ปมลึก! พ.ร.บ.ปิโตรเลียม สอดไส้ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เดิมพันอนาคตพลังงานไทย

ประเด็นร้อนแรงที่สุดในนาทีนี้ หนีไม่พ้นการผลักดัน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. … ซึ่งเกิดอภินิหาร มีเนื้อหาสาระเพิ่มเติม (งอกใหม่) ขึ้นมาระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่… พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการเสนอเพิ่มเนื้อหามาตรา 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เข้ามา ทั้งๆ ที่การเสนอร่าง พ.ร.บ. ในวาระแรกไม่มีประเด็นดังกล่าวอยู่ด้วย

เพราะแต่เดิมนั้น การเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีวัตถุประสงค์ที่จะ “ปลดล็อก” ให้กระทรวงพลังงานสามารถเดินหน้าเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ หลังจากที่ความพยายามในการเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21 ล้มเหลวมาโดยตลอด

รวมไปถึงคาดหวังว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จะช่วยในการต่ออายุแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงในอีก 4 ปีข้างหน้าอย่างแหล่งบงกชและเอราวัณที่ยืดเยื้อมานานเสียที

สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะราบรื่นของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีอันต้องสะดุดและกลายเป็นจุดที่ถูกจับตาขึ้นมาทันทีเมื่อ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยกำกับดูแลกระทรวงพลังงาน ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน พร้อมกับส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง สนช. เพื่อ “คัดค้าน” ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับดังกล่าว

ประเด็นสำคัญที่ “หม่อมอุ๋ย” แสดงท่าทีคัดค้านด้วยความกังวลก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่งอกมาหรือมีการ “ยัดไส้” แตกต่างไปจากร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาในวาระ 1 ก็คือการปรากฏขึ้นของมาตรา 10/1 ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่า

“ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

ทั้งๆ ที่ในการประชุมร่างพิจารณาวาระที่ 1 ของ สนช. ไม่ปรากฏรายละเอียดดังกล่าวมาก่อน

กระนั้นหากผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในการผลักดัน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมมาตลอดจะทราบดีว่า มีความพยายามและมีข้อเสนอจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย” หรือ คปพ. มาระยะหนึ่งแล้วว่า ควรจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ขึ้นมาเพื่อให้มีบทบาทจัดการด้านปิโตรเลียม แทนโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แม้หลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้ข้อมูลเป็นระยะๆ แล้วว่า การบริหารนโยบายพลังงานและปิโตรเลียมของไทย ซึ่งมีทั้งกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิง คณะกรรมการกิจการพลังงานฯ ร่วมกันกำกับดูแล และทำให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาทางด้านพลังงาน มาอย่างต่อเนื่องนั้น มีความเหมาะสมอยู่แล้วก็ตาม

แต่ความพยายามที่จะแจ้งเกิด “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ก็ยังคงดำเนินต่อมาอย่างแข็งขัน

ทั้งยังปรากฏภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาลึกลงไปข้อความที่ปรากฏในร่างที่มีผู้เตรียมเสนอจัดตั้งกำหนดให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติดังกล่าว จะเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ

และในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้ “กรมพลังงานทหาร” เป็นหน่วยงานบริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน

พลันที่สาระเกี่ยวกับแนวคิด/บทบาทของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ปรากฏออกมา คำถาม ข้อสังเกต ข้อกังวลมากมายก็ตามมาทันที

ประการแรก การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันฯ ดังกล่าวถือเป็น “เรื่องใหม่” เหตุใดจึงไม่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ. ตั้งแต่แรก (ตั้งแต่วาระ 1)

ประการที่สอง การจะจัดตั้งบรรษัทดังกล่าว มีการศึกษาข้อดีข้อเสีย ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนในวงกว้างแล้วหรือไม่

ประการที่สาม เมื่อมีการ “เพิ่ม” มาตราใหม่เกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (ซึ่งในร่างแรกที่รัฐบาลเสนอไม่มี) ทำให้ต้องส่งเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่ในคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งนั้น เหตุใดที่ประชุม ครม. จึงยินยอม หรือโอนอ่อนผ่อนตามให้เพิ่มมาตราดังกล่าว โดยมิได้คัดค้านเสียแต่ตอนนั้น

ข้อสังเกตหรือข้อสงสัยดังกล่าวนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า กลุ่มบุคคลที่ดำเนินการขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เกิด “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” นั้น ต้องเป็นกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ หรือมีอิทธิพลต่อรัฐบาลไม่น้อยเลยทีเดียว

นั่นทำให้หลังจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เปิดประเด็นคัดค้าน ชี้ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีการพาดพิงถึง “นายทหาร” ที่มีบทบาทต่อกรณีดังกล่าวอีกด้วย

โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เล่าถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากที่มติคณะรัฐมนตรีให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และตราเป็นกฎหมายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขอให้มีการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพลังงานของชาติ จึงได้เชิญคณะกรรมาธิการมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลรวม 7 คน ในจำนวนนี้เป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน

การหารือในครั้งนั้น ตัวแทนคณะกรรมาธิการ “ไม่ขัดข้อง” ในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. แต่มีข้อเสนอแนะว่า ยังมีประเด็นที่ขาดหายไป นั่นคือ การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นั่นเอง

ข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างบุคคลในคณะกรรมาธิการกับกลุ่มที่แสดงท่าทีผลักดันให้มีการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกขยายผลออกไปอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

แน่นอนว่าในฟากของสมาชิก สนช. ได้ออกมาตอบโต้ ยืนยันภายหลังการแถลงข่าวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ว่า “ไม่มีการสอดไส้รายละเอียดใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ตามที่มีการกล่าวอ้างแน่นอน”

โดย นายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ชี้แจงว่า ก่อนที่จะมีการเพิ่มรายละเอียดมาตรา 10/1 ไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมนั้น ได้มีการหารือในคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. ที่มีตัวแทนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมีตัวแทนจากคณะรัฐมนตรีร่วมด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ควรเพิ่มรายละเอียดให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

แต่สุดท้ายแล้วการจะสรุปว่า ควรมีหรือไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช. “ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีการเพิ่มเติมรายละเอียดและใช้เวลาในการปรับปรุงมามากพอแล้ว” นายพีรศักดิ์กล่าว

ดังนั้น การประชุมเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของ สนช. จึงกลายมาเป็นที่จับตาของสาธารณชนว่า “จะออกมาในลักษณะใด” ระหว่าง

1) พิจารณารับร่าง เพื่อให้เดินหน้าเปิดให้เอกชนมาขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไป

2) พิจารณาไม่รับร่าง

และ 3) พิจารณาถอดหรือไม่ถอดมาตรา 10/1 ว่าด้วยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไปก่อน

กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งมี นางรสนา โตสิตระกูล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นแกนนำ ได้ออกมาแถลงข่าวร่วมกันแสดงเจตนาที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในวันที่ 28 มีนาคม 2560

ถือเป็นการรุกคืบอีกก้าวหนึ่ง หลังสามารถ “เพิ่มเติม” รูปแบบการให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากเดิมที่มีเพียงแค่ “ระบบสัมปทาน” ให้เพิ่ม “ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ หรือ PSC (Production Sharing Contract)” กับ “ระบบรูปแบบจ้างผลิต (Service Contract)” เข้ามาไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เรียบร้อยแล้ว

ความเคลื่อนไหวของ คปพ. ผลักดันให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการเพิ่มรูปแบบการให้สิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมด้วยวิธีแบ่งปันผลประโยชน์ ด้านหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อ “ล้ม” ระบบการให้สัปทาน ซึ่งเป็นแนวทางของกระทรวงพลังงาน

อีกด้านหนึ่ง ก็เท่ากับดึงอำนาจที่เคยเป็นของกรมเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงานออกมาด้วย

ถึงที่สุดแล้ว ความพยายามในการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ดังกล่าว กลายมาเป็นเรื่อง “กดดัน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องออกมากล่าวว่า “ยังไม่พร้อมและยังไม่มีความจำเป็น”

ส่วนในประเด็นของกรมพลังงานทหารนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันว่า “ก็ทำหน้าที่นี้ไม่ได้หรอก เขามีหน้าที่จำกัด” แต่ย้ำจุดยืนของรัฐบาลว่า ต้องการให้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้เพื่อให้การลงทุนขุดเจาะน้ำมันเดินต่อไปได้

ท่ามกลางความวุ่นวายในการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมในโค้งสุดท้ายนี้ ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ เรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่ง ณ จุดนี้ ไม่มีเวลาที่จะเลื่อนการให้สิทธิ์สำรวจผลิตปิโตรเลียมทั้งใหม่และเก่าที่กำลังจะหมดอายุลงออกไปอีก

เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่กำลังการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม รวมถึงต้องดำเนินการต่ออายุในแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะทยอยหมดสัญญาสัมปทานในปี 2564 นี้ เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาในการเตรียมความพร้อมลงทุนด้วย

นี่ต่างหากที่เป็นสาระสำคัญในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ เป็นภารกิจแรกที่จะต้องเร่งดำเนินต่อไป

และเป็นเดิมพันที่สำคัญสำหรับกำหนดทิศทางพลังงานไทยในอนาคตอีกด้วย