จากมารดา “ธงทอง จันทรางศุ” กับงานเขียน “แม่คุยกับลูก” : เชียงใหม่

แม่คุยกับลูก (7)

วันนี้น้าจิ๋วโทร.มาถึงแม่ คุยกันเรื่องสัพเพเหระตามเคย แล้วก็ลงเอยถึงเรื่องคนเลี้ยงเด็กลาออก

เรื่องปัญหาของคนเลี้ยงเด็กนี้แม่เข้าใจว่ามีกันเกือบทุกบ้านที่มีเด็กอ่อนหรือเด็กเล็ก ทีนี้พอพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา มันก็ทำให้แม่อดคิดถึงยายแปงไม่ได้

แม่คิดว่าหน่าและยุ้ยคงจะยังพอจำยายแปงกันได้บ้าง เพราะแกเพิ่งจะเสียชีวิตลงเมื่อประมาณสักห้าหรือหกปีมานี่เอง

สำหรับตัวแม่เองนั้นจำได้ว่า พอเกิดขึ้นมา ก็มียายแปงอยู่ในบ้านของเราเรียบร้อยมานานแล้ว

ยายแปงอยู่ในบ้านของเรามานานมาก นานเสียยิ่งกว่าต้นนกยูงที่อยู่หน้าบ้าน นานยิ่งกว่าบ้านที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ บางทีอาจจะนานเกินไป…สำหรับพวกเรา จนทำให้บางครั้งเราก็ลืมนึกถึงยายแปงไปในบางเรื่อง

เพราะของอะไรที่อยู่นานๆ บางครั้งก็มักจะถูกลืม

คุณตาคุณยายของลูกเคยเล่าให้แม่ฟังว่า นานมาแล้วตั้งแต่สมัยที่แม่ยังไม่เกิด คุณตาของลูกย้ายขึ้นไปรับราชการทางทิศเหนือของประเทศ นั่นก็คือจังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยเมื่อประมาณสักหกสิบห้าปีก่อนไม่เหมือนกับเชียงใหม่ในสมัยนี้ เพราะการคมนาคมลำบากมาก รู้สึกจะต้องเดินทางหลายต่อหลายต่อ ท้ายที่สุดในช่วงหลังแม่จำได้ว่าคุณยายบอกว่าต้องนั่งช้างกันไปกว่าจะถึงตัวจังหวัด

ในตอนนั้นคุณยายมีลูกอยู่แล้วสอง (คือคุณป้าศรี กับคุณป้าขวัญ) แล้วก็มีบริวารติดตามไปบ้างตามสมควร คุณยายไม่ได้พาบริวารติดตามไปจากบ้านเดิมทั้งหมด เพราะยังไม่รู้ว่าจะพากันเดินทางลำบากตรากตรำกันไปอย่างไรบ้าง

ดังนั้น พอเดินทางไปถึงที่พักได้ไม่กี่วัน คุณยายก็ไหว้วานเพื่อนบ้านใหม่ซึ่งก็คงจะเป็นเพื่อนภรรยาข้าราชการของคุณตาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันนั่นแหละ ให้ช่วยหาคนเพิ่มเติมมาเพื่อจะได้มาทำหน้าที่พี่เลี้ยงของลูก

แม่เกือบลืมเล่าไปว่า ในจำนวนบริวารฝ่ายชายของคุณตาที่ท่านนำติดตัวไปใช้สอยจากกรุงเทพฯ นั้นมีอยู่คนหนึ่งคุณตาได้มาจากอำเภอธัญบุรีตอนที่ท่านไปรับราชการอยู่ที่นั่น เขามาอยู่กับเราที่บ้านแล้วก็สมัครติดตามไปรับใช้ที่เชียงใหม่ด้วย

อันบริวารหนุ่มโสดของคุณตาผู้นี้มีชื่อว่า นายฮะ

ฮะยังเป็นหนุ่มทั้งแท่งเมื่อไปถึงเชียงใหม่ใหม่ แต่ไม่นานหลังจากนั้นฮะก็ไปหลงเสน่ห์แม่ม่ายสาวเชียงใหม่ผู้หนึ่งเข้า

แม่ม่ายคนนี้มีลูกติดมาคนหนึ่ง เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ สามีเดิมของแม่ม่ายคนนี้เป็นไข้ป่าตายไปตั้งแต่ตอนทำทางรถไฟลอดเขาทั้งลูกที่มีชื่อว่าขุนตาน แม่หม้ายคนนี้มีชื่อว่าคำแปง

ทุกครั้งที่แม่นั่งรถไฟลอดถ้ำขุนตาน แม่มักจะนึกถึงสามีเก่าของยายแปง

อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเขาไม่ตาย ชีวิตของยายแปงก็อาจจะบิดผันไปอีกรูปหนึ่ง เราก็อาจจะไม่ได้พบยายแปง แล้วก็ไม่ได้มาอยู่ด้วยกันจนกระทั่งตายจากกันไป

แต่พวกเรากับแปงคงจะต้องทำบุญร่วมกันมามาก…มากเสียจนกระทั่งตั้งแต่แปงมาอยู่กับพวเราแล้ว

แปงก็ไม่ได้จากพวกเราไปอีกเลย

ตกลงคุณยายไม่ต้องไปอาศัยเพื่อนบ้านหาคนให้หรอกเพราะฮะเขาช่วยหามาให้ก่อน

ตอนนั้นคุณป้าศรีเล่าให้แม่ฟังว่า พอได้ยายแปงมาเป็นคนเลี้ยงคุณป้าศรี พอตกเย็นยายแปงช่วยคุณป้าศรีอาบน้ำแต่งตัวให้สวยงามพาไปเดินเล่นที่สะพานนวรัฐ คุณป้าตอนนั้นอายุประมาณสักหกเจ็ดขวบเห็นจะได้ คุณป้าบอกว่ายายแปงแต่งตัวเป็นสาวเชียงใหม่เหมือนสาวเครือฟ้า คือนุ่งซิ่นทัดดอกเอื้อง สูบบุหรี่มวนโตๆ แล้วยายแปงก็จับคุณป้าศรีแต่งตัวเป็นสาวเชียงใหม่ไปด้วยอีกคน

แม่เข้าใจว่าเมืองเชียงใหม่ในสมัยเมื่อเจ็ดสิบปีก่อนโน้นมันก็คงจะมีแต่สาวเครือฟ้าเดินกันให้เกร่อไปทั้งเมือง

คุณยายอยู่ที่เชียงใหม่เสียหลายปีเพราะที่นั่นแม่ได้สูญเสียพี่ชายไปถึงสองคน

คุณยายเล่าว่า เด็กที่คลอดใหม่เสียชีวิตหลังคลอดเพียงไม่กี่ชั่วโมงทั้งสองท้อง

หมอบอกว่าเด็กไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับอากาศอันหนาวเย็นของเชียงใหม่ได้ (คุณยายคลอดบุตรหน้าหนาวทั้งสองท้อง)

ดังนั้น พอคุณยายตั้งท้องอีกเป็นครั้งที่สาม หมอจึงสั่งคนเตรียมต่อตู้สำหรับใช้อบเด็ก แต่หมอไม่ทันได้ใช้ตู้ที่ต่อใหม่นั่นหรอก เพราะพอคุณยายท้องได้สักหกเดือน คุณตาก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับเข้ากรุงเทพฯ

ยายแปงมากับเราด้วย โดยหอบเอาลูกสาวตัวน้อยติดตามสามีมา

กลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่เท่าไหร่ฮะก็มาลาคุณตาคุณยายพายายแปงกับลูกไปเยี่ยมเยือนพ่อกับแม่ของตัวเองที่ธัญญะ

ฮะกับแปงไปอยู่ที่ธัญญะเสียนานหลายเดือนจึงกลับมา แต่ไม่ได้พาลูกน้อยกลับมาด้วย ปรากฏว่าเด็กได้ไปล้มป่วยแล้วก็ได้เสียชีวิตลงเสียที่ธัญญะนั่นเอง

แปงเศร้าโศกมาก แปงยังพูดถึงลูกคนนี้อยู่เสมอว่าเป็นเด็กสอนง่าย ไม่ดื้อดึง ฮะเองก็เสียใจไม่แพ้แปง เพราะในความรู้สึกของฮะก็รักเด็กคนนี้เหมือนกับลูกของตัวเอง

ฮะไม่ได้มีลูกกับแปงเลยแม้แต่คนเดียวตลอดชีวิตที่ได้อยู่กินกันมา

แต่ฮะกับแปงก็คงจะถือเสมือนกับว่าพวกเราทุกคนก็ได้กลายเป็นลูกของฮะกับแปงไปด้วย เพราะทั้งคู่ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับครอบครัวเรามาโดยตลอด

หลังจากที่ได้กลับมาเชียงใหม่คุณยายมามีลูกอีกถึงหกคน ลูกทุกคนจะมีคนเลี้ยงประจำตัวจนกระทั่งโตพอที่จะไปโรงเรียนได้ แล้วคนเลี้ยงก็จะเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น

แปงชอบเลี้ยงเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง จะเป็นด้วยเหตุผลใดแม่ก็ไม่ทราบ

ดังนั้น แปงจึงเคยเป็นพี่เลี้ยงประจำของพี่ชายและน้องชายของแม่หลายคนด้วยกัน

มีเด็กผู้หญิงเพียงคนเดียวที่แปงจำใจต้องมาช่วยเลี้ยงเพราะคนเลี้ยงลาออกไม่ได้หยุด เด็กคนนั้นก็คือตัวแม่เอง

แปงมาเลี้ยงแม่เมื่อแม่โตมากแล้ว แม่ยังจำได้ว่าแปงต้องคอยตะโกนเรียกตัวพวกเราให้ไปรีบล้างหน้า อาบน้ำแต่งตัว เข้านั่งสำรับ แปงจะต้องคอยส่งเสียงอยู่เช่นนั้นเหมือนจับปูใส่กระด้งทุกๆ เช้าและเย็น

ตอนนั้นแม่จำได้ว่าคุณตาเป็นห่วงมากเรื่องลูกๆ ยังว่ายน้ำไม่เป็นกัน ก็ยายแปงอีกนั่นแหละที่เป็นคนต้อนพวกเราไปหัดว่ายน้ำกันจนเป็นทุกคน

สมัยนั้นเราก็อยู่ต่างจังหวัดกันนั่นแหละ และสถานที่ที่ยายแปงพาพวกเราไปหัดว่ายน้ำก็คือแม่น้ำน่าน

ไปตอนเย็นๆ พวกเราจะมีความสุขมาก เด็กๆ เดินเรียงกันไปเป็นแถว จะมีพี่เลี้ยงของน้องบางคนตามไปด้วย แล้วก็จะมียายแปงเดินรั้งท้าย คุมขบวนไปด้วยท่าทางที่เราทุกคนรู้สึกมั่นใจ เพราะยายแปงเป็นคนที่มีรูปร่างแข็งแรงสูงใหญ่ หลังตรง แม้จนกระทั่งแก่ตัวลงในภายหลัง

แปงมักจะมุ่นมวยผมเหน็บไว้บนศีรษะแบบคนเหนือ แปงชอบกินหมากจนฟันดำไปทั้งปาก แต่ภายหลังแปงไม่ได้สูบบุหรี่ ฟันแปงแข็งแรงมากเพราะแปงชอบรับประทานผัก

ดังนั้น ถึงแม้ฟันของแปงจะมีสีดำแต่มันก็ไม่ได้โยกคลอนแม้แต่ซี่เดียว ซึ่งแปงมักจะอวดถึงความแข็งแรงของมันกับพวกเราเสมอ

ในบรรดาพวกเราทั้งหมดมีเด็กอยู่เพียงคนเดียวที่แม่แน่ใจว่าแปงและฮะรักเท่ากับเป็นลูกของเขาเลยทีเดียว เด็กคนนั้นก็คือน้าติ่ง น้องชายคนที่ถัดลงมาจากแม่

เวลาฮะจะเดินไปไหน ก็มักจะชอบแบกน้าติ่งไว้บนบ่า ส่วนแปงก็มักจะมีส้มสูกลูกไม้ให้คุณหนูของแปงเป็นพิเศษในห้องของแปงเสมอ

แปงยังคงปฏิบัติเช่นนั้น แม้กระทั่งจนน้าติ่งโตเป็นหนุ่มมีครอบครัวของตัวเองแล้วก็ตาม

ฮะมีบุญไม่เท่าแปง เพราะตายเสียตั้งแต่ได้สี่สิบปี แปงก็เลยต้องกลับเป็นม่ายอีกครั้งหนึ่ง

แม่จำได้ว่าฮะเป็นผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง สมกันกับแปงมาก ฮะมีคางเป็นสี่เหลี่ยม คิ้วเป็นสัน

แม่ไม่รู้ฮะป่วยด้วยโรคอะไร เห็นแต่ฮะผอมลงทุกทีจนมองดูโก้งเก้ง ขอบตาก็ลึก และลึกลงไปในดวงตา แม่รู้ว่าฮะไม่มีความสุข

ฮะออกไปจากบ้านเกือบทุกวันครั้งละนานๆ เมื่อคุณยายถาม ฮะก็ไม่ได้ให้คำตอบ

วันหนึ่งฮะมาหาแม่ จ้องดูแม่ด้วยสายตาอ้อนวอน ถามแม่ว่าแม่พอมีสตางค์อยู่บ้างหรือไม่

ตอนนั้นแม่จำได้ว่าแม่ได้สตางค์ค่าขนมจากคุณยายวันละเจ็ดสตางค์ (เจ็ดสตางค์จริงๆ) แล้ววันนั้นแม่ก็มีเหลือกลับมาตั้งสามสตางค์

ตามธรรมดาฮะไม่เคยขอสตางค์แม่หรือว่าใครๆ แม่มองลงไปในดวงตาของฮะ อะไรไม่ทราบทำให้แม่วิ่งตื๋อไปหยิบสตางค์ที่มีอยู่กลับลงมาใส่ให้ในมือของฮะ

ฮะรับเงินเอาไว้ แล้วสักครู่ก็หายออกจากบ้านไป

หลังจากนั้นไม่นานแม่ก็ล้มเจ็บด้วยโรคไทฟอยด์ วันที่แม่เจ็บใหม่ๆ แม่เห็นคนช่วยกันพยุงฮะไปส่งโรงพยาบาลผ่านหน้าแม่ไป แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร

แม่ล้มเจ็บอยู่นานเป็นเดือน เจ็บมากขนาดที่ต้องมีหมอจากโรงพยาบาลมาดูอาการแม่ที่บ้านทุกวัน แม่จำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง พอหายจากเจ็บผมแม่ก็ร่วงเกือบหมดทั้งศีรษะ เวลาจะลุกขึ้นต้องมีคนมาช่วยพยุง ต้องเกาะข้างฝาหัดเดินราวกับเด็กสอนเดิน

ระหว่างที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นนั่นเองแม่ก็ฝันถึงฮะ แม่ฝันว่าแม่โผล่หน้าต่างห้องนอนออกไป เห็นฮะเดินอยู่ที่ลานหน้าบ้าน ฮะตัดผมสั้นหน้าตาอิ่มเอิบมีเนื้อมีหนัง ไม่ได้ผอมจนหนังหุ้มกระดูกเหมือนที่แม่เห็นเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ยังนุ่งกางเกงขาสั้นเหมือนเคย หน้าตาก็มีความสุข

วันรุ่งขึ้นพอนึกได้ แม่ก็รีบถามถึงฮะว่าฮะหายดีแล้วใช่ไหม กลับมาบ้านแล้วใช่ไหม แม่ไม่ได้สงสัยเลยว่าทำไมใครต่อใครถึงได้หันมามองหน้ากันเมื่อแม่เล่าถึงความฝันให้ฟัง พอดีขณะที่กำลังเล่าอยู่เด็กผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กในบ้าน อายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่ก็เดินผ่านหน้าห้องไป แม่ร้องทักด้วยความแปลกใจที่เห็นเขาโกนศีรษะเสียโล้น

คนอื่นให้คำตอบแทนว่าเด็กคนนั้นเป็นเหาจึงให้โกนศีรษะเสียเพื่อทำการรักษา

แม่มาได้ความจริงหลังจากที่กลับแข็งแรงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งว่า ฮะได้เสียชีวิตลงในขณะที่แม่นอนป่วยหนักอยู่ คุณยายเพิ่งจัดการเผาศพให้

ส่วนเด็กผู้ชายคนนั้นทุกคนรวมทั้งเจ้าตัวด้วย เต็มใจบวชหน้าศพให้ในวันเผานั่นเอง

แม่เพิ่งได้รับทราบในวันนั้นว่าฮะป่วยเป็นโรคร้ายได้รับการทรมานจนต้องแอบหนีออกจากบ้านบ่อยๆ ไปบำบัดด้วยการสูบฝิ่น

แต่ฮะก็ไม่ได้ไปไหน ในที่สุดฮะก็กลับมาบ้าน กลับมาอยู่กับพวกเราเหมือนที่เคยอยู่

แปงอุายยืนกว่าฮะมาก เพราะเมื่อตอนที่สิ้นชีวิตนั้นแปงอายุได้เกือบแปดสิบปี

เมื่อสิ้นบุญคุณตาคุณยายแล้ว แปงก็ย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตามบรรดาบ้านของพวกเราทั้งแปดคน แปงชอบบ้านไหนก็อยู่นานหน่อย อยากไปค้างกับใครก็มีคนมารับเอาไป

ตอนแปงอายุมากแล้ว น้าจิ๋วหันมาปฏิบัติธรรม น้าจิ๋วก็จับยายแปงมานั่งด้วย สอนไปเอ็ดไปตามธรรมเนียมของน้าจิ๋ว

ตอนนั้นเพลงพื้นเมืองเพลงหนึ่งในชุดของคุณจรัล มโนเพ็ชร มีชื่อว่า “อุ๊ยคำ” เป็นเรื่องของหญิงชราผู้หนึ่งที่มีอาชีพเก็บผักบุ้งขาย มีลูกสาวกับเขาคนหนึ่งก็ถูกผู้ชายหลอกลวงไปแล้วในที่สุดก็ตายไป แล้วในเช้ามืดวันหนึ่งขณะที่พระย่ำระฆังและสวดมนต์ “อุ๊ยคำ” ก็ได้จบชีวิตของแกลง

เรามักล้อยายแปงกันเสมอว่า อันที่จริง “อุ๊ยคำ” นี้ตัวจริงก็คือยายแปงของเรานี่เอง

ตอนที่ยายแปงเจ็บมาก ไปอยู่โรงพยาบาล แม่ไปเยี่ยมวันนั้นเย็นมากแล้ว คุยกันได้สักพัก ยายแปงพยายามบอกให้แม่กลับ ยายแปงบอกว่าเย็นมากแล้วให้รีบกลับ แม่รู้โดยที่ยายแปงไม่ได้ต่อประโยคให้จบ ยายแปงเป็นห่วงกลัวจะไปมืดค่ำกลางทางเพราะยายแปงรู้ว่าแม่ขับรถเองตามลำพัง

น้านิดเป็นคนไปเยี่ยมคนสุดท้ายในวันนั้น น้านิดเล่าว่า น้านิดพยายามบอกให้ยายแปงคิดถึงหลวงพ่อไว้ให้มากๆ ยายแปงพยักหน้ารับและตอบเสียงเบาว่า “แปงจำได้”

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราไปที่โรงพยาบาลกันไม่ทันได้ดูใจยายแปงกันสักคน แต่แม่ก็เชื่อ…เหมือนกับเพลงของคุณจรัลที่แว่วในหูของแม่ว่า “เสียงพระอ่านธรรม…อุ๊ยคำไปดี…”