เมอร์คิวรี่ : ผ่า 12 กฎกติกาใหม่ “ฟีฟ่า” สู่การพัฒนายุคลูกหนังโลก

“สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ” หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาใหม่ในการแข่งขันฟุตบอลสำหรับฤดูกาล 2019/2020 หรือ “Laws of The Game 2019/2020” บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” ได้เตรียมกฎกติกาใหม่ฟีฟ่ามาประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป…

สำหรับฟุตบอลเป็นกีฬาสากลที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จึงต้องมีกฎกติกาที่ใช้เหมือนกันทั่งโลก โดยฟีฟ่าเป็นฝ่ายรับผิดชอบออกแบบระเบียบข้อบังคับออกมา และได้ปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเรื่อยมา โดยในปี 2019 ฟีฟ่าได้ปรับกฎกติกาหลายอย่างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

วัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่การแข่งขันฟุตบอล เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นของนักฟุตบอล รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างการยอมรับมากขึ้น และเพิ่มระยะเวลาในการเล่น และให้เกิดความยุติธรรม เนื่องจากช่วงหลังมีกรณีชอบถ่วงเวลาในการแข่งขัน ดังนั้น จึงลดช่องว่างเหล่านั้น เพื่อสร้างให้เกมมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

คณะผู้ร่างกฎและกติกาสากลของสมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือ ไอแฟบ (International Football Association Board) ได้ออกกฎกติกาใหม่ เพื่อลดปัญหาข้อข้องใจของการตัดสิน และปรับปรุงกฎให้เข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีบทบาทและมีส่วนช่วยในการตัดสินเกมการแข่งขันของฟุตบอล

 

สําหรับกฎกติกาใหม่ของฟีฟ่านั้นจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 12 กติกา

โดยกติกาข้อแรกคือ “การเปลี่ยนตัวผู้เล่น” ต้องออกจากสนามในฝั่งที่ใกล้ที่สุด ไม่จำเป็นต้องเดินมาเปลี่ยนตัวที่เส้นกึ่งกลางสนามเหมือนเช่นที่ผ่านแล้ว หากผู้เล่นปฏิเสธจะออกจากสนาม ให้ดำเนินการแข่งขันต่อไปทันที

กติกาข้อที่ 2 “อุปกรณ์ของผู้เล่น” สำหรับผู้เล่นที่ใส่เสื้อด้านในจะต้องใส่เสื้อสีเดียวกับเสื้อเเข่งขันเท่านั้น

ขณะที่กติกาข้อที่ 3 “อำนาจและหน้าที่” ผู้ตัดสินสามารถคาดโทษเจ้าหน้าที่ทีมได้ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เตือน, คาดโทษ และไล่ออก

กติกาข้อที่ 4 “ระยะเวลาการแข่งขัน” ผู้ตัดสินสามารถหยุดพักเกมการแข่งขันเพื่อพักดื่มน้ำได้ตามดุลพินิจ โดยพักดื่มน้ำในช่วงปกติ 90 นาที พักได้ 3 นาที และพักดื่มน้ำในช่วงการต่อเวลาพิเศษได้ไม่เกิน 1 นาที

กติกาข้อที่ 5 การเริ่มการแข่งขัน และการเริ่มเล่นใหม่ ทีมชนะการเสี่ยงถ่ายเหรียญก่อนเริ่มเกม สามารถเลือกได้ว่า จะเลือกเป็นฝ่ายเขี่ยลูกก่อน หรือเป็นฝ่ายเลือกแดน การดร็อปบอล ในกรอบเขตโทษ ผู้รักษาประตูต้องเป็นคนเตะบอลเริ่มเกมอีกครั้งเท่านั้น

 

กติกาข้อที่ 6 “ลูกบอลอยู่ในและนอกการแข่งขัน” หากลูกบอลโดนผู้ตัดสิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเล่นของทีมบุก ให้ถือว่าบอลนั้นเป็นบอลตาย และเริ่มเกมใหม่อีกครั้ง ด้วยการดร็อปบอล หากบอลโดนตัวผู้ตัดสินแล้วไปชนเสา, ชนคาน หรือธงเตะมุม ให้ถือว่าเกมยังดำเนินต่อไป

กติกาข้อที่ 7 “การพิจารณาผลการแข่งขัน” ถ้าผู้รักษาประตูขว้างบอลเข้าสู่ประตูของฝ่ายตรงข้ามโดยตรง ไม่ถือว่าเป็นประตู และให้เริ่มเกมใหม่ด้วยการเตะลูกตั้งเตะแทน

กติกาข้อที่ 8 “การเล่นที่ผิดกติกาและประพฤติผิด”” หากมือหรือแขนของผู้เล่นฝ่ายรุกโดนบอลในกรอบเขตโทษ ให้ถือว่าเป็นแฮนด์บอลทุกกรณี โดยไม่พิจารณาว่าเจตนาหรือไม่

หากบอลที่โดนมือหรือแขนเข้าประตู หรือนำไปสู่การได้ประตู ให้ถือว่าไม่เป็นประตู นอกจากนี้ หากผู้เล่นตั้งใจเตะ หรือเขวี้ยงสิ่งของใดก็ตาม ใส่ผู้เล่นหรือทีมงานของฝ่ายตรงข้าม ต้องเสียฟรีคิกให้ทีมฝ่ายตรงข้าม

กติกาข้อที่ 9 “การเตะโทษ” (ฟรีคิก) การเตะโทษจากภายในเขตโทษตัวเอง บอลจะอยู่ในการเล่นเมื่อถูกเตะและเคลื่อนที่อย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องออกนอกเขตโทษ หากผู้เล่นทีมรุกสัมผัสบอล ขณะที่ผู้เล่นทีมรับกำลังจะเตะฟรีคิกในเขตโทษตัวเองให้เริ่มเตะฟรีคิกลูกนั้นใหม่อีกครั้ง ขณะที่ฟรีคิกของผู้เล่นฝ่ายรุก หากฝ่ายรับตั้งกำแพงเกิน 3 คนขึ้นไปผู้เล่นเกมรุกจะต้องอยู่ห่างจากกำแพงอย่างน้อย 1 เมตร

กติกาข้อที่ 10 “การเตะจุดโทษ” ผู้รักษาประตูจะต้องมีขาอย่างน้อยหนึ่งข้างต้องอยู่บนเส้นปากประตู ต่างจากเดิมที่ต้องยืนทั้งสองข้าง ทำให้เสียเปรียบผู้ยิง หากผู้ตัดสินเป่าให้ยิงลูกจุดโทษ ผู้เล่นต้องยิงจุดโทษทันที หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ตัดสินสามารถลงโทษได้ หากผู้ยิงจุดโทษสัมผัสบอลติดต่อกัน ก่อนที่บอลจะสัมผัสผู้เล่นคนอื่นจะเสียฟรีคิกให้ฝ่ายตรงข้าม

กติกาข้อที่ 11 “การทุ่ม” ผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ต้องยืนห่างจากเส้นขอบสนาม เป็นระยะทาง 2 เมตร (2 หลา) ในขณะที่มีการทุ่ม

และกติกาข้อที่ 12 การเตะจากประตู หากการเตะจากประตู ลูกบอลมีการขยับเคลื่อนไหวที่ชัดเจนให้ถือว่าเกมเริ่มในทันที โดยที่บอลไม่จำเป็นต้องออกจากกรอบเขตโทษอีกต่อไป

นอกจากนี้ หากมีการเตะจากประตูแล้วผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยังอยู่ในกรอบเขตโทษ เพราะไม่มีเวลาให้ออกจากกรอบเขตโทษ ให้เริ่มดำเนินเกมต่อได้ทันที และหากผู้เล่นคนนั้นขัดขวางการเล่นของผู้รักษาประตู ให้ผู้รักษาประตูเล่นลูกตั้งเตะจากประตูใหม่อีกครั้ง

 

พ”ล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน” ประธานคณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่า ฟีฟ่าทบทวนกติกาประจำทุกปี เพื่อปรับเปลี่ยนกติกา จุดบกพร่องต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาก็จะนำมาแก้ไขปรับปรุง ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้เล่น ถือเป็นการถ่วงเวลา

“กติกาใหม่จะช่วยสร้างความเป็นธรรม, เพื่อเกิดความปลอดภัยกับนักกีฬามากขึ้น, ทำให้เกิดความเป็นธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน, เกิดความเร้าใจในเกมการแข่งขัน และเกมมีความต่อเนื่องสนุกมากขึ้น ทุกกติกาที่แก้ไขเป็นผลดีกับวงการฟุตบอล สมาคมจะต้องทำความเข้าใจกับสโมสรสมาชิกและนักกีฬา รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทีม”

พล.ต.ท.อำนวยกล่าวอีกว่า อีกทั้งในช่วงเดือนตุลาคมนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะนำเทคโนโลยี VAR เข้ามาช่วยตัดสิน เชื่อว่าความผิดพลาดจะเกิดได้น้อยลง ซึ่งขณะนี้ก็มีการอบรมผู้ตัดสินในการใช้ VAR เพื่อให้ฟีฟ่ารับรองว่าเราพร้อมที่จะใช้แล้วอีกด้วย

“ต่อไปนี้ผู้ตัดสินมีอำนาจลงโทษให้ใบเหลืองหรือใบแดงกับเจ้าหน้าที่ทีมเช่นเดียวกับนักกีฬา รวมถึงประธานสโมสร ผู้จัดการทีม สต๊าฟโค้ช แม้กระทั่งนักกายภาพประจำทีม ถ้ามีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ทำผิดตามกติกาในสนาม สามารถให้ใบเหลือง ใบแดง โดนแบนและไล่ออกจากการทำหน้าที่ในสนาม” พล.ต.ท.อำนวยกล่าว

สำหรับกฎกติกาใหม่ทั้งหมด 12 ข้อของฟีฟ่าที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของวงการฟุตบอลปัจจุบันที่มีการพัฒนาก้าวล้ำไปตามยุคสมัย

ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละทีมชาติ แต่ละสโมสร รวมทั้งแฟนบอลทุกคนควรที่จะทำการศึกษากันให้ละเอียด เพื่อร่วมกันยกระดับเกมการแข่งขันให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย!