่ลดจำนวนยกให้เหลือ 3 ยก แต่ยังชก 5 ยก ยกละ 3 นาทีเช่นเดิม จากนั้นเมื่อชกเสร็จผู้ที่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณสนาม-ห้องพักทันที เพื่อให้มีเวลาทำความสะอาด ด้านผู้ชมการแข่งขันแม้จะชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ แต่ห้ามชุมนุมหรือรับชมการแข่งขันมวยเกิน 5 คน, ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง

เช่นเดียวกับการจัดการแข่งขันกีฬาชนิดอื่นๆ ที่จำเป็นที่จะต้องมีคู่มือในการจัดการแข่งขัน เพื่อเป็นการวางมาตรการแนวทางอย่างเข้มงวดในการจัดกีฬาวิถีใหม่ และป้องกันโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดได้ว่า จะต้องเป็นอยู่ในรูปแบบเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไรกว่าจะมีแฟนกีฬาสามารถเข้าชมการแข่งขันได้ตาม* “ปกติใหม่”*

 

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นมาตรการจัดกีฬาวิถีใหม่ในยุคโควิด-19 ที่ทุกชนิดกีฬาจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอดของบรรดาเหล่านักกีฬาอาชีพ รวมทั้งทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน และเจ้าหน้าที่ต่างๆ เพื่อเดินหน้าเข้าสู่รอบการแข่งขันกีฬาอาชีพที่ช่วยหมุนเวียนรายได้ให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญให้กับวงการกีฬา รวมทั้งมวลมนุษยชาติที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบ* “ปกติสุข”* ได้คือ วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าที่การทดลองในขั้นตอนต่างๆ จะเสร็จสิ้น และสามารถนำวัคซีนมาใช้รักษาคนได้

ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างนี้ คนทั่วทั้งโลกในทุกวงการจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับ* “ชีวิตวิถีใหม่”* รวมทั้งวงการกีฬาด้วยที่จะต้องเดินหน้าเข้าสู่ “กีฬาวิถีใหม่” ซึ่งคนในวงการกีฬาทุกคนอาจจะไม่คุ้นชิน แต่เป็นมาตรการสำคัญในการต่อสู้ และป้องกันกับโรคอุบัติใหม่ของโลกในนี้

ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไรกว่าการแข่งขันกีฬาจะกลับมาเป็นปกติตามเดิม แต่กีฬาวิถีใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้วงการกีฬายังเดินหน้าต่อไปได้ในยุคที่ต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่เรายังไม่สามารถหาวิธีเอาชนะมันได้!

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่