พิศณุ นิลกลัด : เมื่อนักกีฬาเป็นผู้กำหนดแฟชั่น

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันบาสเกตบอล NBA จะเริ่มฤดูกาล 2019-2020 ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้

ทุกๆ ปี สิ่งที่แฟน NBA ให้ความสนใจไม่แพ้การแข่งขันบาสเกตบอลในสนามก็คือ ช่วงเวลาประชันแฟชั่นของนักบาส NBA ตอนที่ลงจากรถส่วนตัวหรือรถบัสของทีม แล้วเดินบนถนนหรือลอดอุโมงค์ทางเชื่อมเข้าสู่สนามแข่งขัน

ช่วงเวลาสั้นไม่กี่นาทีนี้ สื่อมวลชนจะบันทึกภาพทุกย่างก้าวให้แฟนๆ NBA ได้เห็นกันทั่วโลก

ดังนั้น ทุกครั้งเราจะเห็นว่านักบาส NBA ทุกคนแต่งตัวมาแบบจัดเต็ม ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ

 

ดเวย์น เวด (Dwayne Wade) อดีตแชมป์ NBA 3 ครั้ง (2006, 2012, 2013) กับทีม Miami Heat และเพิ่งประกาศเลิกเล่นเมื่อเดือนเมษายน หลังจากแข่ง NBA มา 16 ฤดูกาล บอกว่าการเดินจากรถเข้าสนามถือเป็นเรื่องใหญ่ใน NBA

เวดเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่เขาและเพื่อนร่วมทีม Miami Heat จะลงจากรถบัสเพื่อเข้าสู่สนามในการแข่งขันเกมเยือน ผู้เล่นทุกคนจะมีเช็กลิสต์ของตัวเองว่าต้องจัดแจงเครื่องแต่งกายให้เรียบร้อย ทั้งตบกางเกงยีนส์ให้เข้าที่ ปรับแขนเสื้อให้เรียบ

ก้มมองใต้หัวเข่าว่าเชือกรองเท้าผูกเรียบร้อยและขอบขากางเกงสูงพอดีจนถุงเท้าลายเท่ๆ ข้างในโผล่ออกมาให้เห็นเล็กน้อย

ซึ่งในระหว่างที่เดินไปตามทางของอุโมงค์ก็อาจมีนักบาส NBA หลายคนทำเป็นไม่สนใจกล้องที่คอยจับภาพทุกย่างก้าว

แต่ความจริงคือพวกเขาจัดเครื่องแต่งกายมาอย่างดีก่อนลงจากรถแล้ว เพราะทราบว่าตัวเองกำลังจะเดินเข้าสู่ลานแฟชั่นโชว์ที่คนทั้งโลกจับตามอง

 

เรเชล จอห์นสัน (Rachel Johnson) สไตลิสต์วัย 45 ปี เป็นผู้ออกแบบการแต่งตัวให้เลอบรอน เจมส์ (LeBron James), คริส พอล (Chris Paul), แคม นิวตัน (Cam Newton) และนักกีฬาชื่อดังอีกหลายคน บอกว่าประเพณีอวดแฟชั่นก่อนเกมการแข่งขันนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดในยุคนี้

เพราะเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่นักบาส NBA จะเปลี่ยนทางเดินในอุโมงค์เข้าสู่สนามให้กลายเป็นแคตวอล์ก เหล่านักสู้ตั้งแต่ยุคโรมันก็เคยเดินเท้าเข้าสู่ลานประลองโคลอสเซียม (Colosseum) ด้วยแฟชั่นที่ดูมีสง่าราศี สร้างความมั่นใจและดูน่าเกรงขาม

เป็นธรรมเนียมที่นักสู้ทุกประเภททำก่อนการสู้รบทุกครั้ง และสืบทอดต่อกันมาจนถึงนักกีฬาทุกวันนี้

 

ก่อนหน้านี้นักบาส NBA แต่งตัวแบบตามใจฉัน สบายๆ เหมือนอยู่บ้าน หรือแต่งตามนักร้องฮิปฮอป ดูไม่ภูมิฐาน ไม่มีความเป็นนักกีฬามืออาชีพ

กระทั่งเดือนตุลาคม ปี 2005 เดวิด สเติร์น (David Stern) ผู้บริหารสูงสุดของ NBA ในยุคนั้นได้ประกาศบังคับใช้กฎการแต่งตัว (Dress code) กำหนดว่านักบาส NBA จะต้องแต่งตัวดูดีตั้งแต่เวลาเดินทางมาแข่งขัน หลังแข่งเสร็จ เวลานั่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังแข่งเสร็จ

แม้ช่วงเวลาที่บาดเจ็บ ลงแข่งไม่ได้ เวลามานั่งเชียร์ข้างสนามร่วมกับทีม ก็ต้องแต่งหล่อ

โดยมีกฎว่า ห้ามสวมสร้อยคอใหญ่เป็นโซ่, เครื่องประดับชิ้นโต, กางเกงขาสั้น, เสื้อแขนกุด, เสื้อยืดคอกลม, หมวกเบสบอล

กางเกงยีนส์สวมได้ แต่ต้องเป็นแบบที่ดูดีไม่ขาดเป็นรู หรือไม่สวมแบบหลุดก้น

หากนักบาสเกตบอลคนไหนฝ่าฝืนจะถูกปรับเงิน และถ้าทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะถูกสั่งให้พักการแข่งขัน

ช่วงแรกๆ ของการประกาศใช้ Dress code เราจึงเห็นนักบาส NBA แต่งตัวดีมากเวลามาถึงสนาม หลายคนสวมสูทดูภูมิฐานเหมือนกำลังจะเข้าประชุมงานสำคัญ

เมื่อเวลาผ่านไปก็มีวิวัฒนาการของแฟชั่นที่ดูทันสมัยขึ้น และทาง NBA ก็ลดความเข้มงวดของ Dress code ลงอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

 

เรเชล จอห์นสัน ได้พบกับเลอบรอน เจมส์ ในปี 2005 ผ่านทางเจย์ ซี (Jay-Z) เจ้าพ่อแร็พ ลูกค้าเก่าของเรเชล หลังจากที่เลอบรอนวัย 20 ปีมองเห็นโอกาสทางการตลาดที่เขาจะได้รับผ่านทางแฟชั่นการแต่งตัว จึงตัดสินใจจ้างเรเชลมาเป็นสไตลิสต์ดูแลการแต่งตัว เสริมภาพลักษณ์

สไตล์การแต่งตัวของเลอบรอนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ชุดสูท 3 ชิ้น ดูภูมิฐาน หรือจะแต่งแบบเซอร์ๆ สวมเสื้อยืดกับกางเกงหนัง

สาเหตุที่เลอบรอนชอบแต่งตัวหลากหลายก็เพื่อให้คนคาดเดาไม่ออกว่าวันนี้เขาจะสวมชุดอะไร

 

แฟชั่นการแต่งตัวของนักกีฬาชื่อดังนั้นต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ว่าจะสวมชุดไหนเมื่อไหร่ โดยสไตล์การแต่งตัวแต่ละวันก็ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง เช่น เกมที่เดินทางมาแข่งวันนั้นถ่ายทอดสดในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุดหรือเปล่า คู่แข่งคือทีมไหน และสภาพอากาศวันนั้นมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

แต่ก็มีนักบาส NBA บางคนที่ไม่ใช้สไตลิสต์ช่วยเรื่องการแต่งตัวเลยคือ รัสเซลล์ เวสต์บรูก (Russell Westbrook) Point Guard วัย 30 ปี ของ Houston Rockets ซึ่งแต่งตัวเก่ง สไตล์การแต่งตัวแปลกแหวกแนวทุกครั้งที่เดินเข้าสนาม

เสื้อผ้าทุกชิ้นเขาเป็นคนเลือกซื้อเอง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อแฟชั่นแนวล้ำสมัย (fashion-forward)

ปี 2014 เขาเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าในแบรนด์ของตัวเองคือ Westbrook XO Barneys” New York เป็นเสื้อผ้าที่มีลวดลาย elephant-print สีสันสะดุดตา

รวมถึงกระเป๋า รองเท้า แว่นตา และหมวก วางขายที่ห้างบาร์นีย์ส นิวยอร์ก (Barneys” New York) ซึ่งเป็นห้างหรูในอเมริการะดับเดียวกับห้างเอ็มควอเทียร์ของไทย

ปี 2018 เวสต์บรูกเปิดตัวคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าใหม่ของตัวเอง ชื่อ Inner City ภายใต้แบรนด์ Honor the Gift แฟชั่นหลักๆ คือเสื้อคอกลม เสื้อสเวตเตอร์ และหมวก ซึ่งล้วนได้แรงบันดาลใจจากชุมชนเมือง Los Angeles ที่เขาเกิดและเติบโต

เคยมีคนถามเวสต์บรูกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งตัวจากไหน

เขาตอบว่าได้จากโรงแรม, งานศิลปะ, ภาพยนตร์, รวมทั้งได้แรงบันดาลใจจากเสื้อผ้าผู้หญิง

 

อีกคนที่แต่งตัวเก่งโดยไม่ต้องพึ่งสไตลิสต์เลยคือ เคลลี่ อูเบร จูเนียร์ (Kelly Oubre Jr.) Small Forward วัย 23 ปี ของ Phoenix Suns

มีสไตล์การแต่งตัวที่แปลกแหวกแนวไม่แพ้เวสต์บรูก ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ และสื่อในวงการแฟชั่น

แฟชั่นของนักบาส NBA และลีกกีฬาอเมริกันอื่นๆ เป็นสิ่งที่แฟนๆ ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากเพจในโซเชียลมีเดียมากมายที่โพสต์ภาพแฟชั่นการแต่งตัวประจำวันของนักกีฬา และจะมีลูกเพจจำนวนมากมาแสดงความคิดเห็น วิจารณ์เชิงบวกเชิงลบ เกิดเป็นบทสนทนาในโลกโซเชียล

ดังนั้น การแต่งตัวของนักกีฬาไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นหนึ่งในวิธีแสดงออกถึงบุคลิกของพวกเขาโดยไม่ต้องพูด

บางครั้งการแต่งตัวก็สื่อให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในทีม อย่างครั้งที่แบรดลีย์ บีล (Bradley Beal) ชักชวนให้เพื่อนๆ ในทีม Washington Wizards แต่งแฟชั่นสีดำล้วนมาก่อนเกมที่เปิดบ้านพบกับ Boston Celtics เมื่อเดือนมกราคม 2017 เพื่อจะส่งข้อความว่าเกมนัดนี้เป็น “funeral game” หรืองานศพที่พวกเขาจะจัดการฝัง Boston Celtics ซึ่งเป็นทีมเยือน

ผลปรากฏว่าการสร้างกำลังใจและข่มขวัญคู่แข่งประสบผลสำเร็จ ทีม Wizards ชนะ Celtics 123-108

 

ในอเมริกากล่าวกันว่า ยุคนี้นักบาส NBA มีอิทธิพลในการกำหนดเทรนด์แฟชั่นของวัยรุ่นและคนหนุ่ม

เมื่อแฟนๆ เห็นนักบาสคนโปรดสวมเสื้อผ้าหรือใช้กระเป๋าแบรนด์ต่างๆ ก็จะเกิดความรู้สึกอยากซื้อมาใช้บ้าง โดยเฉพาะผู้เล่นระดับท็อปๆ ของลีก อย่างเช่น เลอบรอน เจมส์, รัสเซลล์ เวสต์บรูก และเจมส์ ฮาร์เดน

ดังนั้น นักบาส NBA จึงถือว่ามีอิทธิพลต่อโลกแฟชั่นปัจจุบันพอสมควร

ฝรั่งมีสำนวนว่า Dress for Success แต่งกายเพื่อความสำเร็จ เพราะการแต่งกายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่คนอื่นมอง ขณะเดียวกันก็ส่งผลไปยังอารมณ์ของผู้สวมด้วย