วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /ห้องสมุด : หนังสือหรือคน? (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ห้องสมุด : หนังสือหรือคน? (จบ)

 

ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กไม่ได้มีเฉพาะหนังสือ แต่เก็บสื่อหลายประเภท เช่น จดหมาย แผนที่ ไมโครฟิล์ม ภาพยนตร์ เทปบันทึกเสียง ซีดี รวมทั้งอีบุ๊กและข้อเขียนจากอินเตอร์เน็ตอีกมากมาย

การเก็บในสาขาใหญ่หรือตึกสิงโตนั้น เนื่องจากเป็นห้องสมุดเพื่อการค้นคว้า สื่อต่างๆ รวมทั้งหนังสือจึงไม่ได้ให้ยืม แต่ให้อ่านที่นั่นอย่างเดียว นอกจากเอกสารอ้างอิงจำนวนมากที่เราหยิบใช้ได้เองแล้ว สื่อที่เราอ่านได้จะถูกเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานขนส่งอยู่ตลอดเวลา แต่คนใช้ห้องสมุดจะมองไม่เห็น ว่ากันว่าห้องเก็บหนังสือนั้นมีหลายชั้นและยาวไปถึงไบรอันพาร์ก

นอกจากนั้น ยังมีห้องสมุดภาพซึ่งตั้งอยู่ที่สาขามิด-แมนฮัตตัน ใน Ex Libris : The New York Public Library นักเรียนออกแบบหลายคนกำลังฟังพนักงานห้องสมุดคนหนึ่ง (ที่บอกว่าแอนดี้ วอห์ล ขโมยรูปจากห้องสมุดนี้) ซึ่งช่วยแนะนำวิธีการค้นภาพ ซึ่งภาพเหล่านี้จะถูกตัดจากหนังสือหรือนิตยสารและแหล่งอื่นๆ จากช่วงต้นศตวรรษจนถึงปัจจุบัน ปะไว้บนกระดาษสีขาว ใส่ไว้ในแฟ้มและจัดเรียงอย่างเรียบร้อยตามอักษรและชื่อหัวข้อ

ที่สำคัญ หนังไม่ได้โชว์หนังสือมากนัก ไม่มีภาพสวยๆ เช่น ห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ของตึกสิงโต หรือภาพคนที่นั่งอ่านหนังสืออย่างเงียบๆ จะมีก็แต่คนยืนคุยกับบรรณารักษ์หน้าเคาน์เตอร์ (และสิ่งที่บรรณารักษ์ยื่นให้ก็ไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นเครื่องส่งสัญญาณไวไฟ ซึ่งเธอเตือนว่า อย่าแชร์ให้คนอื่น เพราะถ้าใช้ดูเน็ตฟลิกซ์จะหมดเร็ว)

ฉากการที่ห้องสมุดกลายเป็นที่หางาน จัดกิจกรรมและการสัมมนา ส่วนฉากการประชุมของบรรณารักษ์และผู้บริหารห้องสมุด ก็เป็นเรื่องของการบริการประชาชน ซึ่งแอนโทนี่ มาร์กซ์ ประธานห้องสมุด ถือเป็นภารกิจสำคัญ

ทำให้ต้องกลับมาพิจารณาชื่อหนังว่าเป็นการเล่นคำ คือจะแปลว่า from the library of ก็ได้ แต่ในที่นี้น่าจะแปลว่า “ไร้หนังสือ” เพราะบางคนเรียกหนังสือที่ห้องสมุดไม่เอาเพราะใช้จนเก่าแล้วว่า ex-library book หรือหนังสือที่ถูก discarded และเราจะเห็นหนังสือแบบนี้ตามร้านหนังสือมือสองหรือเทศกาลขายหนังสือลดราคาที่จัดโดยห้องสมุดเอง ชื่อ Ex Libris จึงหมายถึงห้องสมุดยุคหลังหนังสือ

ไวส์แมนพูดถึงเป้าหมายของห้องสมุดสมัยใหม่คือสนใจหนังสือน้อยกว่าคน หรือให้ความสำคัญกับ “คนที่ต้องการความรู้” มาก หนังของเขาจึงมองหนังสืออย่างไม่แยแสเท่าไรนัก (และอาจจะทำให้คนรักหนังสือไม่พอใจ) เพราะไม่ได้ให้ข้อคิดทางศีลธรรม อีกทั้งไม่ได้ให้โครงการดิจิตอลไลซ์หนังสือเล่นบทผู้ร้ายหรือคุกคามกระดาษเท่าไรนัก

แต่ก็เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่นๆ ของไวส์แมน การมองอย่างไม่แยแสและไม่มีส่วนร่วม นั่นแหละคือสไตล์ของเขา

 

ต้องไม่ลืมว่าห้องสมุดมีหน้าที่สองอย่างคือเก็บข้อมูลและให้บริการประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลนั้น

ในงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ปีนี้คือ พ.ศ.2562 ก่อนจัดฉายหนังเรื่องนี้ ทาง TK Park ได้จัดรายการที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านห้องสมุดมาพูดถึงสองคน

ผู้อำนวยการห้องสมุดจากไต้หวันพูดถึงห้องสมุดในแง่การบริหารแบบใหม่และการสร้างห้องสมุดที่ทันสมัย

ส่วนนักออกแบบจากเนเธอร์แลนด์ พูดถึงห้องสมุดในแง่การดีไซน์ เช่น การวางชั้นหนังสือที่ไม่บังสายตามากเกินไป

และการเลือกระหว่างการวางเก้าอี้อ่านหนังสือไว้กลางห้องหรือติดหน้าต่าง แต่ก็เหมือนกันตรงที่เชื่อว่าห้องสมุดเป็นสถาบันที่แสดงถึงความก้าวหน้าของเมือง

นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าห้องสมุดก้าวไปถึงขั้นตอนใหม่ นั่นคืออย่างหลังมากกว่าอย่างแรกแล้ว หรือไม่พูดถึงจำนวนหนังสือ แต่สนใจการให้บริการและเน้นคนที่มาใช้ห้องสมุดกับกิจกรรมต่างๆ มากกว่า โดยถือว่าสิ่งนี้เป็นภารกิจใหญ่ที่สุด

ตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าภาวะของห้องสมุดบ้านเรา อันได้แก่การมีงบประมาณซื้อหนังสือเพียงน้อยนิดและใช้เงินไปสร้างตึกมากกว่าซื้อหนังสือ (รวมทั้งการที่เรียกห้องสมุดว่าศูนย์การเรียนรู้) ฟ้องว่าแม้แต่ขั้นตอนแรก คือการสะสมหนังสือก็ยังไปไม่ถึงเลย

 

ดังที่รู้กัน นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีความหลากหลายเป็นพิเศษ ประชาชนของเขามีความแตกต่างทางชนชั้น ไลฟ์สไตล์ รวมทั้งสีผิวมากมาย คำถามคือ ห้องสมุดของเมืองจะรับใช้คนเหล่านี้ได้อย่างไร?

ผู้เขียนซึ่งเคยเข้าไปใช้ห้องสมุดนี้ในช่วง พ.ศ.2525-2529 ซึ่งเป็นยุคที่เมืองยังเต็มไปด้วยปัญหาคนไร้บ้าน อาชญากรรม และความรุนแรง

ความประทับใจอย่างหนึ่งคือ ห้องสมุดต้อนรับทุกคน นอกจากคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักวิจัย หรือเด็กตัวเล็กๆ แล้ว ยังมีคนไร้บ้านที่เข้ามาอาศัยความอบอุ่นในห้องอ่านหนังสือ แม้ในปัจจุบันก็ยังมีปัญหานี้ เห็นได้ในฉากการประชุมของบรรณารักษ์ของหนัง Ex Libris ซึ่งมีคนหนึ่งออกความเห็นว่าต้องรับต่อไป

อีกอย่างคือ การสมัครสมาชิกห้องสมุดนั้นเปิดกว้างสำหรับทุกคน ผู้จะสมัครหรือต้องการขอยืมหนังสือ ไม่ต้องใช้แม้แต่บัตรประชาชนหรือบัตรประกันสังคมแบบใดๆ สิ่งที่เขาต้องแสดงคือซองจดหมายที่มีชื่อและที่อยู่ของตนเองบนนั้น (จะเป็นใบเสร็จรับเงินหรือสเตตเมนต์จากธนาคารก็ได้) เพราะถ้าขอยืมหนังสือไปและเกินกำหนด ที่อยู่นี้จะทำให้ห้องสมุดส่งจดหมายมาทวงคืนได้

สำหรับห้องสมุด ประชาชนจึงหมายถึงใครก็ได้ และดูจากหนัง สปิริตแบบนี้ก็ยังดำรงอยู่

 

ในปัจจุบันข้อมูลและอินเตอร์เน็ตกำลังขยายอำนาจที่ทะลุทะลวงทุกพรมแดน หนังสือกลายเป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่ห้องสมุดในแง่ที่ให้คนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ก็ยังเป็นสถาบันที่มีความสำคัญ

และสำหรับชาวนิวยอร์กที่หวงแหนเสรีภาพของตนทั้งในแง่ปัจเจกและกลุ่ม มันเป็นความหวังของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ที่เด่นคือ Ex Libris ได้ถ่ายทอดสีหน้าท่าทางของคน ทั้งคนบนเวทีที่พูดเรื่องยากๆ และก่อความขัดแย้งมาก คนใช้ห้องสมุดที่ถามเรื่องสารพัด และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่ทำงานมากกว่าการเช็กเอาต์หนังสือ ผ่านไปหลายฉาก เราจะได้รู้สึกถึงภาระของห้องสมุดในการเป็นทั้งที่จัดเสวนา, ที่รวมคนในชุมชน, ที่เลี้ยงเด็ก, ที่สำหรับคนไร้บ้าน, ที่จัดเล็กเชอร์และคอนเสิร์ต และตลาดหางาน รวมทั้งที่ให้ยืมฮอตสปอตด้วย

เฟรดริก ไวส์แมน ชี้ให้เห็นทั้งบทบาทของห้องสมุดในอุดมคติ ซึ่งแม้จะยังไม่บรรลุ คนนิวยอร์กก็ยังเชื่ออย่างจริงจัง และด้วยฝีมือของเขา หนังเรื่องนี้จึงมีความยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง