จริงตนาการ : เล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่ ของโตเกียว 2020

“ญี่ปุ่น” เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ 2020 สร้างปรากฏการณ์ใหม่หลายอย่างเพื่อการรับหน้าเสื่อมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติแบบที่ทั่วโลกยิ้มมุมปากบ้าง ตกตะลึงบ้าง

อย่างแรกที่อีกไม่กี่วันนักสะสมสายเสียวหลายคนจะต้องสะอื้นคือ การยุติการขายหนังสือโป๊ในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศภายในเดือนสิงหาคมนี้ทั้งหมด เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศด้วยการยกเลิกการขายหนังสือโป๊ในร้านสะดวกซื้อ ทั้ง “เซเว่น-อีเลฟเว่น” และ “ลอว์สัน” ที่มีรวมกว่า 34,000 สาขาทั่วประเทศ

สาเหตุที่ต้องเป็นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม เพราะก่อนหน้าโอลิมปิกเกมส์ แดนอาทิตย์อุทัยจะต้องเป็นเจ้าภาพรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 2 พฤศจิกายน

การยกเลิกขายหนังสือปกขาวในร้านสะดวกซื้อไม่ได้ทำแค่ในปีนี้หรือปีหน้า แต่จะยุติการขายตลอดไป โดยใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้น

โฆษกของเซเว่น-อีเลฟเว่น ญี่ปุ่น บอกเหตุผลในการตอบรับนโยบายครั้งนี้ว่า ปัจจุบันหนังสือโป๊ทำรายได้ให้กับบริษัทไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด ทำให้มีแนวคิดที่จะหยุดการขายอยู่แล้ว หลังจากพิจารณาในหลายปัจจัย

ที่สำคัญ ปัจจุบันเด็กและผู้หญิงใช้บริการเซเว่น-อีเลฟเว่นมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ผู้ชายเหมือนสมัยก่อน

สมัยก่อน ร้านสะดวกซื้อเป็นสถานที่ที่ผู้ชายวัยทำงานมักจะเข้ามาใช้บริการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ และของใช้เล็กๆ น้อยๆ ในช่วงเบรกหรือเลิกงาน แต่ปัจจุบันธุรกิจนี้เป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะมีหนังสืออย่างว่าวางให้เห็นโดยไม่มีอะไรปิดบัง

ก่อนหน้านี้ “มินิสต๊อป” ร้านสะดวกแบรนด์หนึ่ง ซึ่งก็ได้ยุติการขายหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ไปแล้วตั้งแต่ปี 2017 และ “แฟมิลี่มาร์ท” ก็ได้เลิกขายไปตั้งแต่ปี 2000 แล้ว

แต่กฎหมายของญี่ปุ่น หนังสือโป๊ในร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นจะขายให้กับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น

 

อีกเรื่องหนึ่ง ญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับ “โตโยต้า” ผู้สนับสนุนหลักกีฬาโอลิมปิก พัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีทั้งรถยนต์ไฟฟ้าหน้าตาล้ำสมัย และหุ่นยนต์รุ่นใหม่ 4 แบบ เพื่ออำนวยความสะดวกนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ชมที่เข้าร่วมการแข่งขัน

รถยนต์ที่ว่านี้มีชื่อ “เอพีเอ็ม” (Accessible People Mover) รวมทั้งหมด 200 คัน ซึ่งสามารถวิ่งได้ 100 ก.ม. รองรับผู้โดยสารได้ครั้งละ 5 คน

ส่วนหุ่นยนต์จะใช้ในการถ่ายทอดภาพ-เสียง ต้อนรับผู้ชม ช่วยกระตุ้นผู้ชมเพื่อเพิ่มบรรยากาศการแข่งขัน

นอกจากนั้น ยังใช้ในกรีฑา เคลื่อนที่ไปเก็บจักร แหลน ค้อน ที่นักกีฬาขว้างออกไปกลับสู่จุดแข่งขันได้

เป็นการทุ่นแรงเจ้าหน้าที่ในสนาม

 

โอลิมปิก 1964 ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพหนแรก ญี่ปุ่นนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองจนเป็นที่สนใจมาแล้ว โตเกียว ทาวเวอร์ ที่ใช้ในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน จนกลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้

และในโอลิมปิก 2020 ญี่ปุ่นมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง “ชินคันเซ็น” ความเร็วในปัจจุบันอยู่ที่ 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่คันที่กำลังจะเอามาใช้ครั้งแรกในโอลิมปิกที่จะถึงนี้มีชื่อว่า “แม็กเลฟ” ที่ใช้เทคโนโลยีและวัสดุตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวด ที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 505 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2027 แต่สำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ มีข่าวดีว่าจะเปิดให้ทดลองใช้บริการในระยะสั้น ที่สถานีโคฟุ

เหรียญรางวัลก็พิเศษเช่นกัน เจ้าภาพขอรับบริจาคอุปกรณ์จากโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อนำมาใช้ผลิตเหรียญ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าภาพโอลิมปิกทำในลักษณะนี้

แต่ความสำเร็จของญี่ปุ่นมีใน 2 มิติด้วยกัน อย่างแรก เป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์

อีกอย่างคือ เป็นการรับบริจาคจากประชาชนในประเทศ ไม่ใช่การหาซื้อมา ซึ่งประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

เสื้อผ้าของนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นที่จะใส่เข้าร่วมพิธีเปิด-ปิดการแข่งขันก็ใช้เสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล

ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นให้ความสนใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่สร้างความฮือฮา ที่เจ้าภาพหลายชาติไม่สามารถทำได้มาก่อน

ทำให้โตเกียว 2020 เป็นกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งขันด้วยซ้ำ