พิศณุ นิลกลัด : ต้องอ่าน! ทำไม “ออกกำลังกาย” ต้องอยู่ไกลๆ สมาร์ตโฟน

พิศณุ นิลกลัด

iPhone Xs และ iPhone Xs Max วางขายตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนเป็นต้นไปในกลุ่มประเทศแรก 30 ประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ในนั้น

แต่คาดว่าจะมาขายในเมืองไทยช่วงปลายเดือนตุลาคม

ส่วนคนที่อดใจไม่ไหวที่จะเป็นเจ้าของ iPhone Xs และ iPhone Xs Max ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศใกล้เมืองไทยที่สุดหากจะบินไปซื้อ

ราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 33,000 บาท

นับตั้งแต่โลกมี iPhone และสมาร์ตโฟน สังคมทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก กลายเป็นสังคมก้มหน้า คนติดโทรศัพท์จนไม่สนใจสิ่งรอบข้าง รวมถึงเด็กๆ ที่ไม่สนใจกีฬา เพราะหันไปหาสมาร์ตโฟน

ที่ประเทศไอร์แลนด์ มีการศึกษาของจีเอเอ คูล แคมป์ส (Kellogg”s GAA C?l Camps) ค่ายฝึกสอนและแข่งขันแกลิกฟุตบอล (Gaelic Football) สำหรับเด็กอายุระหว่าง 6-13 ปีในช่วงฤดูร้อน ได้สอบถามผู้ปกครองของเด็กจำนวน 631 คน

พบว่า 1 ใน 3 มีความกังวลว่าลูกๆ ของพวกเขาไม่มีความกระตือรือร้นในการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เพราะเด็กสมัยนี้หันไปหาสมาร์ตโฟนกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปิดเทอมฤดูร้อน

งานศึกษาพบว่าการมีสมาร์ตโฟนส่วนตัวไว้ใช้งานถือเป็นเรื่องปกติของเด็กชาวไอร์แลนด์

โดยเด็กอายุระหว่าง 13-15 ปี จำนวน 99% มีสมาร์ตโฟนส่วนตัว

เด็กอายุ 8-12 ปี จำนวน 63% มีสมาร์ตโฟนส่วนตัว

และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ จำนวนเกือบ 1 ใน 5 มีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองกันแล้ว

เด็กชาวไอริชส่วนใหญ่ใช้เวลาเล่นสมาร์ตโฟนเฉลี่ยคนละเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน

จำนวน 15% ใช้เวลาเล่นสมาร์ตโฟนวันละมากกว่า 3 ชั่วโมง โดยไม่สนใจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เป็นการขยับร่างกาย

ผู้ปกครองจำนวน 40% เห็นตรงกันว่าการควบคุมเวลาในการเล่นสมาร์ตโฟนของเด็กจะช่วยให้เด็กมีเวลาไปขยับเขยื้อนร่างกายมากขึ้น

ส่วน 33% เชื่อว่าเด็กจะได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ มากขึ้น

แต่มีผู้ปกครองจำนวน 19% ที่กลัวว่าการไปควบคุมเวลาเล่นสมาร์ตโฟนของเด็กจะทำให้เกิดมีปากเสียงกันในครอบครัว

ผู้ปกครองจำนวน 32% ต้องหันไปพึ่งการติดสินบนลูกเพื่อให้ลูกได้ออกไปเล่นกีฬาและขยับร่างกายกันมากขึ้น

โดย 40% ใช้วิธีการหลอกล่อเด็กด้วยเงินหรือสิ่งของ

34% ชวนไปทริปท่องเที่ยวสั้นๆ กับครอบครัว

33% ขู่เด็กว่าจะยึดสมาร์ตโฟนหากไม่ออกกำลังกายบ้าง

แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองก็ไม่ได้โทษว่าสมาร์ตโฟนเป็นสิ่งเดียวที่ขัดขวางการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาของเด็กๆ เพราะจำนวน 48% รู้สึกว่าการออกไปเล่นนอกบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

42% บอกว่าสภาพอากาศในประเทศไอร์แลนด์ไม่ค่อยเป็นใจสำหรับการทำกิจกรรมนอกบ้าน

และ 52% บอกว่าเวลาเด็กจะไปไหนผู้ปกครองต้องคอยขับรถไปรับไปส่งตลอด เด็กจึงไม่ค่อยได้ขยับร่างกายกันมาก

แพต เดลี (Pat Daly) ผู้อำนวยการจัดการแข่งขันของ GAA (Gaelic Athletic Association) บอกว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญและอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กๆ ในยุคปัจจุบันมาก แต่เทคโนโลยีก็ไปเบียดบังพัฒนาการด้านร่างกายและกิจกรรมทางสังคมซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กไม่แพ้กัน

ดังนั้น การที่เด็กได้ร่วมกิจกรรมเข้าค่ายอย่างจีเอเอ คูล แคมป์ส (GAA C?l Camps) ก็จะช่วยให้เด็กได้มีพัฒนาการด้านร่างกายและสังคมควบคู่กันไปด้วย

สำหรับผู้ใหญ่ สมาร์ตโฟนมีทั้งข้อดีและข้อเสียหากใช้ในการออกกำลังกาย ข้อดีของสมาร์ตโฟนก็คือช่วยให้เราสามารถติดตามความก้าวหน้าของการออกกำลังกาย และเชื่อมเครือข่ายเพื่อนที่รักการออกกำลังกายเข้าด้วยกัน

แต่การใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างออกกำลังกายก็ยังเป็นดาบสองคม

มีงานวิจัยล่าสุดที่แนะนำว่าควรอยู่ให้ห่างจากโทรศัพท์มือถือขณะออกกำลังกาย เพราะการส่งข้อความหรือคุยโทรศัพท์ขณะออกกำลังกาย จะทำให้สูญเสียการทรงตัวและความจริงจังในการออกกำลังกาย

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Performance Enhancement&Health เมื่อปี 2017 พบว่าการพิมพ์ส่งข้อความมือถือขณะออกกำลังกายจะทำให้สูญเสียการทรงตัวและความตั้งใจออกกำลังกายถึง 45% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือ

ส่วนการคุยโทรศัพท์ระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้เสียการทรงตัว 19% ซึ่งแม้จะน้อยกว่าการส่งข้อความ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้มีโอกาสบาดเจ็บระหว่างการออกกำลังกายได้

ไมเคิล รีโบลด์ (Michael Rebold) รองศาสตราจารย์วิทยาลัยไฮรัม (Hiram College) รัฐโอไฮโอ ประเทศอเมริกา และหัวหน้าผู้ศึกษาบอกว่าการเล่นโทรศัพท์มือถือมีโอกาสทำให้หล่นจากลู่วิ่งไฟฟ้า หรือถ้าหากมัวแต่จ้องหน้าจอโทรศัพท์อาจเดินตกขอบทางจนข้อเท้าพลิก หรือทำให้เอ็นไขว้หน้าฉีกขาดได้

งานศึกษาอีกชิ้นของไมเคิลที่ตีพิมพ์ในวารสาร Computers in Human Behavior พบว่าระหว่างการออกกำลังกาย 20 นาที คนที่ใช้มือถือส่งข้อความจะหมดเวลา 10 นาทีไปกับห้วงของการออกกำลังแบบเบาๆ และได้ออกกำลังอย่างจริงจังแค่ 7 นาที

ส่วนคนที่ออกกำลังกายโดยไม่มีมือถือจะออกกำลังกายแบบเบาๆ แค่ 3 นาที และใช้เวลา 13 นาทีออกกำลังกายอย่างจริงจัง

ไมเคิลบอกว่างานวิจัยทั้งสองชิ้นเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากนักศึกษาของวิทยาลัยไฮรัม โดยใช้นักศึกษา 45 คนทดสอบบนกระดานฝึกทรงตัว และ 32 คนบนลู่วิ่งไฟฟ้า ซึ่งเขาประหลาดใจกับผลที่ได้รับ เพราะเขาเชื่อว่าเหล่านักศึกษาซึ่งเกิดในยุคดิจิตอลควรจะสามารถแบ่งประสาททำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multi-task) ได้ดีกว่านี้

แต่ผลการศึกษากลับแย่กว่าที่คาด ซึ่งเขาไม่อยากคิดว่า หากคนรุ่นใหม่ยังได้รับผลกระทบจากการเล่นมือถือมากขนาดนี้ แล้วการเล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างการออกกำลังกายจะส่งผลเสียในวัยผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ มากขนาดไหน

ข่าวดีก็คือ การฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือไม่ส่งผลกระทบกับการทรงตัวในขณะออกกำลังกาย

ในทางตรงกันข้าม กลับช่วยส่งเสริมให้สามารถออกกำลังกายได้ดีขึ้น และสนุกกับการออกกำลังกายมากขึ้น

แต่ไมเคิลแนะนำว่า ควรจัดเตรียมรายชื่อเพลงให้เรียบร้อยก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพื่อหลีกเลี่ยงการก้มมองมือถือในขณะออกกำลังกาย

กิจกรรมใดก็ตามที่รบกวนสมาธิในการออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความแชต เปลี่ยนเพลงฟัง หรือการเขียนข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่น จะดึงประสิทธิภาพในการออกกำลังกายออกไป และเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บขณะออกกำลังกายได้

ดังนั้น ในขณะที่ออกกำลังกายควรหลีกเลี่ยงการรับโทรศัพท์ ส่งข้อความ หรือทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายจนกว่าจะเสร็จสิ้นการออกกำลัง

ทางที่ดีที่สุดควรจะเก็บมือถือไว้ในล็อกเกอร์เพื่อป้องกันการอดใจไม่ไหวที่จะหยิบมือถือขึ้นมาดูระหว่างออกกำลังกาย