เด็กเก็บบอล : อำลา “อัษฎางค์ ปาณิกบุตร” การจากไปของ “จิ้งเหลนไฟ”

นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าอีกครั้งสำหรับวงการฟุตบอล เมื่อต้องสูญเสียอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชื่อดัง เจ้าของฉายา “จิ้งเหลนไฟ” อย่าง *อัษฎางค์ ปาณิกบุตร* ซึ่งลื่นล้มในห้องน้ำที่บ้านพักตัวเอง เสียชีวิตไปด้วยวัย 81 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร คืออดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชื่อดังคนหนึ่ง ที่หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลแล้วได้ผันตัวไปเป็นอาจารย์ ก้าวไปถึงการเป็น *คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง* ก่อนที่จะเกษียณและเป็นนักวิจารณ์ วิเคราะห์ด้านการเมืองที่เก่งที่สุดในเมืองไทยคนหนึ่ง

ประวัติของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2482 เติบโตในชุมชนใกล้ๆ *สนามกีฬาแห่งชาติ (ศุภชลาศัย)* จบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเทศบาลวัดช่างแสง

ก่อนสอบเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่ *โรงเรียนเทพศิรินทร์* โรงเรียนชื่อดังที่โดดเด่นด้านกีฬาฟุตบอล

 

ด้วยความที่อัษฎางค์เป็นเด็กที่ชื่นชอบฟุตบอล และเริ่มเตะฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ดังนั้น เส้นทางของเขาในวงการลูกหนังจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนเข้าไปเรียนที่เทพศิรินทร์นั่นเอง

เริ่มติดทีมของโรงเรียน และเป็นคู่ซ้อมแปบอลให้กับสุชาติ มุทุกันต์ ซึ่งเป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมากในเวลานั้น

จนกระทั่งอยู่ ม.8 ระหว่างที่เล่นอยู่ในสนามศุภชลาศัย ก็มีผู้ใหญ่มาสอบถามว่าต้องการจะเล่นฟุตบอลพระราชทานถ้วยน้อยหรือไม่

จนสุดท้ายก็ได้เล่นให้กับทีมช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ลงแข่ง *ฟุตบอลถ้วย ข* เก็บประสบการณ์มาและย้ายไปเล่นให้กับทีมศิษย์เก่าเทพศิรินทร์

จากนั้น อัษฎางค์ได้ไปศึกษาต่อที่ *มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์* เมื่อ พ.ศ.2501 และเริ่มติดทีมชาติไทยในชุดเยาวชน ไปแข่งขันฟุตบอลเยาวชนแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 ที่ประเทศมาเลเซีย ร่วมทีมกับ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง (อดีตประธานไทยพรีเมียร์ลีก)

และยังมีเพื่อนซี้อย่างสุพจน์ พานิช (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ที่เคยเล่นร่วมกันสมัยอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ อยู่ในทีมชุดเดียวกันด้วย

การได้ติดทีมเยาวชนทีมชาติไทยตอนนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นในทีมชาติของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร เพราะว่าจากนั้นก็สามารถไต่เต้าจนขึ้นมาติดทีมเยาวชนรุ่นยู-19, ยู-23 ไปจนถึงชุดใหญ่

และยังสังกัดทีมสโมสรธนาคารกรุงเทพอีกด้วย

 

ตํานาน “จิ้งเหลนไฟ” เคยเล่าถึงชีวิตตัวเองให้กับ “มติชน” เอาไว้ว่า ตอนเด็กๆ ที่เริ่มเล่นฟุตบอลก็ได้เจอกับต่างชาติที่มาแข่งขันก็ให้เป็นเด็กเก็บบอลอยู่หลังประตู คอยดูเขาเล่น เราก็นำเอาเทคนิคที่เขาใช้มาฝึกฝนด้วยตัวเอง

“เรื่องที่น่าจดจำคือ ฟุตบอลไทยได้ไป *โอลิมปิกเกมส์* เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1956 ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย คือตอน พ.ศ.2499 ทีนี้พวกเขาไม่มีคู่ซ้อมเลยเอาเด็กสนามกีฬาไปซ้อมด้วย ไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นผมในวัย 17 ปี จะได้เคยเป็นคู่ซ้อมให้กับสุชาติ มุทุกันต์ ซึ่งเป็นนักฟุตบอลที่ดังมากในสมัยนั้น”

อัษฎางค์ยังเล่าต่อว่า บรรยากาศในแคมป์ทีมชาติ ตอนนั้นอายุแค่ 19 ปี ยังเป็นเด็กหัวเกรียนอยู่ ไม่มีโค้ชก็ต้องดูแลกันเอง

พวกรุ่นพี่ก็มักบอกให้ผมเตะไปข้างหน้าอย่าเลี้ยง แต่ผมดูฝรั่งเล่นเยอะก็พยายามเลี้ยง ครองบอล ส่งไม่ให้เสีย เลยโดนจับนั่งสำรอง

แต่เราไม่สนใจและเล่นสไตล์ของเรามาตลอดจนได้รับการยอมรับ แต่ก่อนผมเล่นแรง เกเร มึงเตะมากูเตะไป พักครึ่งก็ออกมาสูบบุหรี่ แต่วันหนึ่งเราได้มีโอกาสปรึกษากับ *นพ.ประกอบ บุรพรัตน์* เขาก็เตือนเราว่าสูบบุหรี่ไม่ดีนะ มันทำให้เหนื่อยเร็ว

พอเราติดทีมชาติมันมีความหมายมาก เพราะเป็นเรื่องยาก จึงเลิกบุหรี่ทันทีเพื่อจะทำให้ตัวเองเก่งขึ้น พร้อมกับปรับตัวเองใหม่ เล่นตามกติกา และเลิกเล่นตุกติก

“เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เป็นความภูมิใจครั้งแรกของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญมีคนมาเชียร์ มาให้กำลังใจ ดังนั้น เราต้องฟิต เลยกลายเป็นคนที่วิ่งเยอะที่สุดในทีมจนเป็นฉายาจิ้งเหลนไฟ ตอนนั้นตัดสินใจว่าอย่างอื่นไม่เอาเลย ให้ฟุตบอลเป็นหลัก หางานทำเพื่อเล่นฟุตบอล และเรียนหนังสือให้จบ จากนั้นก็ตัดสินใจเลิกเล่นทีมชาติเมื่อตอนอายุ 28 ปี แล้วก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา”

 

กลับมาจากสหรัฐก็ได้สมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะกำลังหาคนสอนอาชญาวิทยาอยู่เลยได้เป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ เพราะสมัยนั้น รัฐศาสตร์ถือว่าเป็นสาขาในคณะนิติศาสตร์ จนมีการตั้งคณะรัฐศาสตร์ ก็ได้เป็นอาจารย์ประจำคณะ จนกลายเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านนี้

ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง เพื่อนสนิทของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร ได้พูดถึงการจากไปของเพื่อนซี้ว่า อัษฎางค์เป็นคนซีเรียส จริงจังเสมอ มีระเบียบวินัยในตัวเองดีมากๆ ใครที่วินัยไม่ดีก็จะโดนด่าตรงๆ เลย

อย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นคนน่ารัก เข้ากับทุกคนได้ดี มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

“ตอนเขาเลิกเล่นบอลไปเรียนต่อ ผมก็ไปเรียนต่อเหมือนกัน จนกลับมาเจอกันอีกก็มีโอกาสไปกินข้าวกัน ไปตีเทนนิสกันอยู่บ้างตามประสาเพื่อนเก่า ผมไม่แปลกใจที่เขาไปโด่งดังกับการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพราะสมัยเขาเล่นบอลเขาก็พวกชอบแสดงความคิดเห็น คิดอะไรพูดอย่างนั้นเลย เขาเป็นคนตรงไปตรงมา จนกระทั่งเขามาจากไป ผมยังรู้สึกใจหาย” ดร.วิชิตกล่าว

ก็นับว่านี่คือการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลไทย และวงการการเมืองไทยด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร มา ณ โอกาสนี้…