ซีพี …ขยับแผนค้าปลีก / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

www.viratts.com

 

ซีพี …ขยับแผนค้าปลีก

 

ซีพีกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก กำลังเดินแผนใหญ่ ในระดับภูมิภาค

ภาพนั้นเวลานี้ โฟกัสที่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ แม็คโคร (Makro) ซึ่งมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในช่วงไม่นานมานี้ มาตั้งแต่มาอยู่ในเครือซีพีอย่างเต็มตัว

โดยเฉพาะมีดีลครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ห่างกันไม่นาน ช่วงปี 2556-2563 ในระหว่างนั้นมีความเคลื่อนไหวสำคัญครั้งย่อยๆ ในแผนการขยายเครือข่ายในต่างประเทศ สะท้อนภาพสรุปบางช่วงผ่าน Infographic ที่น่าสนใจ ซึ่งนำเสนอล่าสุดโดย Makro (หัวข้อ “Over 30 years – Journey of Noteworthy Achievements Leading to New Horizon of Success” – Presentation to Investors, August 2022)

อันที่จริง Makro มาถึงเมืองไทยเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ในฐานะผู้จุดกระแสใหม่ๆ ในสังคมธุรกิจไทย

Makro เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ 2531 ต่อเนื่องจากกระแส Hypermarket ที่เติบโตในยุโรปและอเมริกาอย่างมากมาระยะหนึ่ง ต่อจากนั้นโมเดลค้าปลีกใหม่นี้ มีผู้เดินตามอย่างคึกคัก ทั้งจากธุรกิจท้องถิ่น – ก่อตั้ง Big C (2535) รวมทั้งซีพีหุ้นส่วนสำคัญของ Makro เอง ได้เปิดตัว Lotus (2537) จนถึงต้นตำรับในยุโรปมาเอง-Carrefour (2539)

อีกมิติหนึ่งที่สำคัญ Makro ในเมืองไทย เกี่ยวข้องกับซีพีมาตั้งแต่ต้น อาจกล่าวว่า ได้จุดประกายการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่มีความสำคัญในเวลาต่อมา รวมทั้งมีส่วนในจังหวะเวลาการพัฒนาสำคัญๆ

 

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือซีพี เล่าที่มากรณี Makro ไว้อย่างตื่นเต้น (“บันทึกความทรงจำ ของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont โดยสื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น-NIKKEI) จุดเริ่มต้นด้วย SHV Holding ติดต่อซีพี ขณะนั้นเป็นเพียงบริษัทต่างชาติรายเดียว ให้เป็นตัวกลางดำเนินแผนการธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ในที่สุดแผนได้พลิกผัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง SHV กับซีพีนั้นยังคงอยู่

SHV เครือข่ายธุรกิจใหญ่ แห่งเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งเมื่อ 120 กว่าปีที่แล้ว จากการควบรวมกิจการเหมืองถ่านหินหลายแห่ง เมื่อกิจการเหมืองแร่ถดถอย จึงเข้าสู่กิจการเดินเรือและค้าปลีก Makro เปิดสาขาแห่งแรกที่ Amsterdam (ปี 2511) จนถึงปี 2514 จึงได้เปิดสาขานอกภาคพื้นยุโรป ที่สหราชอาณาจักรและแออฟริกาใต้

ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวถึงแรงจูงทางธุรกิจไว้อย่างมีตรรกะ เชื่อมโยงกับธุรกิจหลักซีพี ด้วยมองว่าสินค้าไก่-หมูสด มีความผันแปรกับช่วงเวลาและระยะทาง การรักษาอุณหภูมิภายในห้องเย็นในกระบวนการขนส่งเพื่อกระจายสินค้าให้ทั่วถึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่เนื่องด้วยเวลานั้น ระบบขนส่งเพื่อจัดจำหน่าย หรือ logistics ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร เขาจึงมีแนวความคิดจัดตั้งช่องทางจัดจำหน่ายของตนเอง

ในที่สุดกิจการร่วมทุนระหว่าง SHV กับซีพี ซึ่งฝ่าย Makro เป็นผู้บริหาร ได้เกิดขึ้น

Makro สาขาแรกที่ลาดพร้าวเปิดบริการในปี 2532 จังหวะก้าวเป็นไปด้วยความมั่นใจและมีแผนการ ในช่วงเวลา 5 ปีแรก (2532-2537) เปิดสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 แห่ง และเริ่มขยายออกสู่เมืองใหญ่ อย่างชลบุรี เชียงใหม่ และนครราชสีมา

จากนั้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ปี 2537) โดยตัวแทนฝ่าย SHV เป็นผู้บริหารกิจการอย่างเต็มตัว ขณะธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ความสำคัญ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เช่นเดียวกับกิจการสำคัญๆ ไม่ว่าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ (เข้าตลาดหุ้นปี 2530) หรือเทเลคอมเอเชีย หรือทรู คอร์ปอเรชั่น ในปัจจุบัน (เข้าตลาดหุ้นปี 2536)

จากข้อมูลที่ปรากฏในระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลประกอบการ Makro น่าทึ่ง มีรายได้มากกว่า ทั้งเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ (CPF) และเทเลคอมเอเชีย (TA) พิจารณาจากงบการเงิน ปี 2537 Makro มีรายได้ราว 25,000 ล้านบาท ขณะ CPF มีรายได้ระดับ 20,000 ล้านบาท ส่วน TA มีรายได้เพียงประมาณ 300 ล้านบาท

มองกันว่าในเวลานั้น กระแสและความสำเร็จ Makro สร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อย

 

ในจังหวะ Makro เข้าตลาดหุ้นไทย เป็นช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น แทบจะทันที ซีพีได้เริ่มต้นธุรกิจค้าปลีกของตนเองควบคู่ด้วย นั่นคือ Lotus Supercenter (ก่อตั้งขึ้นในปี 2537) ในรูปแบบ Hypermarket จุดเริ่มต้นในประวัติศาสตร์เครือข่ายร้าน Tesco Lotus ผู้นำตลาด Hypermarket ในประเทศไทยในอีกทศวรรษต่อมา มาอีกระยะเหตุการณ์เป็นไปอย่างเหลือเชื่อ (2563) เมื่อ Lotus ได้กลับมาอยู่ในมือซีพี อยู่ภายใต้บริษัท สยามแม็คโครเสียด้วย

ทว่า เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ซีพีกลับเลือกผ่องถ่ายธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่ากรณีขายหุ้นส่วนใหญ่ของ Lotus ให้ Tesco แห่งอังกฤษ และแม้แต่ Makro ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือน้อยมาก ตามแผนจัดสรรทรัพยากรอย่างจำกัดเพื่อปกป้องรักษาธุรกิจดั้งเดิม

โดยเฉพาะเลือกเข้าโอบอุ้มธุรกิจสื่อสาร ถือเป็นธุรกิจใหม่อีกอย่างหนึ่งซึ่งเผชิญปัญหาอย่างหนักในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม ซีพีคงพยายามมีธุรกิจค้าปลีกโมเดลทรงอิทธิพลนั้นไว้บ้าง ด้วยตัดสินใจลงทุนในประเทศจีน ปี 2540 เปิด Hypermarket แห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้

 

จากนั้นไม่นานโอกาสสำคัญมาถึง เมื่อกระแสธุรกิจค้าปลีกยุโรปพลิกกลับ ว่ากันว่าระลอกคลื่นแรกๆ เปิดฉากโดย SHV Group ในฐานะเจ้าของเครือข่ายธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานเป็นหลัก โดยมี Makro เป็นเพียงธุรกิจย่อยแขนงหนึ่ง เมื่อเผชิญแรงกดดันทางธุรกิจ SHV Group จึงขายเครือข่าย Makro ออกไป เริ่มจากในสหรัฐในปี 2532 (ให้กับ Kmart) และเครือข่ายในยุโรปทั้งหมด ให้กับ Metro แห่งเยอรมนีในอีก 9 ปีต่อมา (2541) จนกระแสนั้นมาถึงเอเชีย

ปี 2556 กลุ่มซีพีเข้าซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทย ซึ่งสามารถขยายเครือข่ายในภูมิภาคได้ด้วย ในจังหวะต่อมา ปี 2559 METRO GROUP แห่งเยอรมนี ขายเครือข่ายในประเทศเวียดนามให้กลุ่มทีซีซี ไล่เลี่ยกับทีซีซีซื้อเครือข่าย Big C ในไทยจาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส ช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น กลุ่มเซ็นทรัลซื้อเครือข่าย Big C ในเวียดนาม ตามมาอีกไม่นานซีพีมีดีลใหญ่อีกครั้ง เข้าซื้อเครือข่าย Tesco ทั้งในไทย และที่สำคัญไม่น้อย พ่วงเครือข่ายในมาเลเซียด้วย

สิ่งที่น่าสนใจหนึ่งใน Time-line ท่ามกลางความพยายามในแผนของซีพีที่วางไว้ตั้งแต่ 2556 ในที่สุดปี 2561 Makro ได้เปิดสาขาต่างประเทศเป็นครั้งแรก ในกัมพูชา และโดยเฉพาะในอินเดีย

นั่นคือการเปิดตัว LOTS Wholesale Solutions ดำเนินงานภายใต้ CP Wholesale India Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ด้วยรูปแบบ B2B โดยปรากฏชื่อคนหนุ่มวัย 28 ปี (ขณะนั้น) – ธนิศร์ เจียรวนนท์ เป็นกรรมการผู้จัดการ ภายในปีเดียวกันนั้น สามารถเปิดได้ 2 สาขา

ชายหนุ่มประกาศในเวลานั้นว่า มีแผนขยายสาขาให้ได้ 10 แห่งในเวลา 5 ปี ขณะนี้ปรากฏว่ามี 3 สาขาแล้ว ทั้งล่าสุด ยังสำทับไว้ว่า มีแผนเปิดให้ได้ 15 แห่งภายใน 3 ปี (อ้างจากข้อมูลอย่างเป็นทางการ-https://corporate.lotswholesale.com/)

ไม่นาน ธนิศร์ เจียรวนนท์ ไม่เพียงเพิ่งก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารกิจการ Makro ทั้งหมด หากมองได้อีกด้วยว่า เขาเป็นคนแรกของอีกรุ่นตระกูลเจียรวนนท์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในกลุ่มซีพี •

———————————————————————-

ข้อมูลจำเพาะทางการเงิน

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

(ล้านบาท)

2561 2562 2563 2564 2656 (ครึ่งปี)

สินทรัพย์ 62,065.26 62,641.33 74,034.15 569,490.42 547,773.47

รายได้รวม 92,930.09 210,627.04 218,760.19 266,434.51 229,679.65

กำไรสุทธิ 5,941.99 6,244.59 6,562.67 13,686.73 3,623.28

ที่มา : ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ