ประชา สุวีรานนท์ | Ex Libris ห้องสมุด คือ หนังสือหรือ ผู้คน?

ห้องสมุด : หนังสือหรือคน? (1)

Ex Libris เป็นภาพยนตร์สารคดีปี 2017 จัดฉายที่กรุงเทพฯ โดย TK Park หรือสำนักอุทยานการเรียนรู้ และ Documentary Club เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ที่หอศิลป์ กทม. มีเนื้อหาเกี่ยวกับห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กหรือ The New York Public Library

หนังจะสำรวจบทบาท บรรยากาศ และชีวิตทั้งหลายในห้องสมุด ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับเก็บและอ่านหนังสือ

แต่ยังเป็นศูนย์รวมกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่งานด้านประวัติศาสตร์ บทกวี ดนตรี ไปจนถึงงานสร้างหุ่นยนต์ และให้บริการผู้คนหลายหลากที่กำลังแสวงหาความรู้ในวิถีทางของตนเอง

ห้องสมุดมีสาขาถึง 92 แห่งในสามเขตคือแมนฮัตตัน เดอะบร๊องซ์ และสเตเตนไอส์แลนด์ และหนังก็แวะเวียนไปสำรวจสาขาเหล่านี้หลายแห่ง

ตึกสตีเฟน ชวาสต์แมน ที่เห็นบ่อยๆ เป็นสาขาใหญ่ ซึ่งข้างหน้ามีรูปปั้นสิงโตตัวใหญ่นั่งอยู่ ข้างหลังเป็นสวนสาธารณะชื่อไบรอันพาร์ก เก่าถึง 120 ปี และมีหนังสือ จดหมาย แผนที่ และสิ่งของทั้งหมดราวห้าล้านชิ้น

ภายนอกสร้างแบบโบแซร์และด้วยหินอ่อนเกือบทั้งหมด ภายในประกอบด้วยห้องโถงขนาดมหึมา ห้องค้นหนังสือเฉพาะทาง และห้องอ่านหนังสือกลาง ซึ่งมีเพดานสูง โต๊ะตัวโต และหน้าต่างบานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ถนนที่สี่สิบเอ็ดตัดกับฟิฟต์อเวนิว หรือใกล้กับไทม์สแควร์กับแกรนด์เซ็นทรัล กินเนื้อที่ประมาณสองบล๊อกของนิวยอร์ก

หนังเป็นผลงานของเฟรดริก ไวส์แมน ผู้กำกับฯ ชั้นครู และได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ

เขาทำสารคดีมาแล้วกว่าสี่สิบเรื่อง โดยเริ่มทำงานในช่วงทศวรรษ 1960s และมีผลงานดัง เช่น Titicut Fallies, High School และ Primates

ทุกเรื่องเกี่ยวกับสถาบันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน โรงพยาบาล คุก โรงฆ่าสัตว์ โรงละคร และพิพิธภัณฑ์

ไวส์แมนเป็นหนึ่งในอเมริกันที่ทำหนังสารคดีแบบ direct cinema คือหนังดิบๆ ที่เป็นกลางหรือไม่ออกความเห็นใดๆ

 

ห้องสมุดนิวยอร์กมีชื่อเสียงด้านบริการประชาชน มันเป็นสถานที่ที่นักเขียนระดับโนเบลเดินกระทบไหล่กับเด็กเจ็ดขวบ

คนแรกอาจจะเข้าไปค้นหนังสือ คนหลังอาจจะเข้าไปทำการบ้าน

ใครก็ได้จริงๆ เหมือนที่ฟรองซีน อูเบน สถาปนิกชาวดัตช์ ผู้ดูแลการซ่อมสาขาใหญ่และมิด-แมนฮัตตัน พูดในหนังว่า “ห้องสมุดไม่ได้หมายถึงที่เก็บหนังสือ แต่หมายถึงคน”

ไวส์แมนก็เช่นกัน เขาทำหนังเกี่ยวกับห้องสมุดซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของนิวยอร์ก แต่ไม่สนใจตึก, ชั้นหนังสือ หรือของสะสมต่างๆ

สิ่งที่เขาสนใจคือคนในห้องสมุด รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น อภิปราย สัมมนา เต้นรำ เลี้ยงเด็ก และการประชุมของผู้บริหารห้องสมุด ความสนใจในแต่ละคนและการวางช็อตไว้แคบ ทำให้เราไม่แน่ใจกระทั่งว่ากำลังอยู่ที่ไหน?

ผู้ดูหนังจะไม่เห็นจำนวน ความใหญ่โตและบรรยากาศของห้องสมุดสักเท่าไร ที่สำคัญ Ex Libris ยาวถึงสามชั่วโมง! นอกจากนั้น ยังเป็นหนังสารคดีที่ไม่มีการสัมภาษณ์หรือคำถามใดๆ ที่ช่วยกระตุ้นการดู แถมด้วยการไม่มีชื่อผู้พูด นั่นคือไม่บอกด้วยว่าเรากำลังฟังใคร?

ฉากแรกๆ ของ Ex Libris เป็นบริการตอบคำถามทางโทรศัพท์ของสาขาใหญ่ ซึ่งไม่เพียงให้ข้อมูลว่ามีหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ แต่ตอบคำถามของเราได้เลย

ทุกวันนี้ ห้องสมุดยังมีแผนกที่ตอบคำถามทางโทรศัพท์ได้ และมีคนโทร.มากว่า 30,000 คนต่อปี

ในหนัง คำถามเราจะได้ยินคำถามแปลกๆ เช่น ไบเบิลของกูเต็นแบร์กยืมได้หรือไม่?

ยูนิคอร์นอยู่ที่ไหน?

และจากบันทึกของแผนก มีคำถามอีกมากมายที่ย้อนไปได้หลายสิบปี เช่น พลาโตกับอริสโตเติลเป็นคนเดียวกันรึเปล่า?

หรือทำไมในภาพวาดศตวรรษที่ 18 ต้องมีกระรอก?

บริการนี้คือ google ก่อนยุค google!

กล้องจะโฟกัสที่ใบหน้าของคนในห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นบรรณารักษ์ ประชาชนที่มาใช้ห้องสมุด ผู้พูดบนเวที หรือผู้บริหารห้องสมุด

ในหนังเราจะได้เห็นใบหน้าของคนนิวยอร์กหลายประเภท ทั้งบรรณารักษ์ที่หน้าตาเหมือนฆาตกร รีครูทเทอร์ (ของห้องสมุด ตชด. และพนักงานดับเพลิง) ที่หน้าตาเหมือนพ่อค้ายาเสพติด ผู้บริหารที่พูดเก่งเหมือนเซลส์แมน และคนใช้ห้องสมุดที่หน้าตาและแต่งตัวเหมือนคนจรจัด

ที่สำคัญคือคนบนเวที ซึ่งจับภาพจากการเล็กเชอร์หรือสัมมนาที่จัดขึ้นที่ห้องสมุดหลายสาขา กล้องจะตัดเข้าไปกลางการพูด และไม่มีตัวหนังสือบอกว่าคนพูดเป็นใคร ซึ่งหมายความว่า จะดังแค่ไหน ถ้าเราไม่คุ้นเคยกับใบหน้าของเขา ก็ไม่รู้

เท่าที่รู้ ผู้พูดที่ดังระดับดารา ได้แก่ ริชาร์ด ดอว์คินส์, แพตตี้ สมิธ, ทา-เนฮิซี โค้ตส์, เอลวิส คอสเทลโล, คริสโตเฟอร์ บราวน์ และรูดอล์ฟ แวร์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา, ดนตรี, ประวัติศาสตร์คนดำ, การค้าทาสในยุคศตวรรษที่ 17-18 และขนมปังยิว และอื่นๆ อีกมากมาย

และถ้าเนื้อหานั้นน่าสนใจพอ กล้องจะจับภาพและถ่ายทอดเนื้อหาที่เขาพูดกันยาวเหยียด

เช่น บรรณารักษ์ที่พูดเรื่องคนจรจัดที่มานอนในห้องสมุดและสัญญาณไวไฟ

รีครูทเทอร์ที่พูดถึงการป้องกันไฟไหม้

ดอว์คินส์พูดถึงผลร้ายของศาสนาคริสต์ในการเข้าใจโลก

แวร์พูดถึงการเมืองในมหาสมุทรแอตแลนติกในศตวรรษที่ 18

โค้ตส์พูดถึงความรุนแรงในหมู่คนดำด้วยกันเอง

ผู้บริหารที่พูดถึงการลงทุนร่วมกับห้องสมุดคือเอกชนกับเมือง, ปัญหาลิขสิทธิ์ และการดิจิตอลไลซ์หนังสือ

รวมทั้งคนใช้ห้องสมุดที่ถามบรรณารักษ์ถึงนิยายเรื่อง Wizard of Oz

 

แม้แต่หนังสือก็ไม่สำคัญเท่าคน ในหนังจึงไม่มีหนังสือให้เห็นมากนัก มีแต่ฉากคนค้น index ของเดอะนิวยอร์กไทม์สในสมุดปกแดง เด็กกับแม่และครูร้องเพลง “Old MacDonald” และคนชรากำลังฝึกเต้นรำ

บางทีกล้องก็เข้าไปในวงเสวนาระดับชาวบ้านที่พูดถึงนิยายของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ คือ “Love in the Time of Cholera” (และในหมู่ผู้ฟังที่เป็นคนวัยกลางคน มีคนหนึ่งบอกว่ามีเซ็กซ์ซีนเยอะไป)

และในห้องสมุดอักษรเบรลที่ถนนที่ยี่สิบ บรรณารักษ์ทำตั้งแต่สอนอ่านอักษรเบรล

หนังจะฉายให้เห็นชายคนหนึ่ง ขณะกำลังอ่าน Laughter in the Dark ของวลาดิมีร์ นาโบคอฟ ให้คนตาบอดฟัง