ฉัตรสุมาลย์ : ภายในรั้วราชินีบน

เขียนเรื่องนี้ เพราะระลึกถึงคุณความดีของโรงเรียนที่ปลูกฝังผู้เขียนจนได้ดิบได้ดีมาจนทุกวันนี้

แต่มันน่าจะเขียนตั้งนานแล้วนี่นา เรื่องมันผ่านมายาวนานกว่าศตวรรษแล้ว ทำไมเพิ่งมานึกถึงคุณความดีของโรงเรียน

เหตุที่เร้าให้เขียนวันนี้ เพราะเพิ่งเสียเพื่อนที่เรียนที่ราชินีบนด้วยกันไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมานี้

เพื่อนเป็นโรคหัวใจ แล้วในภาวะที่หัวใจทำงานไม่เต็มที่ สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่ทันและไม่พอก็เลยทำให้สมองตายไปบางส่วน และเพิ่งเสียชีวิตลงตอนที่เราหวือหวาดูซูเปอร์มูนกันนั่นแหละ

ความคิดถึงเพื่อน คิดถึงบริบทที่เติบโตมาด้วยกัน ก็เลยทำให้อยากบันทึกประวัติส่วนนี้ไว้ อาจจะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังก็ได้นะ

 

ผู้เขียนเรียนชั้น ป.1 จนจบ ม.8 ที่ราชินีบน บางกระบือ ต้องแทรกไว้ตรงนี้ว่า อีกราชินีหนึ่งนั้น เขาชื่อราชินีเฉยๆ ตั้งอยู่แถวปากคลองตลาดค่ะ

ของเรามาทีหลัง น่าจะอยู่ส่วนบนของกรุงเทพฯ ก็เลยเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนราชินีบน เจ้าของโรงเรียนก็เป็นเจ้านายพี่น้องกันในราชตระกูลเทวกุล ท่านมีวังอยู่ที่ถนนนครชัยศรี

โรงเรียนราชินีบนนั้น สมัยที่ผู้เขียนเรียนมีเด็กผู้ชายบ้าง เข้ามาเป็นกระสาย ชั้นที่ผู้เขียนเคยเรียนอยู่ด้วยก็มี เด็กผู้ชาย 3-4 คน และเพราะเด็กผู้ชายมีน้อยก็เลยยังจำชื่อได้ มี มารุต อำนาจ และ ภาณุฉัตร เข้าใจว่าเพราะมีพี่น้องผู้หญิงเรียนที่นี่ ท่านหญิงก็เลยอนุโลม แต่พอขึ้น ม.1 ก็ต้องย้ายไปเรียนที่อื่น

เพื่อนในชั้นเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกนายทหาร เพราะพวกนายทหารมีบ้านพักทหารที่เกียกกายก็นิยมส่งลูกสาวมาเรียนที่นี่

แม้กระทั่งพวกจอมพลทั้งหลายช่วงนั้น ก็มีไม่กี่จอมพล ลูกสาวจบจากราชินีบนรุ่นไล่ๆ กันทั้งนั้น

ไม่ใช่เป็นเพราะราชินีบนดีกว่าราชินี (ที่ปากคลอง) แต่เป็นเพราะใกล้กว่า

สมัยที่ผู้เขียนเรียนนั้น การเรียนแบ่งเป็น ป.1-ป.4, ม.1-ม.6 และเตรียมอุดม 2 ปี คือ ม.7-8 ในช่วง ม.7 นี้ จะแยกเป็นอักษรศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนจบ ม.8 รุ่น พ.ศ.2505

 

ประตูหน้าของโรงเรียนอยู่บนถนนสามเสน มีคนเฝ้าประตูเป็นผู้หญิง ชื่อ แม่นวล เข้ามาแล้วก็ออกไปอีกไม่ได้ จนกว่าจะถึงเวลาโรงเรียนเลิก

ประตูใหญ่หน้าโรงเรียน ขลังมาก ไม่เคยเปิดเลย เราเดินเข้าออกกันจากประตูข้าง ประตูหน้าโรงเรียนเคยเปิดครั้งเดียวตอนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ งานโรงเรียน ตอนนั้น ผู้เขียนอยู่ ม.4 ยังจำได้ เพราะบังเอิญมีรูปของตัวเองเป็นแบ็กกราวด์ นักเรียนคนที่สูงยาวพิเศษใช่เลยค่ะ ผู้เขียนเอง

ประตูด้านข้าง คือท่าเขียวไข่กานั้น เพิ่งมาเปิดตอนที่สร้างตึก 3 ชั้น สมัยต่อมา ผู้เขียนได้ย้ายมาเรียน ม.5-ม.6 ที่ตึกใหม่ ทางด้านท่าเขียวไข่กา แล้วกลับไปเรียน ม.7 ม.8 ที่ตึกเก่าด้านหน้า

สมัยนั้น ยังไม่มีเรือด่วน นักเรียนยังไม่ใช้ท่าเขียวไข่กาเป็นเส้นทางการเดินทางมาโรงเรียน

ขอเล่าเรื่องไร้สาระแทรกไว้ตรงนี้ ตอนที่ย้ายมาอยู่ที่ตึก 3 ชั้น ทางท่าเขียวไข่กานี้ ตอนบ่ายๆ จะมีคนจีนหาบของขายที่ถนนข้างโรงเรียน เขาร้องว่า “เฮ้ลากัวลา กัวลาม้าค็อก”

มองลงไปจากห้องเรียนชั้นสาม ก็เห็นเขาหาบของในกระจาด ดูไม่ออกว่าคืออะไร เสียงนี้มาทุกบ่ายเลยค่ะ

ความสนใจอยากรู้ของพวกเราทวีความรุนแรงขึ้น จนต้องส่งสปายออกไปดู

เพื่อนคนหนึ่งอาสาลาครูไปเข้าห้องน้ำ แล้ววิ่งจู๊ดไปปีนรั้วดูว่าเขาขายอะไร ปรากฏว่า เขาขายน้ำพริกเผาค่ะ

จบเรื่องตื่นเต้น แต่ที่เขาร้องขายน่าจะเป็นภาษาจีนนะคะ เรายังเอามาร้องตามอยู่ตั้งนาน

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากโรงเรียนราชินีบนนอกเหนือจากกิริยามารยาท วินัย และสังคมแล้ว คือได้ภาษาอังกฤษ

ครูที่ราชินีบนมีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษดีมาก

ครูที่สอนไวยากรณ์อังกฤษ ที่จำได้เสมอ คือ ครูกัลยา จารุจินดา เด็กหลายคนเรียก ป้ายา ต่อมาท่านได้เป็นคุณหญิง วันนั้น ท่านสอนไวยากรณ์อังกฤษ น่าจะ ป.3-4 ผู้เขียน เขียน You is ท่านเดินมาดึงติ่งหู แล้วสอนว่า you are เสมอ ก็จำได้ดีเลยค่ะ อาจจะหูยานด้วยเล็กน้อย แต่ไม่รู้สึกว่าท่านดุนะ กลับรู้สึกรักและเคารพท่าน

ครูอีกท่านหนึ่งที่สอนเขียนอังกฤษ ม.5 ที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษ คือครูลัดดา ท่านรูปร่างท้วมเล็กน้อย ใส่เสื้อรัดเอว ปล่อยชาย กระโปรงเข้ารูปสีแก่ เป็นสไตล์การแต่งตัวของท่าน

วันหนึ่งท่านจะสอนคำว่า each แต่ละ each ท่านยกเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งมาประกอบเป็นแบบฝึกหัดเขียนอังกฤษ

ผู้หญิงคนนี้ขี้เหนียวมาก วันหนึ่ง คนรับใช้ทำแจกันแตก เธอโกรธคนรับใช้ และเสียดายแจกันใบหรู

พอดีเธอได้รับจดหมายเชิญให้ไปงานวันเกิดของเพื่อน เธอจึงให้คนรับใช้โกยเอาเศษแจกันที่แตกนั้นใส่ในกล่องแล้วส่งไปให้เพื่อนทางไปรษณีย์ เพื่อให้เพื่อนเข้าใจว่าแจกันแตกระหว่างทาง

แต่เมื่อถึงมือเพื่อน เพื่อนแกะกล่องของขวัญก็รู้ทันทีว่า แจกันแตกมาแต่ต้นทาง เพราะคนรับใช้ห่อเศษแจกันที่แตกแต่ละชิ้น

นี่คือวิธีสอน คำว่า แต่ละ each ของครูลัดดาค่ะ

ผู้เขียนจำสนิทและยาวนาน ครูแต่ละท่านจะใช้เวลาในการทำการบ้าน โดยหาเรื่องราวที่น่าสนใจมาประกอบในการสอนเขียนอังกฤษ นอกจากจะเช็กตัวสะกด คำศัพท์ แล้วก็เรียนไวยากรณ์ไปด้วย เป็นวิธีการเรียนภาษาอังกฤษที่สนุกและช่วยความจำ คิดดูว่า เกือบ 60 ปีแล้ว ผู้เขียนก็ยังจำเรื่องราวและการใช้คำได้ดี

อีกครั้งหนึ่ง เขียนอังกฤษ เหมือนกัน ผู้เขียนชอบมาก เขียนเสร็จแล้วก็มีการสลับสมุดกันตรวจ ผู้เขียนมั่นใจว่า เขียนถูกหมด ต้องได้เต็ม ดันไปผิดคำว่า Newyork ต้องเขียนว่า New York วันนั้น เพื่อนที่เขียนถูกหมด คือ กมลทิพย์

ต่อมาเป็น ดร.กมลทิพย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เพื่อนคนนี้เก่งมากค่ะ และในยามที่เราอายุมากขึ้น เพื่อนก็ยังงามเหมือนเดิม

 

พอขึ้น ม.7-8 ตอนนี้เราแยกห้องกัน ผู้เขียนแยกไปสายวิทยาศาสตร์ ห้อง ม.6 ก. นั้น ส่วนใหญ่ไปสายวิทยาศาสตร์ บางคนก็เก่งวิทยาศาสตร์จริงๆ แต่บางทีก็ตามเพื่อนไป

ผู้เขียนอยู่ในประเภทหลัง คือตามเพื่อน ตอนนี้แหละเกือบเอาตัวเองไม่รอด เพราะเก่งภาษาแต่อ่อนเคมี คำนวณทั้งระบบเลย

อย่างเดียวที่ชอบในสายวิทยาศาสตร์ และทำคะแนนได้ดีมากคือ ชีววิทยา อาจารย์ที่มาสอนท่านมาแต่เช้า 7 โมง เพราะท่านเป็นอาจารย์จุฬาฯ ท่านหญิงขอให้มาสอนพวกเรา

ครูที่สอนภาษาอังกฤษ คือ ครูสำนวณและครูสนอง ครูสนองเพิ่งกลับมาจากอเมริกา ตัวเตี้ย รูปร่างดี ตัดผมสั้น ทาปากสีแดงส้ม ใส่รองเท้าสูงส้นตันเปิดส้น

บุคลิกประทับใจผู้เขียนมาก ชอบเรียนกับครูสนองมากเลย และทำคะแนนได้ดีในวิชาภาษาอังกฤษ ท่านสอนอ่านค่ะ เราอ่าน Prisoner of Zenda เชื่อไหมว่า หนังสือเล่มนี้ เรียนตั้งแต่แม่ ต่อมาเป็นพี่ที่อายุมากกว่าผู้เขียน 4 ปี ที่ปกในจะเขียนชื่อเจ้าของเรียงกันลงมา ผู้เขียนเป็นคนที่สาม

ด้วยความชอบการเรียนภาษาอังกฤษนี้ ช่วง ม.7-8 เริ่มหาหนังสือนอกเวลาภาษาอังกฤษอ่านเอง แหล่งที่ซื้อหนังสือมือสองสมัยนั้น อยู่ที่แม่ธรณีบิดมวยผม ริมสนามหลวงฝั่งที่เป็นโรงแรมรอยัลปัจจุบัน

ฐานภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ได้ไปจากโรงเรียนราชินีบน ที่ต้องน้อมคารวะคุณครูทุกคนที่ปลูกฝังวิชาความรู้ให้

 

อีกอย่างหนึ่งที่ได้จากราชินีบน คือ เย็บ ปัก ถักร้อยค่ะ ครูที่สอนการฝีมือนั้น เป็นครู อ. ท่านสอนตั้งแต่ชั้น ป.1 ยัน ม.6 เรียกว่าได้อยู่กับท่าน 10 ปีเต็ม

เมื่อตอนที่ท่านอายุ 80 ท่านโทร.มาหา สารภาพว่า ไม่ชอบผู้เขียน เพราะผู้เขียนชื่อ ฉัตรสุมาลย์ ชื่อยาว ทำตัวเทียมเจ้า

เออ อันนี้เราก็ไม่รู้นะ เมื่อท่านได้รับข่าวว่าผู้เขียนหันเหชีวิต ท่านโทรศัพท์มาขอบุญกุศลให้ท่านด้วย

ผู้เขียนพูดต่อไม่ถูกไปพักใหญ่ เพราะไม่เคยเผชิญเรื่องตรงๆ เช่นนั้น

ในทางกลับกัน วิชาที่ท่านปลูกฝังให้นั้น ผู้เขียนได้เอามาสานต่อมากมายทีเดียว

ทุกครั้งที่ทำงานฝีมือ ก็ระลึกถึงท่าน ขอให้ท่านได้รับกุศลด้วยกันทุกครั้ง

 

ม.7-8 เรียนวิชาแกะสลักกับครูนิล ค่ะ ช่วงนี้ก็สนุก ได้แกะมันเป็นรูปผลไม้ต่างๆ แล้วเชื่อมเศษมันที่ตกอยู่ในจานบ้าง บนตักเราบ้าง ครูรวบรวมเอาไปกวนกลับมาให้พวกเรากิน

บางทีก็แกะสลักดอกไม้จากมันแกว อันนี้เอามาสอนต่อหลายครั้ง ในลูกศิษย์หลายรุ่น

เราได้แกะสบู่เป็นตัวปลา และเป็ดด้วยค่ะ เป็นวิชาที่เอามาผลิตซ้ำได้อีกหลายครั้งอยู่

ในช่วงที่อยู่ชั้นประถมนั้น ผู้เขียนเป็นเด็กตัวโต พวกครูดูจะให้ความเอ็นดูกับนักเรียนในชั้นตัวเล็กๆ จำได้ว่าตอนที่อยู่ ป.3 ครูเรียกผู้เขียนว่ายักษ์ขมูขี ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ต้องไม่ดีแน่เลย ค่อนข้างเป็นปมด้อยพอสมควร

วันที่ 12 พฤศจิกายน เป็นวันประสูติท่านอาจารย์ แต่ละชั้นจะมีนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือก ก็อีกน่ะแหละ เขาจะเลือกตัวเล็กรำเก่ง คนที่รำเก่งจริงๆ ของห้อง คือ พิจิตรา บูรณสัมฤทธิ์ รำเก่งจริงๆ ได้ออกทุกงาน ทุกปี แม้ว่าเราไม่ได้รำเอง แต่ความมักคุ้นในนาฏศิลป์ถูกถ่ายทอดโดยปริยาย ครูที่สอนรำ ชื่อครูปิ่น และบางครั้งครูผู้ใหญ่ ชื่อครูหนิม น่าจะถนิมนะ

ท่านจะมาตีฉิ่งให้ประกอบจังหวะการย่างก้าวในท่ารำตอนที่ซ้อม

นักเรียนที่ไม่ได้รำ ก็ไปนั่งล้อมดูเขารำเสม

ในชีวิตของเราแต่ละคน เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว เราก็ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตในการทำงาน ช่วงนั้น ก็โลดแล่นไปในพิภพกว้าง แต่เมื่อเกษียณอายุ กลับพบว่าเพื่อนที่ยังเป็นเพื่อนคอยดูแลช่วยเหลือกัน ติดต่อกัน กลับเป็นเพื่อนจากราชินีบนเป็นส่วนใหญ่

อาจจะเป็นเพราะเราเห็นกันแต่เด็ก เราโตมาด้วยกัน เราไม่มีเรื่องที่เราต้องแก่งแย่งกัน

ความสัมพันธ์จึงเป็นความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์กว่าช่วงการทำงาน

มาถึงจุดนี้ในชีวิต ผู้เขียนมักระลึกถึงและติดต่อกับเพื่อนสมัยนักเรียนเสียมาก ต้องขอบคุณโรงเรียนราชินีบน สังคมประเพณีของโรงเรียนที่เราได้รับการปลูกฝังมาอย่างดี

ขอบคุณครูบาอาจารย์ที่ส่งผ่านทั้งองค์ความรู้ที่ดีและการฝึกฝน เมื่อออกไปสู่โลกข้างนอกเราก็มักจะได้รับเครดิตที่ดีเป็นผลพวงต่อเนื่องกัน ความเอื้ออาทรกันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของชีวิตมนุษย์

รูปที่นำมาประกอบ สมัยที่ผู้เขียนเรียนยังไม่มี เกิดขึ้นสมัยหลัง เป็นพระรูปของฟ้าหญิงวลัยอลงกรณ์ ที่ถือว่าเป็นองค์ปฐมผู้ทรงให้การริเริ่มในการสร้างโรงเรียน