คุยกับทูต ‘มุห์เซน โมฮัมมาดี’ ส่องสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน การค้าและวัฒนธรรม

คุยกับทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี บทบาทของอิหร่านวันนี้ (4)

“ผมมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ช่วงเวลาเดียวกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมต่ออิหร่าน ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยได้หันกลับมามองอิหร่านว่าเป็นดินแดนแห่งโอกาสใหม่ที่เริ่มสดใสอีกครั้ง”

นายมุห์เซน โมฮัมมาดี (H.E. Mr. Mohsen Mohammadi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เล่าถึงทิศทางของอิหร่านโดยเฉพาะการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยทางด้านการค้า การลงทุน

และวัฒนธรรม

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า

“หลังยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมต่ออิหร่านเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 เราจึงได้เห็นพัฒนาการเชิงบวกด้านความสัมพันธ์กับไทย เพราะในเดือนมกราคม ค.ศ.2016 เพียงไม่กี่วันก่อนที่ผมจะออกเดินทางจากกรุงเตหะรานมายังกรุงเทพฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำผู้แทนคณะใหญ่ไปที่กรุงเตหะราน เพื่อร่วมเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่วมเศรษฐกิจครั้งที่ 9 (9th Joint Economic Commission)”

การพบปะหารือครั้งนี้มีสาระสำคัญซึ่งไทยกับอิหร่านจะหาทางร่วมมือเพื่อส่งเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน ในประเด็นที่อีกฝ่ายมีศักยภาพมากกว่า โดยอิหร่านสามารถช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย ขณะที่ไทยสามารถช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบอุตสาหกรรมของอิหร่าน โดยเฉพาะข้าวและยางพารา

“หลังจากนั้นไม่ถึงสองสัปดาห์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางถึงกรุงเตหะราน และลงนามในเอกสารความร่วมมือด้านต่างๆ ถึง 6 ฉบับ”

“ตามด้วยการมาเยือนไทยของฝ่ายอิหร่าน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายโมฮัมหมัด จาหวัด ซาริฟ (H.E. Dr. Mohammad Javad Zarif) ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2016”

“ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน นายฮัสซัน โรฮานี (H.E. Dr. Hassan Rouhani) มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม ค.ศ.2016”

“และล่าสุดที่มาไทยคือ รองประธานาธิบดีนายโมฮัมเหม็ด บาเก็ด โบนัก (H.E. Mr. Mohammad Bagher Nobakht) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2018”

“แต่เดิม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมการเจรจาความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue Summit) ที่กรุงเตหะราน เดือนตุลาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม กำหนดการประชุมครั้งนี้ต้องเลื่อนเป็นปีต่อไปเนื่องจากมีสมาชิกบางประเทศได้ร้องขอ”

“ในด้านการค้าของอิหร่าน ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล การค้าอิหร่านจัดอยู่ในระดับแนวหน้าเช่นเดียวกับความเจริญรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหม ชาวเปอร์เซียได้แสดงบทบาทเป็นคนกลางในการค้าขายระหว่างตะวันออกและตะวันตก”

“อิหร่านที่ทันสมัยวันนี้ ยังคงยึดถือประเพณีความเท่าเทียมทางการค้าสำคัญที่เชื่อมโยงกันในภูมิภาค เพราะอิหร่านเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีประชากรมากกว่า 500 ล้านคนใน 15 ประเทศเพื่อนบ้าน”

ด้วยเหตุที่ทั้งไทยและอิหร่านต่างก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยไทยสามารถเป็นความมั่นคงด้านอาหารและเป็นประตูสู่ตลาดกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และอาเซียน (ASEAN) ซึ่งมีจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคนให้กับอิหร่าน

ขณะที่อิหร่านสามารถเป็นความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นประตูสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งไม่มีทางออกทะเลที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน

“ในขณะนี้ การค้าต่างประเทศของอิหร่านมากกว่า 60% อยู่ที่เอเชีย และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าของอิหร่านที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ”

“การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-อิหร่านดำเนินไปในทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุนและความร่วมมือกันโดยหน่วยงานระดับสูงทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญในทุกโอกาสและมีแนวทางที่ชัดเจนมาก บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน”

“ทั้งสองประเทศมีข้อได้เปรียบพิเศษในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบและองค์กรระดับภูมิภาคเช่นเดียวกัน โดยอิหร่านในฐานะสมาชิกสำคัญขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECO) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน (ASEAN)”

นโยบายต่างประเทศของอิหร่านต่อไทยเป็นไปในลักษณะที่อิหร่านมองไทยด้วยความสนใจและให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทนำในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่อิหร่านตระหนักและให้ความสำคัญ

อีกทั้งไทยมีพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานกับอิหร่าน และมีนโยบายเป็นกลางต่อประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่สำคัญไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าประเภทเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว

“สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังอิหร่าน 10 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางและยางพารา เครื่องดื่ม ผักสดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง แบตเตอรี่และชิ้นส่วนแบตเตอรี่ รองเท้าและชิ้นส่วน รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และคอมเพรสเซอร์”

“ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากอิหร่านของไทย 10 อันดับแรกในปี ค.ศ.2017 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สารเคมี สัตว์น้ำแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง แช่แข็งแปรรูป ผักผลไม้ เชื้อเพลิง เวชภัณฑ์และยา ผลิตภัณฑ์สิ่งทอรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์”

“ในแง่ของการค้าระหว่างอิหร่านและไทย นับว่ายังมีโอกาสอีกมากในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคธุรกิจพลังงาน เพราะอิหร่านเป็นผู้ส่งออกก๊าซหุงต้ม LPG และก๊าซธรรมชาติ CNG ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของบริษัทในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีแหล่งสำรวจน้ำมันและก๊าซหลายแห่งที่ดึงดูดบริษัทใหญ่ๆ อย่าง ปตท.”

“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกล่าวว่า สินค้าเคมีและปิโตรเคมี เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของอิหร่านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยและอิหร่าน ก็กำลังดำเนินไปได้ด้วยดีและมีโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือมากขึ้น”

“ด้านการลงทุนร่วมกัน ทั้งสองประเทศตกลงร่วมมือกันในด้านพลังงาน ในสาขาอาหารและการเกษตร รวมถึงการประมง การผลิตรถยนต์และการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ในบ้านและอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งอิหร่านมีความรู้และเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี”

“เนื่องจากไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากทางด้านการท่องเที่ยว มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการจัดการด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เราจึงต้องการนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนด้านนี้ในอิหร่าน”

“นักลงทุนจากไทยเมื่อไปลงทุนยังประเทศอิหร่านแล้ว จะเป็นการลงทุนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งอิหร่านสามารถเป็นฮับ (HUB) ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และประเทศโดยรอบอิหร่าน”

ขณะเดียวกัน ไทยก็มีความสำคัญสำหรับอิหร่านเป็นอย่างมากเช่นกันในแง่ของการเป็นศูนย์กลางของอิหร่านในการกระจายน้ำมันและปิโตรเคมีสู่อาเซียน

สําหรับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ท่านทูตมุห์เซน โมฮัมมาดี กล่าวว่า

“นอกเหนือจากการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างกันแล้ว ทั้งสองประเทศยังให้ความสนใจเชื่อมโยงกันในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในระหว่างประชาชนของเราด้วย”

“ระหว่างสองประเทศนี้ได้มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างมาก ชาวอิหร่านเดินทางมาเยือนไทยมากกว่า 137,000 คนในแต่ละปี แต่คนไทยเดินทางไปอิหร่านยังมีจำนวนน้อยกว่ามาก”

การสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนต้องมีความสัมพันธ์กันทางด้านวัฒนธรรม และทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ในขณะที่ชาวอิหร่านรู้จักวัฒนธรรมไทยดีขึ้นแล้ว เพราะในแต่ละปี เดินทางมาไทยเป็นจำนวนมาก แต่คนไทยยังรู้จักเกี่ยวกับอิหร่านน้อยกว่ามากเพราะจำนวนคนไทยที่เดินทางไปอิหร่านยังไม่มากนัก

“ในอดีต มีบุคคลธรรมดาที่เป็นพ่อค้าชาวอิหร่านคนหนึ่งเดินทางมาไทยและไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในด้านการเมือง คือ “ท่านเชค อาหมัด” (เจ้าพระยาบวรราชนายก) แต่ต่อมา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ระหว่างสองชาติ จากเรื่องนี้เอง ที่ผมเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาติของเราสามารถเริ่มต้นด้วยบุคคลธรรมดา จึงควรที่จะส่งเสริมให้มีความเกี่ยวพันกันในระดับประชาชนทั่วไปของทั้งสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น” เอกอัครราชทูตอิหร่านกล่าว

“สำหรับศูนย์วัฒนธรรม ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านที่กรุงเทพฯ ได้มีแนวทางพิเศษเพื่อช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในแบบทวิภาคีทุกด้าน โดยเปิดสอนหลักสูตรภาษาเปอร์เซียและภาพวาดเปอร์เซียแบบดั้งเดิม”

“การส่งเสริมให้มีความเข้าใจที่ดีในระหว่างชุมชนชาวมุสลิมและชุมชนชาวพุทธ เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของศูนย์นี้เช่นกัน ศูนย์แห่งนี้ยังได้จัดให้มีการเสวนากันถึงสามรอบระหว่างบุคคลและองค์กรต่างๆ ทั้งนี้ ผู้นำชาวพุทธและพระสงฆ์จากที่อื่นซึ่งรวมถึงพม่าและศรีลังกา ก็ได้เข้าร่วมในการเสวนาดังกล่าวด้วย”

“ผมเชื่อว่า ด้วยความริเริ่มดังกล่าว จะช่วยในการประสานความเข้าใจกันในระหว่างศาสนาอยู่เสมอ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และผู้นำศาสนา ซึ่งท้ายที่สุด จะสามารถป้องกันเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว ดังที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ซึ่งได้สร้างความสะเทือนใจผู้คนทั่วโลก”