ผ่า”โมโตจีพี” ปีแรก คืนกำไรคุ้มค่าการลงทุน ?

จบไปแล้วกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก” “โมโตจีพี”” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นสนามที่ 15 ของฤดูกาล 2018 รายการ” “พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018″” ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคมที่ผ่านมา

เป็นการรูดม่านปิดฉากท่ามกลางความประทับใจของทุกๆ ฝ่าย ตั้งแต่เจ้าภาพหลักอย่าง จ.บุรีรัมย์, รัฐบาลไทย, หน่วยงานกีฬาที่เกี่ยวข้อง, บรรดาผู้สนับสนุนต่างๆ, แฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมไปถึงนักกีฬาจากทุกค่ายที่มาร่วมแข่งขัน

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน รัฐบาลไทยและคีย์แมนสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ที่นำโดยหัวเรือใหญ่อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” คนดังระดับขาใหญ่ของบุรีรัมย์ เปิดฉากเจรจากับ “สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ็ม)” ผ่านผู้ถือลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ นั่นคือ “ดอร์น่า สปอร์ต” กระทั่งประสบความสำเร็จ ได้เซ็นสัญญาเป็นเจ้าภาพ 3 ปี (พ.ศ.2561-2563)

ลักษณะการร่วมมือกันของภาครัฐกับภาคเอกชน สำหรับภารกิจการเป็นเจ้าภาพ” “โมโตจีพี”” ของไทยในห้วงเวลา 3 ปีคือ รัฐบาลลงขัน 100 ล้านบาทต่อปี รวมกับหาจากภาคเอกชนอีก 200 ล้านบาทต่อปี

โดยมีการประเมินกันเป็นตัวเลขแบบตั้งตุ๊กตาไว้เบื้องต้น ณ ตอนแรกว่าไทยจะมีรายได้เข้าประเทศจากการจัด “โมโตจีพี” ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

ในเมืองไทยแทบจะไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการเป็นเจ้าภาพ” “โมโตจีพี”” เพราะถือว่านี่เป็นการจัดกีฬาที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดกีฬาของเมืองไทย

1. ได้ทั้งเม็ดเงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยประจำวันที่เมืองไทยในช่วงแข่ง และหลังแข่งก็ไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

2. คุ้มในเรื่องของการกระตุ้นและผลักดันอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของไทยไปสู่อุตสาหกรรมกีฬา อุตสาหกรรมมอเตอร์สปอร์ตของโลก

3. คุ้มในเรื่องของการกระตุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะช่วยทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ดีขึ้น

4. คุ้มในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของประเทศไทยไปสู่สายตาชาวโลก

จำได้ว่าตอนแรกที่เราเริ่มตั้งไข่ว่า เราได้บรรจุเป็น 1 ในสนามแข่งขัน” “โมโตจีพี”” เราแทบไม่มีปัญหาเรื่องของสนามแข่งเพราะบุรีรัมย์ของ “เนวิน ชิดชอบ” มีสนามแข่งขันที่ได้รับการรับรองจากเอฟไอเอ็มอยู่แล้ว

แต่เรายังมือใหม่หัดขับในเรื่องของการบริหารจัดการต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เราส่งทีมงานไปดูงานของสนามแข่งขันต่างๆ ก่อนหน้านี้บ่อยครั้ง เราเตรียมงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับดอร์น่าสปอร์ต

นักท่องเที่ยวจับจองตั๋วเข้าชม จองที่พักจนไม่มีเหลือกันชนิดข้ามปี นั่นเป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่และคุ้มค่าของ “โมโตจีพี”

มาถึงวันแข่งขันเรามีนักแข่งเวิลด์คลาสมาเมืองไทยมากมาย นำโดย “มาร์ก มาร์เกซ” นักบิดหนุ่มชาวสแปนิช จ่าฝูงบนตารางแชมเปี้ยนชิพ จากทีมเรปโซล ฮอนด้า, วาเลนติโน่ รอสซี่ และมาเวริค บีญาเลส 2 คู่หูจากทีมโมวิสตาร์ ยามาฮ่า โมโตจีพี

ซึ่งผลการแข่งขันอย่างที่ทราบกันว่า “มาร์ก มาร์เกซ” กลายเป็นแชมป์คนแรกโมโตจีพีไทยแลนด์ ด้วยเวลา 39.55.722 นาที ส่วนอันดับ 2 เป็นของ “โดวิซิโอโซ่” จากดูคาติ ตามหลัง 0.115 วินาที อันดับ 3 เป็น “มาเวริค บีญาเลส”” จากทีมโมวิสตาร์ ยามาฮ่า โมโตจีพี ตามหลัง 0.270 วินาที ขณะที่ “รอสซี่” จบอันดับ 4 ตามหลัง 1.564 วินาที

ทำให้ในอันดับตารางคะแนนรวมยังเป็นมาร์เกซที่นำอยู่ มี 271 คะแนน ตามด้วยโดวิซิโอโซ่ มี 194 คะแนน และรอสซี่ เป็นอันดับ 3 มี 172 คะแนน

จากข้อมูลของดอร์น่าสปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์” “โมโตจีพี”” ทั้ง 19 สนามในฤดูกาลนี้ ระบุชัดเจนว่าสนามแข่งขันปีแรกของเมืองไทยที่บุรีรัมย์ ปรากฏว่าตลอดทั้งปีนี้ผ่านไปแล้ว 15 สนามแข่งขัน พบว่าสนามของไทยมียอดจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันตลอด 3 วันมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มียอดเข้าชมอยู่ที่ 222,535 คน รองลงมาอันดับ 2 เป็นสนามแข่งขันที่ 12 ของฤดูกาล รายการ “โมโทร์ราด กรังด์ปรีซ์ ฟอน เออชเตอร์ไรช์” ที่เรดบูล ริง สปีลเบิร์ก ประเทศออสเตรีย มียอดผู้เข้าชมรวม 3 วัน 206,746 คน

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบอีกว่า ช่วงระยะเวลา 3 วัน มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 205,000 คน แบ่งเป็นชาวไทยประมาณ 153,750 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด โดยเป็นผู้เข้าร่วมงานจากจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 10,250 คน หรือร้อยละ 6 ขณะที่เป็นผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติประมาณ 51,250 คน คิดเป็นร้อยละ 25 โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติสัญชาติออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ตามลำดับ โดยโมโตจีพีปีแรกของไทยสามารถสร้างรายได้รวมประมาณ 3,100 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์จำนวน 2,470 ล้านบาท และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น ขอนแก่น, สุรินทร์, นครราชสีมา รวม 630 ล้านบาท

แบ่งเป็นการใช้จ่ายในหมวดต่างๆ ได้แก่ ค่าพาหนะการเดินทางจำนวน 764 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.70 / ค่าอาหารเครื่องดื่ม ประมาณ 679 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.90 / ค่าที่พัก โรงแรม จำนวน 642 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.70 / ค่าซื้อสินค้าและของที่ระลึก จำนวน 517 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.70 / ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จำนวน 349 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.30 / ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง 146 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.70 ตามลำดับ

โมโตจีพีสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทางตรงประมาณ 1,335 ล้านบาท เป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทางอ้อมประมาณ 1,701 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ 7,749 คน โดยเป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3,831 คน คิดเป็นร้อยละ 49.44 ของการจ้างงานใหม่ทั้งหมด และคาดว่าภาครัฐจะจัดเก็บรายได้ในรูปแบบภาษีประมาณ 329 ล้านบาท

นอกจากนี้ ไทยยังได้ถูกยกระดับเป็น 1 ในจุดหมายปลายทางด้านการแข่งขันจักรยานยนต์ของโลก ผ่านสายตาผู้ชมจากทั่วโลกกว่า 800 ล้านคู่

“บิ๊กเอ” “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา สรุปว่า จากการประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ รู้สึกพอใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้พูดคุยกับคาร์เมโล่ เอสเปเลต้า ซีอีโอของดอร์น่า สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน ซึ่งได้แจ้งผ่านทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่เดินไปร่วมพิธีปิด เขาพอใจในการเป็นเจ้าภาพของไทยเป็นอย่างมากดอร์น่าชมว่าไทยจัดการแข่งขันได้ยอดเยี่ยม บรรยากาศดี การต้อนรับก็ดี ประชาชนชาวบุรีรัมย์เป็นมิตรมากๆ อีกทั้งยังมีการแสดงให้เห็นถึงว่าชาวอีสานนั้นมีวัฒนธรรมอย่างไร

ตัวคาร์เมโล่ชื่นชอบรถอีแต๋นที่นำมาทำเป็นชัตเติลบัสด้วย เป็นการนำเสน่ห์ของท้องถิ่นมาใช้ ทำให้สนามเป็นที่จดจำ

“ดอร์น่ายังเห็นว่าการสร้างสนาม ออกแบบเมือง การจราจร การดูแลอาหารการกิน กิจกรรมเสริมต่างๆ ล้วนทำได้ดี ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เคยได้จัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก ถือว่าไทยเป็นประเทศที่ทำได้ดีที่สุดครั้งหนึ่ง และหลายๆ ประเทศกำลังศึกษาการจัดการของไทยเพื่อนำไปปรับใช้เช่นกัน เรื่องของเม็ดเงินในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงก็มีจำนวนเงินสะพัดถึง 3,000 ล้านบาท และนี่ยังไม่ได้นับการใช้จ่ายหลังจากจบการแข่งขันต่างหาก เพราะมีนักกีฬาหลายคนที่เตรียมจะไปเที่ยวหลังจากจบการแข่งขัน และสิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยโปรโมตประเทศอีกทางหนึ่ง” รมว.กีฬาเล่า

นี่เป็นความสำเร็จในปีแรกสำหรับ” “โมโตจีพี”” ครั้งแรกของไทย ยังเหลือเวลาอีก 2 ปีที่เราได้มีโอกาสจารึกประวัติศาสตร์ และหวังว่าเราจะรักษามาตรฐานจนได้ต่อสัญญาเป็นเจ้าภาพต่อไปเรื่อยๆ

เพราะมันคือการลงทุนที่แสนจะคุ้มค่าในภาคส่วนกีฬาเมืองไทย

ดีกว่าจะไปจัดซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์ หรือเพ้อเจ้อไปถึงโอลิมปิกเกมส์ หรือฟุตบอลโลกเสียอีก…