รู้หรือไม่ ? คนไทยกินเนื้อสัตว์กันคนละ กี่กิโลกรัมต่อปี : ยอดนักอเมริกันฟุตบอลดังก็เป็นมังสวิรัติ

พิศณุ นิลกลัด

เดือนพฤศจิกายนของทุกปี หลายประเทศจัดให้เป็นเดือนวีแกนโลก (World Vegan Month)

จุดเริ่มต้นเรื่องนี้เกิดขึ้นที่อังกฤษเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1994 ที่จัดให้เป็นวันวีแกนโลก (World Vegan Day) รณรงค์ให้คนลดการรับประทานอาหารที่มาจากสัตว์ เพื่อรักษาชีวิตสัตว์และรักษาสุขภาพของคนไม่กินเนื้อสัตว์ด้วย

ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว จึงมีการรณรงค์กันทั้งเดือนพฤศจิกายนให้เป็น World Vegan Month

คนที่เป็นวีแกน (Vegan) และเป็นมังสวิรัติ หรือ Vegetarian เหมือนกันตรงที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เหมือนกัน

แต่วีแกนเคร่งครัดกว่าคือ ไม่กินสิ่งที่สัตว์ผลิตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนม, เนย, ไข่ หรือน้ำผึ้ง ส่วนวีแกนที่เคร่งสุดขีดจะไม่สวมเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เข็มขัดที่ทำจากขนสัตว์และหนังสัตว์

ในหมู่นักอเมริกันฟุตบอล NFL ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในขณะนี้ การหันมาเป็นวีแกนกำลังเป็นวิถีการกินอาหารที่กำลังได้รับความนิยม

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทอม เบรดี้ (Tom Brady) นักอเมริกันฟุตบอล NFL ที่เก่ง หล่อ และแข็งแรงมาก วัย 41 ปี ของทีมนิว อิงแลนด์ เพทริออตส์ (New England Patriots) ได้ออกหนังสือชื่อ The TB12 Method : How to Achieve a Lifetime of Sustained Peak Performance (แนวทาง TB12 : วิธีรักษาสมรรถภาพสูงสุดให้ยั่งยืนตลอดชีวิต)

หนังสือเล่มนี้ของทอม เบรดี้ เปรียบเสมือนคัมภีร์ไบเบิลด้านสุขภาพและโภชนาการของนักกีฬาอาชีพ ที่นักกีฬาอาชีพหลายคนหันมาปฏิบัติตาม เพราะทอม เบรดี้ เป็นแชมป์ Super Bowl มากถึง 5 สมัย

แม้ทอม เบรดี้ จะไม่ได้เป็นวีแกน แต่ 80% ของอาหารที่เขากินเป็นผักและธัญพืช ส่วนอีก 20% เป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น สเต๊กออร์แกนิก เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ส่วนเนื้อแดงเขาไม่กิน

นักอเมริกันฟุตบอลทีมเทนเนสซี่ ไทแทนส์ (Tennessee Titans) เป็นทีมที่นักกีฬาในทีม 15 คนจากทั้งหมด 53 คนหันมาเป็นวีแกน หรือเป็นนักอเมริกันฟุตบอลพลังผัก

ซึ่งขัดกับความเชื่อที่มีมาแต่ไหนแต่ไรว่านักอเมริกันฟุตบอลร่างยักษ์ต้องกินอาหารจำพวกเนื้อ นม ไข่ เพื่อให้มีพลังในการแข่งขัน

ฤดูกาลนี้ ทีมเทนเนสซี่ ไทแทนส์ ทำผลงานได้ดีเยี่ยม อยู่อันดับต้นๆ ของสายในเวลานี้

จุดเริ่มต้นของการที่นักอเมริกันฟุตบอลทีมเทนเนสซี่ ไทแทนส์ หลายคนหันมาเป็นวีแกน เริ่มมาจากเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว เดร์ริก มอร์แกน (Derrick Morgan) ซึ่งเป็นผู้เล่นทีมรับร่างยักษ์ของทีม (สูง 193 เซนติเมตร หนัก 118 กิโลกรัม) หันมาเป็นวีแกน

เพราะแชริตี้ (Charity) ภรรยาของเดร์ริก เรียนจบจาก Le Cordon Bleu และมีอาชีพเป็น Personal Chef หรือเชฟส่วนตัวมานาน 15 ปี ได้ทำอาหารกล่องให้เดร์ริกไปกินตอนฝึกซ้อมตั้งแต่ปีที่แล้ว

เพื่อนร่วมทีมเห็นเมนูอาหารกล่องแบบวีแกนของเดร์ริกก็สนใจ เพราะดูน่ากิน จึงขอให้แชริตี้ภรรยาของเดร์ริกทำให้กินด้วย

และกลายเป็น Meal Plan หรือตารางอาหารวีแกนเพื่อสุขภาพที่แชริตี้ทำให้กับสามี

และเพื่อนร่วมทีมอีก 14 คน

สําหรับเมนูอาหารวีแกนของแชริตี้ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักอเมริกันฟุตบอลคือ แซนด์วิชขนุนผัดชีส หรือ Jackfruit Cheesesteak

ในอเมริกา ขนุนอ่อนเป็นอาหารยอดนิยมของคนที่ไม่กินเนื้อ นิยมนำมาใส่ในแซนด์วิชต่างๆ แทนเมนูแซนด์วิชที่ใส่เนื้อหมู

ขนุนกระป๋องที่ขายในอเมริกา จำนวนไม่น้อยมาจากประเทศไทย

ส่วนวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการประกอบอาหารวีแกนของแชริตี้ก็คือ ถั่ว, ข้าว และอโวคาโด

นักอเมริกันฟุตบอลทุกคนที่กินอาหารฝีมือเชฟแชริตี้บอกว่า อาหารวีแกนที่แชริตี้ทำให้กิน เวลากินอิ่มก็ไม่รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ซึ่งต่างจากเวลากินเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ การกินวีแกนก็ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลลดลง

สถิติความเร็วในการวิ่ง

ความแข็งแกร่ง อึดอดทน ก็ไม่ได้ลดลง

จึงทำให้นักอเมริกันฟุตบอลในทีมเทนเนสซี่ ไทแทนส์ ที่หันมาเป็นวีแกนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทานเนื้อสัตว์

กินแต่พืช ผัก ผลไม้ ก็เป็นยอดนักอเมริกันฟุตบอลได้

สนามกีฬาหลายแห่งในอเมริกา มีอาหารวีแกนขายให้กับแฟนๆ ที่เข้าไปชม

สนามกีฬาที่ได้รับการยกย่องว่ามีเมนูอาหารที่เป็นมิตรกับคนที่เป็นวีแกนที่สุดในประเทศ หรือ Most Vegan-Friendly Stadium in the Country คือ สนามลีวายส์ สเตเดี้ยม (Levi”s Stadium) ของทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส (San Francisco 49ers)

สนามลีวายส์ สเตเดี้ยม มีอาหารวีแกนถึง 36 เมนู เช่น แกงกะหรี่แบบอินเดีย และหมั่นโถวไส้เห็ด ซึ่งถือเป็นแผนการตลาดที่เฉียบขาดมาก เพราะซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่มีคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียหลายแสนคน และเป็นเมืองที่มีคนเชื้อสายอินเดียนับแสนคน มากเป็นอันดับต้นๆ ของอเมริกาเช่นกัน

จากข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนที่เป็นวีแกน (Vegan-Friendly City) เป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากอันดับ 1 ลอสแองเจลิส และอันดับ 2 นิวยอร์ก

โดยมีร้านอาหารที่ให้บริการเมนูวีแกนเยอะมาก

ปี2017 มีข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) พบว่าอินเดียเป็นประเทศที่คนทานเนื้อสัตว์น้อยที่สุด เป็นอันดับ 2 ของโลก กินเพียง 4.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

อันดับ 1 คือ บังกลาเทศ 4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ส่วนประเทศที่คนกินเนื้อสัตว์มากที่สุดคือ อเมริกา ปีละ 120.2 กิโลกรัมต่อคน มากกว่าบังกลาเทศ 30 เท่า

สำหรับประเทศไทย กินเนื้อสัตว์กันคนละ 22.9 กิโลกรัมต่อปี

หลายคนเป็นวีแกนหรือกินมังสวิรัติแล้วรู้สึกว่าสุขภาพแข็งแรงขึ้น ไม่ได้เหี่ยวแห้ง ไม่มีแรงอย่างที่เคยคิด

อย่างไรก็ตาม การไม่กินเนื้อสัตว์เลยอาจไม่เหมาะกับทุกคน เพราะคนเรามีร่างกายที่แตกต่างกันไป บางคนพอไม่กินเนื้อสัตว์แล้วรู้สึกแรงหด สมองตื้อ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ได้

แต่การกินเนื้อสัตว์สงวน สัตว์คุ้มครอง เพราะความอยากลอง หรือเพราะเชื่ออะไรบางอย่าง เป็นความผิดแน่นอน