SearchSri : รักบี้ญี่ปุ่น ปรากฏการณ์แหวกกระแสชาตินิยม

ศึก “รักบี้ เวิลด์คัพ” ที่ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินมาต่อเนื่องยาวนาน 1 เดือนครึ่ง ก่อนปิดฉากลงในวันที่ 2 พฤศจิกายน

หนึ่งในทีมที่เป็นไฮไลต์ของทัวร์นาเมนต์ปีนี้ คงต้องยกให้ “ญี่ปุ่น” เจ้าของฉายา “เบรฟ บลอสซอมส์” ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในฐานะแชมป์กลุ่มเอ กับสถิติชนะรวด 4 นัด ทั้งที่อยู่ร่วมกลุ่มกับทีมเก่าแก่ที่มีภาษีในวงการดีกว่าอย่างไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ รวมถึงทีมที่โดดเด่นในการเล่นรักบี้ 7 คนอย่างซามัว

ส่วนการปราชัยให้อดีตแชมป์โลกอย่าง “แอฟริกาใต้” ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายขาดลอย 3-26 ก็ไม่ถือว่าน่าผิดหวัง เพราะด้วยประสบการณ์ ฝีมือ และชื่อชั้น ล้วนเป็นรองทั้งหมด

ผลงานของเบรฟ บลอสซอมส์ ในรักบี้ เวิลด์คัพ หนนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นเต้นและการมีส่วนร่วมของคนในประเทศเป็นอย่างมาก

และยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นเมื่อพิจารณาว่า นักกีฬารักบี้ทีมชาติญี่ปุ่นชุดนี้เป็นนักกีฬาต่างชาติหรือเกิดในต่างประเทศแบบครึ่งต่อครึ่ง

 

ถือเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจสำหรับประเทศที่มีความชาตินิยมสูงอย่างแดนอาทิตย์อุทัย

โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่ตอนเก็บตัวฝึกซ้อมก่อนตัดตัวนักกีฬาร่วมแข่งขันศึกเวิลด์คัพแล้ว

เนื่องจากตอนเรียกเก็บตัวนักกีฬาที่จังหวัดมิยาซากิช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม มีทั้งนักกีฬาชาวเกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ ซามัว ตองกา ฟิจิ หลายคนกำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น

ขณะที่บางคนย้ายไปใช้ชีวิตที่นั่นนานพอจนได้สัญชาติญี่ปุ่นแล้ว พอตัดตัวนักกีฬา 31 คน ก็มีนักกีฬาที่เกิดในต่างแดนมากถึง 16 คน

เหตุผลที่มีนักกีฬาเชื้อสายต่างชาติหรือเกิดในต่างแดนมากขนาดนี้ เพราะการแข่งขันรักบี้ เวิลด์คัพ ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องการโอนสัญชาตินักกีฬา

โดยระบุว่าคนที่เกิดหรือมีเชื้อสายประเทศนั้นๆ สืบย้อนได้ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย หรือใช้ชีวิตในประเทศนั้นๆ นาน 36 เดือนติดต่อกันก่อนแข่งก็สามารถลงเล่นให้ทีมชาติได้แล้ว แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เคยเล่นให้ทีมชาติอื่นมาก่อนเท่านั้น

หมายความว่านักกีฬาหลายคนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น หรือใช้ชีวิตทำงานในญี่ปุ่นมานานก็สามารถลงเล่นให้เบรฟ บลอสซอมส์ได้

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกรณีนี้คือ “ไมเคิล ลีตช์” กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายฟิจิ ซึ่งไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 15 และเข้าทำงานกับบริษัท “โตชิบา” ก่อนได้รับสัญชาติญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

นักกีฬาบางคนเป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ หรือเป็นลูกครึ่ง แต่ไปเกิดในประเทศที่เก่งกีฬารักบี้ เช่น “โคทาโร่ มัตสุชิมะ” เกิดที่แอฟริกาใต้ จึงได้บ่มเพาะขัดเกลาฝีมือมาตั้งแต่เด็ก

ญี่ปุ่นมีนักกีฬาเชื้อสายต่างชาติหรือเกิดในต่างแดนร่วมทีมรักบี้ตั้งแต่เวิลด์คัพครั้งแรกในปี 1987 ขณะที่ “เจมี่ โจเซฟ” โค้ชชาวนิวซีแลนด์ที่คุมทีมเบรฟ บลอสซอมส์ ลุยเวิลด์คัพปีนี้ก็เคยติดทีมชาติลุยรายการนี้เมื่อปี 1999

การใช้นักกีฬาต่างชาติช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเสียเปรียบด้านสรีระและความแข็งแกร่งของร่างกาย แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ ก็โดนต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผลงานไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะเกิดคำถามว่า การใช้นักกีฬาต่างชาตินั้นคิดถูกหรือคิดผิด

แต่มุมมองจากสังคมญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้เริ่มเปลี่ยนไปในการแข่งขันครั้งที่แล้วเมื่อปี 2015 ซึ่งเบรฟ บลอสซอมส์ พลิกโค่นทีมเต็งอย่างแอฟริกาใต้ได้จนกลายเป็นกระแสฮือฮา และนักกีฬาได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษ

ยิ่งมาสานต่อความสำเร็จในเวิลด์คัพปีนี้ยิ่งทำให้กระแสของเบรฟ บลอสซอมส์ดีเข้าไปอีก และน่าจะทำให้นโยบายเรื่องดึงนักกีฬาต่างชาติหรือเกิดในต่างแดนร่วมทีมได้รับฟีดแบ๊กที่อบอุ่นจากคนในประเทศ

บนเงื่อนไขที่อาจต้องเผื่อใจว่า นโยบายนี้จะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีตราบใดที่ผ่านการแข่งขันออกมาดีหรือรักษามาตรฐานเอาไว้ได้

ถ้าพลาดพลั้งผลงานย่ำแย่ขึ้นมา สถานการณ์ก็อาจเปลี่ยนได้เช่นกัน