เมอร์คิวรี่ : ผ่าปมวุ่นสังเวียนจัดศึก “ยู 23 เอเชีย” “รมต.พิพัฒน์” กาวใจ “กกท.-ส.บอล”

กลายเป็นปมวุ่นประเด็นใหญ่ในวงการกีฬาไทยสำหรับการปิดปรับปรุงสนามกีฬาของประเทศไทย เพื่อใช้รองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย ที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจาก “สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย” (เอเอฟซี) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันช่วงวันที่ 8-26 มกราคม 2563

ศึกชิงแชมป์เอเชีย รุ่นไม่เกิน 23 ปีรายการนี้ เป็นรายการคัดเลือก 3 ทีมตัวแทนทวีปเอเชียคว้าโควต้าผ่านไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงกลางปีหน้า

ซึ่งถือว่าเป็นรายการที่มีความสำคัญรายการหนึ่งของวงการลูกหนังเอเชีย และเป็นรองเพียงแค่ศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย “เอเชี่ยนคัพ” เพียงเท่านั้น

“สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” ได้ทำการคัดเลือกสนามที่จะใช้ในการจัดการแข่งขันเอาไว้ 4 สนาม ประกอบด้วย สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, สนามกีฬาติณสูลานนท์ จ.สงขลา และสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ โดยได้มีการปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานของเอเอฟในการจัดแข่งขันครั้งนี้ด้วย

สำหรับเงื่อนไขข้อบังคับของเอเอฟซีเรื่องสนามที่จะใช้จัดการแข่งขันนั้น ประกอบด้วย

1. ความจุสนามไม่ต่ำกว่า 5,000 ที่นั่ง

2. ไฟส่องสว่าง 1,800 ลักซ์

3. ห้องแต่งตัวนักเตะ 4 ห้อง

4. สนามฝึกซ้อม

5. โรงแรมที่พัก 4-5 ดาว

และ 6. การเดินทางไม่ห่างจากสนามบินนานาชาติ 200 กิโลเมตร รวมทั้งระบบการอำนวยความสะดวกต่างๆ

 

แต่ปรากฏว่า สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ที่ปิดปรับปรุงไปกว่า 2 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

โดยผู้รับผิดชอบอย่าง “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) ได้ออกมาชี้แจงว่า สนามแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เมื่อปี 2538 และผ่านมากว่า 30 ปีแล้วยังไม่เคยมีการปรับปรุงซ่อมแซมแต่อย่างใด

ทำให้การปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานเอเอฟซีนั้น จะต้องใช้ระยะเวลามากกว่าสนามกีฬาอื่นๆ

ขณะที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานก็ได้ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบกว่า 20 ปีนับตั้งแต่เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2541

ซึ่ง กกท.ต้องการปรับปรุงให้มีมาตรฐานสากลมากยิ่งกว่าข้อกำหนดเงื่อนไขของเอเอฟซีที่จะใช้ในการจัดศึกยู 23 เอเชีย

ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เกิดความกังวลอีกว่า สนามราชมังคลากีฬาสถานจะปิดปรับปรุงและเปิดทันกำหนดหรือไม่?

กลายเป็นเรื่องราวบานปลายลุกลามใหญ่โตเมื่อสนามแห่งหนึ่งไม่สามารถปรับปรุงทัน ส่วนอีกหนึ่งสนามก็จะปรับปรุงใหญ่โต จนกลายเป็น “ปมวุ่น” ระหว่าง กกท. กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

ร้อนไปถึง “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ต้องลงพื้นที่ตรวจการปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถาน พร้อมยืนยันว่า จะซ่อมทันตามกำหนด และตามเงื่อนไขข้อบังคับของเอเอฟซีอย่างแน่นอน

 

รมต.พิพัฒน์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางกาวใจในการประสานระหว่าง กกท.และสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เพื่อให้ดำเนินการปิดปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถานตามเงื่อนไขข้อกำหนดของเอเอฟซี รวมทั้งให้ทันตามกรอบเวลาการส่งมอบสนามภายในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนการปรับปรุงซ่อมแซมส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นก็ให้ กกท.ดำเนินการในภายหลังต่อไป

รมต.พิพัฒน์ระบุว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่พร้อมกับผู้ว่าการ กกท. และนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้ทำการสำรวจและดูความพร้อมของสนามราชมังคลากีฬาสถาน ก็ลงความเห็นและมั่นใจว่าจะสามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้ายได้

และจะสามารถปรับปรุงได้ทันกำหนดส่งมอบให้เอเอฟซีในช่วงเดือนธันวาคม ทั้งสนามแข่งขัน ตัวอาคาร ห้องพักนักกีฬา และห้องแถลงข่าวสื่อมวลชน

ขณะที่ “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า สนามราชมังคลากีฬาสถานเปิดใช้งานมากว่า 20 ปี โดยไม่มีการปรับปรุง จึงได้วางแผนที่จะปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการปรับปรุงตามเงื่อนไขข้อกำหนดของเอเอฟซี เพื่อให้ทันใช้จัดศึกยู 23 เอเชียอย่างแน่นอน

ส่วนแผนการปรับปรุงที่ไม่อยู่ในข้อกำหนดเอเอฟซี ทั้งเรื่องพื้นสนามหญ้า และเก้าอี้ที่นั่ง กกท.ก็จะไม่ยกเลิกแน่นอน

และจะดำเนินแผนปรับปรุงต่อไป แต่ไม่ให้กระทบกับการใช้สนามจัดการแข่งขันแน่นอน

 

ด้าน “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ระบุว่า ในช่วงวันที่ 20-24 กันยายน เอเอฟซีจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจความคืบหน้าในการปรับปรุงสนามแข่งขัน

โดยจากการลงตรวจสนามครั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากผู้ว่าการ กกท. ว่า จะเสร็จทันแน่นอน และได้รับคำแนะนำจาก รมต.พิพัฒน์ ว่า ให้ปรับปรุงในส่วนที่เป็นข้อกำหนดเงื่อนไขของเอเอฟซีก่อน

ส่วนอื่นที่ กกท.ต้องการจะปรับปรุงเพิ่มเติมก็ให้ทำภายหลังจากนั้น

ทั้งนี้ กกท.ต้องการที่จะปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถาน ให้มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากลยิ่งกว่าหลักเกณฑ์ของเอเอฟซี

เนื่องจากตั้งแต่ก่อสร้างมากว่า 20 ปียังไม่มีการซ่อมแซม จึงต้องการที่จะเปลี่ยนพื้นสนามหญ้าใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเปลี่ยนเก้าอี้ที่นั่งบนอัฒจรรย์ใหม่ และทาสีอาคารภายในให้มีความสวยงาม ทำให้อาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 3 เดือน

กกท.ได้ชี้แจงว่า ไม่ได้เพียงต้องการปรับปรุงสนามให้ใช้สำหรับศึกยู 23 ชิงแชมป์เอเชียเท่านั้น แต่มองถึงการยกระดับสนามให้ได้มาตรฐานสากล และรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ พร้อมทั้งบริการทุกสมาคมกีฬาได้อย่างเต็มรูปแบบ และให้บริการกับประชาชนทุกคน เพื่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าในการใช้บริการสนามกีฬาให้มากที่สุด

และจะดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

 

สําหรับปมวุ่นเรื่องการปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อใช้ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เริ่มมีทางออกร่วมกันที่ลงตัวแล้ว และคงจะดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาของเอเอฟซี แต่ปัญหายังไม่จบอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะต้องเร่งหาสนามแห่งใหม่มาใช้แทนสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปีที่ซ่อมแซมไม่ทันด้วย!

อย่างไรก็ตาม สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้วางแผนสำรองด้วยการคัดเลือก 7 สนามของสโมสรฟุตบอลในไทยลีก ประกอบด้วย 1.ลีโอ สเตเดี้ยม จ.ปทุมธานี (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด), 2.สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), 3.เอสซีจี สเตเดี้ยม จ.นนทบุรี (เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด), 4.ชลบุรี สเตเดี้ยม จ.ชลบุรี (ชลบุรี เอฟซี), 5.สิงห์ สเตเดี้ยม จ.เชียงราย (สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด), 6.สนามกีฬาสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี เอฟซี) และ 7.มิตรผล สเตเดี้ยม จ.ราชบุรี (ราชบุรี มิตรผล เอฟซี) แต่จะต้องขึ้นอยู่กับพิจารณาจากเอเอฟซีอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลของเอเอฟซีจะเดินทางมาตรวจสอบความพร้อมของสนามราชมังคลากีฬาสถาน รวมถึงสนามอื่นๆ ในช่วงวันที่ 20-24 กันยายน 2562 ก่อนที่จะมีการจัดงานจับสลากแบ่งสายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่โรงแรม สวิสโซเทล รัชดา ในวันที่ 26 กันยายน 2562 ต่อไป ซึ่งถือว่าเหลือระยะเวลาอีกไม่มากนักสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลรายการใหญ่ของทวีปเอเชียในครั้งนี้

นับถอยหลังเหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนเท่านั้น แต่ความพร้อมเรื่องสนามสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยังคงเป็นปมวุ่นที่ค่อยๆ คลายตัวออกไปเพียงทีละนิด ซึ่งยังไม่รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ รวมทั้งการเตรียมทัพนักเตะ “ช้างศึก” ทีมชาติไทยเข้าร่วมสู้ศึกการแข่งขันครั้งนี้ที่มีตั๋วลุยโอลิมปิกเกมส์เป็นเดิมพัน

จนอดคิดไม่ได้ว่า “ทัพช้างศึก” จะเกิดความ “ได้เปรียบ” หรือ “เสียเปรียบ” กันแน่กับการที่ประเทศไทยได้รับหน้าที่ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีในครั้งนี้???